xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: โลกหวั่นสหรัฐฯ “ผิดนัดชำระหนี้” หลังวิกฤต “ชัตดาวน์” ยืดเยื้อสู่สัปดาห์ที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายชาวอเมริกันถือป้ายซึ่งมีข้อความว่า “We want to work”หลังการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2
วิกฤตงบประมาณในสหรัฐฯยังคงเป็นกระแสที่ทั่วโลกจับตากันมากที่สุดในเวลานี้ เมื่อภาวะ “ชัตดาวน์” หน่วยงานรัฐบาลล่วงเลยเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 โดยไร้สัญญาณทางออก ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนถึงหายนะที่รุนแรงยิ่งกว่า หากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกก่อหนี้ชนเพดานจนต้องต้องผิดนัดชำระหนี้ (default) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้

ความล้มเหลวของสภาคองเกรสในการผ่านร่างงบประมาณฉุกเฉิน ส่งผลให้สหรัฐฯต้องสั่งปิดหน่วยงานรัฐบาลกลางเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยต้นเหตุมาจากการงัดข้อระหว่าง แกนนำ ส.ส.รีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเดโมแครตเรื่องการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูประบบสาธารณสุข หรือ “โอบามาแคร์” ที่เป็นนโยบายเด่นของรัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา

รีพับลิกันซึ่งควบคุมสภาผู้แทนราษฎรปฏิเสธที่จะเห็นชอบงบประมาณ โดยตั้งเงื่อนไขให้รัฐบาลเลื่อนบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ออกไปอีก 1 ปี หรือไม่ก็ตัดทอนงบประมาณลงมา ซึ่งปรากฏว่า โอบามาและพลพรรคเดโมแครตยืนกรานปฏิเสธ โดยย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านมติคองเกรสตั้งแต่ปี 2010 และยังได้รับความเห็นชอบจากศาลสูงสุดแล้ว

ปัญหาไม่จบเท่านั้น แต่รีพับลิกันยังผูกโยงเรื่องนี้เข้ากับการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะชนเพดาน 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้โดยขู่ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะไม่โหวตสนับสนุนการเพิ่มเพดานหนี้ของประเทศ จนกว่ารัฐบาลจะยอมแก้ไขกฎหมายประกันสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ

หลังวิกฤตการณ์ “ชัตดาวน์” ผ่านมาเพียงสัปดาห์เศษๆ ผลกระทบก็เริ่มแผ่ลามไปถึงภาคเอกชน โดยบริษัท ล็อกฮีดมาร์ติน ผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของอเมริกาซึ่งรับผิดชอบโครงการพัฒนาเครื่องบินรบ F-35 ยืนยันเมื่อวันจันทร์ (7) ว่าพนักงานราว 2,400 คน อาจจะต้องถูกพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ

ผลของการปิดหน่วยงานรัฐทำให้ลูกจ้างพลเรือนของกระทรวงกลาโหม ราว 350,000 คนได้รับอนุญาตให้ลาพักโดยไม่ได้รับเงินเดือน ทว่าเมื่อวันเสาร์ (5) เพนตากอนตัดสินใจเรียกพวกเขาเกือบทั้งหมดกลับมาทำงานอีกครั้ง ด้วยเห็นว่ามีภารกิจจำเป็น

แกนนำพรรครีพับลิกันพยายามโน้มน้าวให้ โอบามา ยอมอ่อนข้อ แต่ผู้นำสหรัฐฯ ยังยืนยันว่า รีพับลิกันจะต้องหยุดเอาเศรษฐกิจของประเทศชาติมาข่มขู่ โดยยอมผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ และผ่านงบประมาณให้หน่วยงานรัฐกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติเสียก่อน
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ
โอบามา ระบุด้วยว่าตนพร้อมจะพูดคุยกับ จอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรีพับลิกันคนอื่นๆ ในทุกเรื่อง แต่การเจรจาในประเด็นปิดหน่วยงานรัฐบาลกลาง หรือเพดานหนี้ก็ไม่ควรแขวนคำขู่ชัตดาวน์ หรือความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจไว้บนศีรษะของอเมริกันชน พร้อมเตือนถึงผลกระทบของการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งจะก่อความยุ่งเหยิงแก่ตลาดทุน บั่นทอนความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อสหรัฐฯ เพิ่มภาระหนี้สินของประเทศอย่างถาวรและเสี่ยงที่จะฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง

ด้าน โบห์เนอร์ ก็ตอบโต้เสียงแข็งว่า ข้อเรียกร้องของรัฐบาลเรื่องการเปิดให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างงบประมาณแบบเพียวๆ โดยไม่ต้องแก้กฎหมายโอบามาแคร์ รวมไปถึงการยอมขยายเพดานหนี้แบบไม่มีเงื่อนไขเป็นสิ่งที่รีพับลิกันยอมไม่ได้

ล่าสุดในช่วงค่ำวันพุธ (9) โอบามา ได้แถลงแผนเชิญสมาชิกสภาคองเกรสของทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตมายังทำเนียบขาวเพื่อพูดคุยคลี่คลายวิกฤตทางตันด้านงบประมาณโดยจะมีการพบปะกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างน้อยของพรรคเดโมแครตในช่วงค่ำวันพุธ (9) จากนั้นก็จะมีการเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันรวมถึงสมาชิกวุฒิสภาของทั้งสองพรรคเข้าหารือเป็นลำดับต่อไปในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า

อย่างไรก็ตามการนัดหารือกับสมาชิกของทั้งสองสภาและจากทั้งสองพรรคอาจไม่ได้หมายความว่า โอบามา ยอมล่าถอยจากจุดยืนปฏิเสธเจรจาต่อรองและอาจจะเป็นเพียงกลยุทธ์กลบข้อกล่าวหาของรีพับลิกันที่ว่าประธานาธิบดีผู้นี้เป็นพวกดื้อด้านไม่ยอมประนีประนอมกับผู้ที่เห็นต่างอันเป็นยุทธวิธีหนึ่งของรีพับลิกันที่จะโยนบาปปัญหาชัตดาวน์กลับไปยัง โอบามา

ผู้ช่วยแกนนำรีพับลิกันคนหนึ่งยอมรับว่า สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาว่าจะยอมขยายเพดานหนี้ “ชั่วคราว” เพื่อซื้อเวลาเจรจากับรัฐบาล แต่ยังไม่ระบุชัดว่าจะขยายออกไปกี่สัปดาห์หรือกี่เดือน อย่างไรเสียหากมาตรการดังกล่าวเป็นจริงก็จะช่วยให้สหรัฐฯ รอดพ้นภาวะผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ไปได้
จอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน
ก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แจ็ก ลิว ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายงาน State of the Union ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น โดยเตือนว่าสหรัฐฯ จะหมดความสามารถในการกู้ยืมภายในวันที่ 17 ตุลาคม และหากยังมีเงินสดในมือเพียง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่หนี้สินอาจจะสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน วอชิงตันก็จะต้องผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด

“ผมขอแจ้งให้ทราบเลยว่า ภายในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ เราจะไม่สามารถกู้ยืมได้อีกต่อไป และสภาคองเกรสกำลังเล่นอยู่กับไฟถ้าพวกเขาไม่ขยายเพดานก่อหนี้ เราจะมีเวลาเหลืออีกน้อยมาก ก่อนที่วิกฤตการณ์นั้นจะเริ่มขึ้น” ลิวระบุ

นักเศรษฐศาสตร์ต่างเตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงหากสหรัฐฯต้องผิดนัดชำระหนี้ โดย โอลิเวอร์บลันชาร์ด ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ว่า “ความล้มเหลวในการขยายเพดานหนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ และหากว่ายืดเยื้อต่อไปก็แน่นอนว่า มันจะเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”

ล่าสุด จีนซึ่งมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้ต่างชาติ” รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯโดยถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันถึง 1.277 ล้านล้านดอลลาร์ ก็ออกมาแสดงความกังวลต่อปัญหาการเมืองวอชิงตัน และเรียกร้องให้สหรัฐฯพยายามหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดย จู กวางเหยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจีน ขอให้สภาคองเกรสมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมสำหรับเพิ่มเพดานหนี้สินก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 17 ตุลาคม เพื่อปกป้องความมั่นคงในเงินลงทุนของจีน

“สหรัฐฯคือชาติที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกและยังเป็นประเทศหลักที่ออกสกุลเงินสำรอง การคุ้มครองหนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจอเมริกาและเศรษฐกิจโลก... มันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสหรัฐฯ” จู ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหวา

วิกฤตการคลังในสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ โอบามา ต้องพลาดการประชุมนานาชาติที่สำคัญไปถึง 2 เวที ได้แก่ การประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เกาะบาหลี และการประชุมซัมมิตเอเชียตะวันออกที่บรูไน ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้จีนได้ป่าวประกาศวาระของตนเองอย่างสะดวกโยธินขณะที่ผู้นำบางชาติก็แสดงความเสียดายที่ โอบามา ไม่อาจเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเองเพื่อใช้อิทธิพลผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ “ทีพีพี” ตลอดจนให้น้ำหนักกับนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น