เอเจนซีส์ - วิกฤตการเมืองยูเครนระอุสุดขีดในรอบ 2 เดือน ผู้ประท้วงสังเวยชีวิตอย่างน้อย 2 คน จากการปะทะกับตำรวจกลางกรุงเคียฟเช้าวันพุธ (22 ม.ค.) นายกรัฐมนตรีอาซารอฟออกมากล่าวหาทันทีว่า ผู้นำฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบการสูญเสียครั้งนี้ พร้อมยืนยันตำรวจไม่ได้ใช้กระสุนจริง ด้านฝ่ายค้านแถลงโต้กลับ โจมตีผู้นำเผด็จการสังหารประชาชน
พนักงานอัยการของยูเครนยืนยันว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไป 2 คน โดยถูกยิงด้วยกระสุนจริง ภายหลังจากที่ โอเลห์ มูซีย์ ผู้ประสานงานหน่วยแพทย์ของกลุ่มผู้ประท้วงยูเครน ระบุว่าชายคนหนึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหลังจากตกจากที่สูงในสนามฟุตบอลของสโมสรไดนาโม เคียฟ อีก 2 คนเสียชีวิตจากบาดแผลถูกยิง
ทางด้านนายกรัฐมนตรีไมโคลา อาซารอฟของยูเครน กล่าวหาทันทีว่า ผู้นำฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบการเสียชีวิตของผู้ประท้วง พร้อมกับอ้างว่าตำรวจไม่มีกระสุนจริง
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน อาซารอฟได้ออกมาเตือนว่ารัฐบาลอาจใช้กำลังสลายการชุมนุม หากยังมีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
การปะทะล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงเช้าวันพุธ เมื่อตำรวจยกกำลังเข้าจับกุมผู้ประท้วง ทำลายสิ่งกีดขวางและพยายามบุกเข้าไปในพื้นที่ที่ผู้ประท้วงยึดครองอยู่ บริเวณด้านหลังของซากรถที่ถูกเผาที่มีน้ำแข็งปกคลุมและใกล้ๆ กับอาคารที่ทำการรัฐบาล
ฝ่ายผู้ประท้วงตอบโต้ด้วยระเบิดขวดและก้อนหิน สู้กับระเบิดแสงและกระสุนยางจากตำรวจ
อย่างไรก็ดี ในที่สุดตำรวจก็ล่าถอยกลับสู่ตำแหน่งเดิมก่อนการปะทะ และเมื่อถึงช่วงเที่ยง ผู้ชุมนุมหลายพันคนที่สวมหน้ากากปิดหน้าและหมวกนิรภัยได้ช่วยกันสร้างแนวรั้วใหม่ด้วยถุงหิมะใบใหญ่ ห่างจากแนวตำรวจหลายเมตร
กระทั่งล่าสุดตำรวจยังไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่จัตุรัสเอกราชที่เป็นที่ตั้งค่ายหลักของผู้ชุมนุม และไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กองกำลังความมั่นคงกำลังวางแผนจู่โจมรอบใหม่หรือไม่
ทั้งนี้ เว็บไซต์ข่าวทรงอิทธิพล เซอร์คาโล ทิซเนีย เผยว่า รัฐบาลกำลังเตรียมแผนยึดคืนพื้นที่โดยใช้สมาชิกกองกำลังความมั่นคง 8,000 นาย
วิกฤตการเมืองยูเครนเริ่มต้นขึ้นปลายเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ไม่ยอมลงนามข้อตกลงกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) และหันไปคบค้ากับรัสเซียแทน นับจากนั้นประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจเริ่มชุมนุมกันในจัตุรัสเอกราชกลางกรุงเคียฟ และสร้างแคมป์ถาวรอยู่มาจนกระทั่งถึงขณะนี้
สถานการณ์กลับมาตึงเครียดอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากยานูโควิชผลักดันกฎหมายห้ามการประท้วงเกือบทุกรูปแบบซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันอังคาร (21) และเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจตั้งแต่วันอาทิตย์ (19) เป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน และการเสียชีวิตของผู้ประท้วงครั้งนี้มีแนมโน้มทำให้วิกฤตการณ์บานปลายยิ่งขึ้น
กฎหมายดังกล่าวกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีต่อผู้ที่กีดขวางทางเข้าออกอาคารสาธารณะ และให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้ประท้วงที่สวมหน้ากากหรือหมวกปิดบังใบหน้า
ทางด้านสามพรรคฝ่ายค้านสำคัญออกแถลงการณ์กล่าวหายานูโควิชและพันธมิตรผู้ซื่อสัตย์ วิตาลี ซักคาร์เชโก รัฐมนตรีมหาดไทย เป็นเผด็จการที่สังหารประชาชน
ในเวลาต่อมาของวันพุธ ยานูโควิช ได้พบปะเจรจากับพวกผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งคนหนึ่งคือ อดีตแชมป์มวยโลก วิตาลี คลิตช์โก ทว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการพูดคุยกันนี้จะได้ผลอย่างไรหรือไม่ ทั้งนี้ก่อนการเจรจา ยานูโควิชได้เรียกร้องผู้ประท้วงอย่าได้เดินตาม “พวกหัวรุนแรงทางการเมือง” อีกทั้งแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้ถูกสังหารจากการปะทะกัน
ทางด้านสถานทูตอเมริกันในกรุงเคียฟเผยว่า ได้เพิกถอนวีซ่าเข้าอเมริกาของเจ้าหน้าที่ยูเครนบางคนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและกำลังพิจารณามาตรการลงโทษเพิ่มเติม