เอเจนซีส์ - ฝ่ายค้านยูเครนจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันอาทิตย์ (2 ก.พ.) เพื่อกดดันประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ต่อ หลังจากเพิ่งได้รับการสนับสนุนท่วมท้นจากจากยุโรป และอเมริกา ท่ามกลางความกังวลว่า ทหารอาจเข้าแทรกแซงในวิกฤตการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่ประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตแห่งนี้ประกาศเอกราช
ฝ่ายค้านจำนวนอย่างน้อย 50,000 คน ได้ออกมาชุมนุมในจัตุรัส “ไมดาน” หรือจัตุรัสเอกราช กลางกรุงเคียฟ อีกครั้ง เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดียานูโควิช ยินยอมตามข้อเรียกร้องของพวกเขาเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และการตั้งรัฐบาลชุดใหม่
สัปดาห์ที่แล้ว ยานูโควิช เปิดไฟเขียวให้พรรครีเจียนส์ ปาร์ตี้ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับกุมในระหว่างการประท้วงที่ยืดเยื้อมากว่า 2 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประท้วงจะต้องคืนสถานที่ราชการที่ยึดไว้
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีมืย์โคลา อาซารอฟ และคณะรัฐมนตรียังลาออก รวมทั้งมีการยกเลิกกฎหมายห้ามการประท้วงที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อกลางเดือนมกราคม ทว่า ผู้ประท้วงจำนวนมากต้องการให้ ยานูโควิช ออกจากตำแหน่งด้วย ตลอดจนจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในปีนี้แทนที่จะเป็นปีหน้าตามกำหนด อีกทั้งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของประธานาธิบดี
การชุมนุมครั้งใหม่นี้มีขึ้นภายหลังจากที่พวกผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งรวมถึงวิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมเปี้ยนมวยโลก ได้รับการยืนยันสนับสนุนจากเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตะวันตก โดยรวมถึงจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมหารือประจำปีด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่เมืองมิวนิก เยอรมนี ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ประท้วงยูเครนมีความเห็นต่างกันไป บ้างคิดว่า ตะวันตกอาจช่วยหยุดยั้งความรุนแรงได้ชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่บางคนมองว่า มหาอำนาจตะวันตกอาจช่วยคลี่คลายวิกฤตได้ด้วยการกดดันโดยพุ่งเป้าที่ทรัพย์สินนอกประเทศของมหาเศรษฐียูเครนที่สนับสนุนยานูโควิช และหลายคนประกาศว่า จะไม่ยอมล่าถอยจากจัตุรัสไมดาน จนกว่าประธานาธิบดีจะยอมลาออกจากตำแหน่ง
ฝ่ายค้านนั้นกลัวว่า รัฐบาลอาจกำลังเตรียมออกประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (31 ม.ค.) กองทัพได้เรียกร้องให้ใช้ “ขั้นตอนฉุกเฉิน” เพื่อแก้ไขความวุ่นวาย
คลื่นการประท้วงที่ทำให้ยูเครนเผชิญวิกฤตรุนแรงที่สุดนับจากประกาศเอกราชในปี 1991 คราวนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ยานูโควิช เลิกล้มการลงนามข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนกับสหภาพยุโรป (อียู) ในเดือนพฤศจิกายนภายใต้ความกดดันจากรัสเซีย
เดือนถัดมา เคียฟ ได้รับเงินอัดฉีดจากมอสโก 15,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งส่วนลดราคาก๊าซ ทว่า สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกมาตั้งเงื่อนไขว่า จะอัดฉีดเงินให้ต่อเมื่อเห็นโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ของยูเครนก่อน
เซียร์เกย์ กลาสเยฟ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของปูติน ยังกดดันเพิ่มด้วยการเตือนว่า ยานูโควิช อาจหลุดจากอำนาจหากยอมอ่อนข้อให้การปฏิวัติที่คืบคลานเข้ามา
นอกจากนี้ ในการประชุมหัวข้อเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน ที่มิวนิกคราวนี้ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ยังประณามมหาอำนาจตะวันตกว่า แทรกแซงกิจการของประเทศอื่น โดยการกล่าวอ้างว่าเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย
ทว่า เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบโต้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนเป็นการต่อสู้เพื่ออนาคตบนเส้นทางประชาธิปไตย และการร่วมเป็นพันธมิตรกับยุโรป พร้อมประกาศว่า อเมริกา และอียูจะอยู่เคียงข้างประชาชนชาวยูเครนในการต่อสู้ดังกล่าว
ปัจจุบัน การประท้วงในยูเครนลุกลามออกนอกกรุงเคียฟ และมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิต 4 ราย เป็นผู้ประท้วง 2 คน และตำรวจ 2 คน ทั้งนี้ จากรายงานของทางการ
เจ้าหน้าที่ยุโรปยังประณามเหตุการณ์ที่เกิดกับดมิโทร บูลาทอฟ นักเคลื่อนไหววัย 35 ปี ที่เล่าว่า ตนถูกบุคคลที่ไม่รู้สังกัดลักพาตัวไปทรมานกว่าสัปดาห์ และขณะนี้ถูกกักบริเวณภายในบ้านพักเนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
อย่างไรก็ดี แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี เผยว่าได้รับความเห็นชอบจากลีโอนิด โคซารา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนว่า จะอนุญาตให้บูลาทอฟออกไปรักษาตัวนอกประเทศได้ตามที่เยอรมนี และลิทัวเนียเสนอให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ สไตน์ไมเออร์ ยังเรียกร้องให้ยานูโควิช ร่วมมือกับฝ่ายค้านเพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง