xs
xsm
sm
md
lg

อียู-US วางแผนให้เงินช่วย ‘ยูเครน’ ซื้อใจแข่ง ‘รัสเซีย’ ขณะ ปธน.หายป่วยกลับเข้าทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (3 ก.พ.) กำลังพิจารณาจัดทำแผนการให้ความช่วยเหลือทางทางการเงินก้อนโต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของหนทางคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองในยูเครน ในลักษณะซึ่งมุ่งดึงอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตรายนี้ให้เข้าใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตกและถอยห่างออกจากรัสเซียยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ถูกมองว่าฝักใฝ่มอสโก ได้กลับมาทำงานอีกครั้งหลังลาป่วยตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้หลายฝ่ายกำลังรอดูว่า ประมุขยูเครนผู้นี้จะกลับมาพร้อมการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือยอมตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านด้วยการลดอำนาจตัวเอง ปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อแลกกับความช่วยเหลือจากตะวันตก

สำนักประธานาธิบดียูเครนแถลงเมื่อวันอาทิตย์ (2) ว่า ประธานาธิบดียานูโควิช มีกำหนดกลับมาทำงานในวันจันทร์ หลังจากลาป่วยตั้งแต่วันพฤหัสบดี (30 ม.ค.) จากอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจรุนแรง ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านบางคนสงสัยว่า เป็นแผนซื้อเวลาของยานูโควิชเพื่อเตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ท่ามกลางวิกฤตการเมืองครั้งรุนแรงที่สุด นับแต่ยูเครนประกาศเอกราชภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991
นักเคลื่อนไหวชายูเครนเทสีแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเลือดลงไปในอ่างน้ำที่เขียนข้อความว่า ยูเครน ในการประท้วงหน้าธนาคารดอยช์แบงก์ เพื่อเรียกร้องให้ธนาคารสัญชาติเยอรมันแห่งนี้ยุติความร่วมมือกับบรรดาธนาคารและบริษัทของประธานาธิบดี วิคตอร์ ยานูโควิช
ระหว่างที่ยานูโควิชลาป่วย ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างชะลอการเคลื่อนไหว แต่วันเดียวกับที่มีการแถลงว่า ประธานาธิบดีจะกลับมาทำงาน ฝ่ายค้านก็นัดชุมนุมใหญ่ในจัตุรัส “ไมดาน” หรือจัตุรัสเอกราช ใจกลางกรุงเคียฟ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมราว 20,000 คน เพื่อกดดันให้รัฐบาลยอมจำนน

ภายหลังหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตะวันตก ซึ่งรวมถึงจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และแคทเธอลีน แอชตัน ประธานด้านกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ระหว่างการประชุมว่าด้วยความมั่นคงนานาชาติที่เมือง มิวนิก, เยอรมนี ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นต้นว่า วิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมเปี้ยนมวยโลก ได้เรียกร้องให้ตะวันตกเป็นตัวกลางเจรจากับยานูโควิช รวมทั้งร้องขอ “เงินช่วยเหลือ” ที่เป็นความช่วยเหลือจริงๆ

อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจและหนึ่งในผู้นำฝ่ายค้านที่สัปดาห์ที่แล้วปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ยานูโควิชหยิบยื่นให้ กล่าวว่า ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ตะวันตกเรื่องแผนการช่วยเหลือทางการเงิน

ยัตเซนยุคเสริมว่า ยูเครนที่กำลังมีปัญหาการเงินอย่างหนัก จึงต้องการ “แผนการมาร์แชลล์” จากตะวันตก ทั้งนี้แผนการมาร์แชลล์คืองมาตรการริเริ่มช่วงในช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลืออย่างมหาศาลแก่ยุโรปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยที่ยัตเซนยุคระบุตัวเลขว่า ยูเครนต้องการความช่วยเหลืออย่างน้อยที่สุด 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็อยู่ในระดับเดียวกับที่รัสเซียเสนอให้แก่ประธานาธิบดียานูโควิชนั่นเอง
บรรดานักเคลื่อนไหวชาวยูเครนใช้สีแดงเขียนชื่อของประธานาธิบดี วิคตอร์ ยานูโควิช ในการประท้วงหน้าธนาคารดอยช์แบงก์
ขณะเดียวกัน ทางด้านแอชตัน ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเดินทางไปยังกรุงเคียฟในสัปดาห์นี้ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ฉบับวันอาทิตย์ว่า ฝ่ายตะวันตกกำลังพิจารณาแพ็คเกจความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนซึ่ง "ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ” ทว่า แผนการนี้ขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจของทางการเคียฟในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง

สำหรับรัสเซียนั้นแสดงความไม่พอใจกับการที่ฝ่ายตะวันตกแทรกแซงกิจการภายในของยูเครน

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มอสโกเสนอความช่วยเหลือ 15,000 ล้านดอลลาร์และส่วนลดราคาก๊าซแก่เคียฟ ทว่า สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กลับประกาศว่า จะชะลอแผนการดังกล่าวเพื่อรอดูโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ของยูเครน ภายหลังการลาออกของนายกรัฐมนตรีมืย์โคลา อาซารอฟ ของยูเครนซึ่งเป็นฝ่ายนิยมมอสโก

นอกจากนี้ รัสเซียยังประกาศสนับสนุนยานูโควิช พร้อมประณามผู้ประท้วงหัวรุนแรงว่า ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ล่าสุด
ผู้ประท้วงนำธนบัตรยูเครนจุ่มลงไปในสีแดงเพื่อสื่อถึง เงินเปื้อนเลือด
ทางด้านฝ่ายค้านยูเครนอ้างว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลตั้งตนเป็นศาลเตี้ยและใช้กำลังทำร้ายผู้ประท้วง โดยรายงานข่าวที่ว่า ดมิโตร บูตาลอฟ นักเคลื่อนไหววัย 35 ปี ผู้ซึ่งเพิ่งออกมาเปิดเผยว่า ถูกลักพาตัวและทรมานโดยคนไม่ทราบฝ่ายก่อนนำไปปล่อยในป่าสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ยุโรปช็อคและกดดันรัฐบาลยูเครนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ล่าสุดรัฐบาลยูเครนยอมให้บูตาลอฟที่ก่อนหน้านี้ถูกกักบริเวณจากข้อสงสัยปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ออกไปรักษาตัวที่ลิทัวเนียตามที่ประเทศดังกล่าวเสนอมา

การประท้วงอันยืดเยื้อในยูเครนระลอกนี้ ปะทุขึ้นมาหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการลงนามข้อตกลงค้าเสรีกับอียูในนาทีสุดท้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจึงลุกลามกลายเป็นการเรียกร้องให้ยานูโควิชลาออก และยังบานปลายออกนอกกรุงเคียฟสู่เมืองต่างๆ ล่าสุดฝ่ายค้านยังนัดประท้วงรอบใหม่ทั่วประเทศเริ่มจากวันจันทร์

แม้ยานูโควิชยอมอ่อนข้อให้ฝ่ายค้านหลายประการแล้ว โดยทั้งยกเลิกกฎหมายห้ามประท้วง และนิรโทษกรรมผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมภายใต้เงื่อนไขการคืนสถานที่ราชการบางแห่งที่ผู้ประท้วงยึดไว้ให้ทางการ ทว่า ผู้นำฝ่ายค้านยังมุ่งมั่นเรียกร้องต่อไปอีก ซึ่งรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนอำนาจของยานูโควิช โดยที่ประเด็นนี้รัฐสภากำหนดจะเปิดอภิปรายในวันอังคาร (4)

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังต้องการให้ยานูโควิชลาออกทันทีและจัดการเลือกตั้งใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น