เอเอฟพี - สหรัฐฯ และฝรั่งเศสประกาศความร่วมมือในภารกิจสำรวจดาวอังคาร เมื่อวานนี้ (10 ก.พ.) ภายหลังจากที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ได้ถอนความร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรปในการส่งยานสำรวจและยานลงจอดไปยังดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้เมื่อ 2 ปีก่อน
โครงการล่าสุดนี้มีเป้าหมายที่จะส่งยานสำรวจไร้คนขับไปยังดาวอังคาร เพื่อศึกษาองค์ประกอบชั้นในของดวงดาวที่แห้งแล้งและเต็มไปด้วยฝุ่นซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับโลก โดยจะใช้ชื่อโครงการว่า InSight ซึ่งย่อมาจาก Interior Exploration Using Seismic Investigations, Geodesy, and Heat Transport
ชาร์ลส โบลเดน ผู้บริหารนาซา และ ฌอง-อีฟส์ เลอ กาลล์ ประธานศูนย์อวกาศศึกษาแห่งชาติฝรั่งเศส (CNES) ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือที่โรงแรมแมนดารินโฮเต็ล ในกรุงวอชิงตัน
ภารกิจนี้จะเริ่มเปิดฉากในเดือนมีนาคม ปี 2016 โดยยานสำรวจจะเดินทางไปถึงดาวอังคารในอีก 6 เดือนให้หลัง
“งานวิจัยอันเกิดจากความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้หน่วยงานของเราได้ทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการก่อตัวของดาวอังคาร ซึ่งก็จะช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของโลกมากยิ่งขึ้น” โบลเดน แถลง
ยานสำรวจไม่เพียงส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อตัวของดาวอังคารในระยะเริ่มแรกกลับมายังโลก แต่จะสำรวจกิจกรรมทางธรณีวิทยาแปรสัณฐาน และผลกระทบจากอุกกาบาตที่มีต่อดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ด้วย
หน่วยงานอื่นๆที่สนับสนุนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่ ศูนย์อวกาศเยอรมนี, สถาบันอวกาศแห่งสหราชอาณาจักร และสำนักงานอวกาศสวิส
นาซา ขอถอนตัวจากภารกิจสำรวจดาวอังคาร ExoMars ซึ่งเป็นความร่วมมือกับภูมิภาคยุโรปเมื่อ 2 ปีก่อน โดยอ้างถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ ต่อมารัสเซียก็ได้ก้าวเข้ามาเซ็นสัญญากับองค์การอวกาศยุโรปแทนในภารกิจสำรวจดาวอังคาร 2 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นการส่งยานไปสำรวจรอบวงโคจร (orbital probe) ในปี 2016 เพื่อศึกษาร่องรอยของก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้การมีอยู่ของจุลชีพ หลังจากนั้นจะก็ส่งยานขุดเจาะพื้นผิวไปยังดาวอังคารในปี 2018
ปัจจุบัน นาซา มียานสำรวจอยู่บนดาวอังคาร 2 ตัว ได้แก่ Curiosity ซึ่งส่งขึ้นไปเมื่อปี 2012 และ Opportunity ซึ่งส่งไปยังดาวอังคารเมื่อปี 2004 และมีขนาดเล็กกว่า