xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯลดเสี่ยงมี‘ชัตดาวน์’อีกรอบ “สภาล่าง” ผ่านร่างขยายเพดานหนี้ “ประธานเฟดคนใหม่”ย้ำไม่เปลี่ยนนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - สหรัฐฯลดความเสี่ยงที่จะเกิด “วิกฤตชัตดาวน์” ขึ้นมาอีกก่อนจะถึงฤดูเลือกตั้งกลางเทอมปลายปีนี้ เมื่อพวก ส.ส.รีพับลิกันยินยอมเปิดทางในวันอังคาร (11 ก.พ.) ให้ขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไขผูกมัด ตามข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเวลาเดียวกัน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คนใหม่ เจเน็ต เยลเลน ไปชี้แจงกับรัฐสภาเป็นครั้งแรกภายหลังรับตำแหน่ง โดยยืนยันว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอย่างกะทันหัน และจะเดินหน้าลดมาตรการ “คิวอี” ต่อไป แม้ตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ก็ตาม

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติในวันอังคารให้ขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลออกไปจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2015 ด้วยคะแนน 221 ต่อ 201 โดยที่เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากส.ส.ของพรรคเดโมแครต ขณะที่ ส.ส.พรรครีพับลิกันหลายคนก็ลงคะแนนให้ด้วย จากนั้นก็ส่งต่อให้วุฒิสภาซึ่งนำเข้าวาระพิจารณาทันทีในวันพุธ (12)

การขยายความสามารถในการกู้ยืมของรัฐบาลซึ่งขณะนี้มีเพดานจำกัดอยู่ที่ 17.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขพ่วงเข้ามาด้วยนั้น แสดงให้เห็นถึงความเพลี่ยงพล้ำจนต้องพลิกกลยุทธ์ของฝ่ายรีพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาล่าง ทั้งนี้หลังจากที่พวกเขาเคยยืนกรานใช้วิธีเผชิญหน้ากับโอบามาและฝ่ายเดโมแครตในรัฐสภา จนกระทั่งนำพาเศรษฐกิจแดนอินทรีเฉียดใกล้การล้มละลายเมื่อปีที่แล้ว และต้องมีการปิดหน่วยงานบางแห่งของรัฐบาลหรือที่เรียกกันว่า “วิกฤตชัตดาวน์” นาน 16 วันในเดือนตุลาคม

แรกทีเดียวนั้น จอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้นำของรีพับลิกัน ได้เสนอร่างที่ผูกเงื่อนไขการขยายเพดานการก่อหนี้เข้ากับการที่โอบามาและเดโมแคตต้องยินยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องบำนาญทหารผ่านศึก แต่ปรากฏว่าเขากลับไม่สามารถระดมเสียงสนับสนุนจากฝ่ายรีพับลิกันเองได้มากพอ ในที่สุดจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นร่างที่ปราศจากเงื่อนไขใดๆ

การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นชัยชนะอย่างชัดเจนของโอบามา ภายหลังการชัตดาวน์ที่ผ่านมา คนอเมริกันส่วนใหญ่โทษว่า เป็นความผิดของรีพับลิกัน

ทางด้านรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงว่า การยุติการเผชิญหน้าของโบห์เนอร์ ถือเป็นชัยชนะของประเทศ ขณะที่ทำเนียบขาวระบุว่า การโหวตครั้งนี้เป็นก้าวย่างที่ดีในการข้ามผ่านสถานการณ์เสี่ยงทางการเมืองที่ฉุดลากเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่จำเป็น

กระนั้น โบห์เนอร์ยังคงสำทับว่า โอบามาเป็นคนที่ทำให้หนี้สาธารณะที่อยู่ที่ 17.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบันพุ่งขึ้นไปอีก และจะถูกบีบให้ต้องรับผิดชอบขณะที่นักการเมืองในวอชิงตันต่างกำลังใจจดใจจ่อกับฤดูหาเสียงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งสภา และวุฒิสมาชิกราว 1 ใน 3

ขณะเดียวกัน ส.ว.เท็ด ครูซ จากกลุ่มที ปาร์ตี้ อันเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้วของรีพับลิกัน กล่าวเมื่อคืนวันอังคารว่า จะยังคงพยายามขัดขวางร่างกฎหมายขยายเพดานการก่อหนี้นี้ในวุฒิสภาต่อไป โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมที่ว่า จะต้องมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 60 เสียงจาก 100 เสียงของทั้งสภาสูง จึงจะสามารถปิดการอภิปรายและดำเนินการลงมติเพื่อผ่านร่างกฎหมายได้ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมี ส.ว.รีพับลิกันอย่างน้อย 5 คน ยกมือสนับสนุนร่วมกับส.ว.ทั้งหมดของเดโมแครตที่กุมเสียงข้างมากอยู่

ทั้งนี้ หากวุฒิสภาสามารถผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ได้ภายในสัปดาห์นี้ จะทำให้ตลาดการเงินมีเวลาเตรียมตัว ก่อนที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะหมดมุกในการยักย้ายถ่ายเทประคองเพดานการก่อหนี้ปัจจุบันเอาไว้ได้ในประมาณในวันที่ 27 ที่จะถึงนี้ โดยที่คาดหมายกันว่าถ้าหากถึงตอนนั้นแล้วยังไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้ได้ วอชิงตันอาจผิดนัดชำระหนี้บางส่วน, ต้องปิดทำการหน่วยงานบางแห่ง, และสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดทั่วโลก

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันอังคารเช่นกัน เยลเลน ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในฐานะประธาน เฟด โดยเธอคาดหมายว่า เศรษฐกิจแดนอินทรีมีแนวโน้มขยายตัวพอประมาณในปีนี้และปีหน้า ทำให้เฟดสามารถเดินหน้าแผนการชะลอโครงการซื้อพันธบัตรที่ขณะนี้ลดลงอยู่ที่ 65,000 ล้านดอลลาร์ต่อไปอีก

อย่างไรก็ดี เยลเลนย้ำว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ครั้งต่อไปในเดือนหน้า จะมีการพิจารณาแผนการชะลอมาตรการกระตุ้น โดยอิงกับผลกระทบที่เกิดกับสภาพเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน

ประธานหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเฟดผู้นี้แจกแจงว่า ภาวะเศรษฐกิจถือว่าดีพอสมควร เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ 2% และไม่มีความเสี่ยงรุนแรงจากความผันผวนของพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ซึ่งสาเหตุของความผันผวนดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการที่เฟดลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) นี่เอง

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับเบน เบอร์นันกี นายใหญ่เฟดที่เพิ่งอำลาตำแหน่งไปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เยลเลนย้ำว่า การว่างงานยังคงเป็นปัญหาและจุดสนใจของผู้วางนโยบายของเฟด ล่าสุดอัตราว่างงานเดือนมกราคมอยู่ที่ 6.6% สูงกว่าเป้าหมายที่เฟดคิดว่า เป็นระดับที่เข้มแข็งและยั่งยืน

เยลเลนชี้ว่า อัตราว่างงานระดับสูงนี้เป็นผลจากการที่แรงงานถูกบีบให้ทำงานนอกเวลา เนื่องจากหางานเต็มเวลาไม่ได้ และมีคนว่างงานหางานมานานกว่า 6 เดือนโดยไม่ประสบผลสำเร็จ

นอกจากนี้ เยลเลนยังย้ำว่า กระทั่งเมื่ออัตราว่างงานลดลงอยู่ที่ 6.5% ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือนธันวาคม 2012 แล้ว เฟดก็ไม่ใช่ว่าจะยุติมาตรการกระตุ้น หรือจัดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทันทีทันใด
กำลังโหลดความคิดเห็น