เอเจนซีส์ - ชาวยูเครนหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมกลางกรุงเคียฟอีกครั้งหนึ่งในวันอาทิตย์ (9) ที่ผ่านมา ประกาศไม่ล้มเลิกเป้าหมายขจัดอำนาจเผด็จการของประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ขณะที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสั่งตำรวจปราบจลาจลเตรียมพร้อมระดับสูง เพื่อรับมือความเสี่ยงที่จะเกิดการบุกยึดคลังอาวุธและสถานที่ราชการ รวมทั้งการลอบวางระเบิดศูนย์คมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน
พวกผู้นำฝ่ายค้านขึ้นกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มผู้ประท้วงที่ติดริบบิ้นสีน้ำเงินและเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำชาติของยูเครนและสหภาพยุโรป (อียู) ในจัตุรัส “ไมดาน” (เอกราช) เพื่อเดินหน้ากดดันยานูโควิชให้แต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่สนับสนุนตะวันตกแทนที่จะเป็นรัสเซีย ทั้งนี้สำนักข่าวต่างประเทศให้ตัวเลขผู้ร่วมชุมนุมแตกต่างกันมาก โดยรอยเตอร์บอกว่ามี 20,000 คน ขณะที่เอเอฟพีให้ตัวเลขถึง 70,000 คน
วิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวต และปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้นำฝ่ายค้าน ท้าให้ยานูโควิชไปรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนในจัตุรัสเอกราช
อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค ผู้นำฝ่ายค้านอีกคนและอดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจสำทับว่า ฝ่ายค้านต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ ต้องการให้ประธานาธิบดีสนองตอบความต้องการของประชาชน และไม่ต้องการผู้นำเผด็จการ
โอเลห์ ไทนิบ็อก นักชาตินิยมขวาจัดขานรับว่า ประชาชนต่อต้านไม่เพียงระบอบยานูโควิชเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สนับสนุนระบอบนี้และนโยบายจักรวรรดินิยมของเครมลิน
ฝ่ายค้านนั้นต้องการให้รัฐสภาลดทอนอำนาจประธานาธิบดี และกลับไปใช้รัฐธรรมนูญก่อนปี 2010 รวมทั้งให้ยานูโควิชลาออกเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งผู้นำใหม่ก่อนถึงกำหนดในปีหน้า
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม โดย เปโตร โปโรเชนโก มหาเศรษฐีที่สนับสนุนการประท้วง กล่าวกับผู้ชุมนุมว่า ล่าสุดมีผู้ประท้วงได้รับการปล่อยตัวเพียง 392 คน และยังถุกคุมขังอีก 49 คน
ประเทศอดีตสมาชิกโซเวียตที่มีประชากร 46 ล้านคนแห่งนี้เริ่มเข้าสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เมื่อยานูโควิชยกเลิกการลงนามข้อตกลงการค้าและการเมืองฉบับประวัติศาสตร์กับอียูอย่างกะทันหัน ทั้งที่มีการเตรียมการมานานเป็นปี และหันไปคบค้ากับรัสเซีย สร้างความเดือดดาลให้ประชาชนที่สนับสนุนการร่วมมือกับอียูและลุกลามกลายเป็นการประท้วงรุนแรงมาจนถึงวันนี้
การประท้วงล่าสุดในวันอาทิตย์เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 10 นับแต่เดือนพฤศจิกายน และมีผู้เข้าร่วมมากเกือบพอๆ กับช่วงสุดสัปดาห์ก่อน แม้น้อยกว่าตอนปลายเดือนมกราคมที่เกิดความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคนก็ตาม
ขณะที่ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลนั้น จากที่เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงในช่วงแรกๆ แต่เมื่อไม่นานนี้ ยานูโควิชได้ยอมอ่อนข้อด้วยการยอมรับการลาออกของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำยูเครนยังต้องเอาใจรัสเซีย ที่ขณะนี้แช่แข็งความช่วยเหลือมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่า ขอรอดูรัฐบาลชุดใหม่ของยูเครนก่อน
จนถึงล่าสุด มอสโกเพิ่งปล่อยเงินกู้งวดแรกให้ยูเครน 3,000 ล้านดอลลาร์ตามที่สัญญากับยานูโควิชว่า จะตบรางวัลให้หากปฏิเสธข้อตกลงกับอียู
เศรษฐกิจที่โซซัดโซเซของยูเครน กำลังต้องการความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากการผลิตภายในดิ่งลงเช่นเดียวกับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า สถานการณ์นี้อาจบีบให้ยานูโควิชต้องเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของฝ่ายค้าน และแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่สนับสนุนรัสเซีย
ขณะเดียวกัน ในวันอาทิตย์ สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอสบียู) ได้ประกาศให้หน่วยปราบจลาจลเตรียมพร้อมระดับสูง โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นว่า อาจมีการวางระเบิดศูนย์การคมนาคมขนส่งเชิงยุทธศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น สนามบิน ท่อส่งน้ำมัน และโรงงานนิวเคลียร์ รวมถึงการเข้ายึดคลังอาวุธและปิดกั้นการเข้า-ออกสถานที่ราชการ
เอสบียูแถลงว่า มาตรการนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันเหตุร้ายเป็นหลัก และไม่ได้พาดพิงถึงผู้ประท้วงอย่างชัดเจน