xs
xsm
sm
md
lg

หลังรบ.แข็งขืนเดินหน้าเลือกตั้ง ‘บังกลาเทศ’ ขยับใกล้ขอบเหวอนาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: อันชูมาน ราวัต

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bangladesh stares at anarchy
By Anshuman Rawat
30/01/2014

สภาพความปั่นป่วนวุ่นวายในบังกลาเทศ ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองหรือในทางความแตกแยกเชิงแนวความคิดอุดมการณ์ กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่พรรคสันนิบาตอวามิ ของนายกรัฐมนตรีหญิง ชัยค์ ฮาซินา ประกาศอ้างชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งที่เธอผลักดันให้เดินหน้าต่อไป ถึงแม้ถูกมวลชนฝ่ายค้านจำนวนมากมายต่อต้านบอยคอตต์ และกระทั่งว่ากระแสความรุนแรงตลอดจนการประท้วงนัดหยุดงานปิดที่ทำการภายหลังการเลือกตั้ง กำลังส่งผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจอย่างเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปอันทรงความสำคัญอย่างยิ่งของประเทศ แต่พรรครัฐบาลผู้กุมอำนาจปกครองบังกลาเทศอยู่ในเวลานี้ก็ยังแสดงท่าทีไม่สนใจใยดีที่จะรับฟังเสียงเรียกร้องของฝ่ายค้านอยู่นั่นเอง

บังกลาเทศกำลังขยับเข้าใกล้กลียุคมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะมีหนทางยุติความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีรากเหง้าแฝงฝังอยู่ในความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ตลอดจนอยู่ในแนวความคิดอุดมการณ์อันก่อให้เกิดความแตกแยกกัน

ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคสันนิบาตอวามิ (Awami League ใช้อักษรย่อว่า AL) ของนายกรัฐมนตรีหญิง ชัยค์ ฮาซินา (Sheikh Hasina) ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา แทบไม่ได้ผ่อนคลายสถานการณ์อันตึงเครียดนี้เลย

พรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (Bangladesh Nationalist Party ใช้อักษรย่อว่า BNP) ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงอีกผู้หนึ่งนาม เบกุม คอลิดา เซีย (Begum Khalida Zia) และเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้ตราหน้ารัฐบาลชุดปัจจุบันว่า เป็นรัฐบาลที่ขึ้นปกครองประเทศอย่าง “ผิดกฎหมาย” พร้อมกับประกาศว่าจะหาทางโค่นล้มรัฐบาลชุดนี้ “ด้วยความเคลื่อนไหวของประชาชน”

สืบเนื่องจากพวกพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่ทุกๆพรรค ต่างพากันบอยคอตต์คว่ำบาตรการเลือกตั้งคราวนี้กันถ้วนหน้า จำนวนที่นั่งในรัฐสภา 153 ที่นั่งจากทั้ง 232 ที่นั่งซึ่งพรรคสันนิบาตอวาลมิชนะในการลงคะแนนเมื่อวันที่ 5 มกราคม จึงเป็นการได้มาแบบไม่ได้ผ่านการแข่งขัน ทางฝ่ายค้านนั้นตั้งข้อเรียกร้องว่าการจัดการเลือกตั้งควรกระทำโดยรัฐบาลรักษาการที่มาจากฝ่ายเป็นกลาง อันเป็นเงื่อนไขซึ่งเคยกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป ก่อนที่รัฐบาลของฮาซินาจะแข็งขืนผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนสำเร็จในปี 2011

ทั่วทั้งบังกลาเทศ มีผู้คนหลายร้อยคนทีเดียวต้องสิ้นชีวิตลงท่ามกลางความรุนแรงทางการเมืองในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งหลังสุดนี้ ขณะที่การดำเนินชีวิตตามปกติของประชาชนก็สิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายค้านเข้าปิดกั้นถนนหนทาง, ทางรถไฟ, และทางน้ำสายต่างๆ ตลอดจนมีการปิดร้านค้า, โรงเรียนสถาบันการศึกษา, และสำนักงานที่ทำการทั้งหลาย เฉพาะในวันหย่อนบัตรลงคะแนนเองรายงานข่าวระบุว่ามีผู้คนเสียชีวิตไป 20 คน และหน่วยเลือกตั้งมากกว่า 100 หน่วยถูกจุดไฟเผาโดยฝูงชนที่พร้อมสร้างความรุนแรง

ความยุ่งเหยิงโกลาหลซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเหล่านี้ ยังบังเกิดขึ้นมาอย่างใกล้ชิดติดพันกับความรุนแรงที่ปะทุขึ้นจากการดำเนินงานของ “ศาลพิเศษว่าด้วยคดีอาญาระหว่างประเทศ” (International Crimes Tribunal ใช้อักษรย่อว่า ICT) ของบังกลาเทศ ศาลแห่งนี้ในปัจจุบันกำลังไต่สวนพิจารณาคดีความผิดฐานก่อ “อาชญากรรมสงคราม, อาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ, และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ของกองทัพปากีสถาน ตลอดจนพวกผู้สมรู้ร่วมคิดในท้องถิ่น ในระหว่างที่เกิดสงครามประกาศเอกราชแยกบังกลาเทศออกจากปากีสถานเมื่อปี 1971

ศาลพิเศษ ICT นี้ ได้กลายเป็นข่าวพาดหัวในระดับระหว่างประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 เนื่องจากเกิด “ขบวนการชาห์บัก” (Shahbagh movement ชาห์บักนั้นเป็นชื่อของย่านสำคัญแห่งหนึ่งในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ) ซึ่งประกอบด้วยประชาชนหลายหมื่นคน ได้ออกมาชุมนุมประท้วงกันที่ย่านสำคัญดังกล่าวนี้ แล้วต่อมาก็แผ่ลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ขบวนการนี้มีวัตถุประสงค์มุ่งเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งหมดที่ถูก ICT ตัดสินว่ากระทำผิดจริง ตลอดจนเรียกร้องให้บังกลาเทศกลายเป็นประเทศที่แยกศาสนาออกจากรัฐ (secular state)

พวกคนท้องถิ่นที่เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับกองทัพปากีสถาน และตกเป็นจำเลยถูกพิจารณาคดีอยู่ในศาลพิเศษ ICT นั้น ส่วนใหญ่แล้วในปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้นำของพรรคฝ่ายค้านใหญ่อันดับ 2 ของบังกลาเทศ ซึ่งมีแนวทางแบบอิสลามเคร่งจารีต และใช้ชื่อว่า พรรคจามาอัต-อี-อิสลามี (Jamaat-e-Islami ใช้อักษรย่อว่า JeT) จากการที่ ICT มีแผนการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้นำ JeT สำหรับความผิดก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อปี 1971 ก็จึงเป็นเหตุให้พวกอิสลามิสต์จำนวนมาก ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความโกรธเกรี้ยวอยู่ตลอดทั่วทั้งบังกลาเทศเช่นเดียวกัน

ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2013 บรรดาครูและนักเรียนของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งต่างๆ ตลอดจนพวกที่เห็นอกเห็นใจหนุนหลังพวกเขา ได้ทำการปิดล้อมกรุงธากา เพื่อแสดงความสนับสนุนขบวนการ “เฮฟาซัต-อี-อิสลาม” (Hefazat-e-Islam ผู้พิทักษ์ของอิสลาม) อันเป็นกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรง ซึ่งประกาศข้อเรียกร้องอันเข้มงวดและสุดโต่งต่างๆ เป็นต้นว่า การห้ามไม่ให้ชายและหญิงคลุกคลีปะปนกันในที่สาธารณะ, และการปฏิบัติต่อพวก "กาฟิร” (kafir พวกที่ไม่เชื่อในอิสลาม) ในฐานะเป็นอาชญากร ความเคลื่อนไหวคราวนี้ได้นำไปสู่การปะทะกันด้วยความรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงกับกองกำลังทหารตำรวจของรัฐบาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

ในเวลาเดียวกันนั้น การที่พวกผู้นำของจามาอัตถูกศาลพิเศษ ICT ตัดสินว่ามีความผิดจริง ก็ทำให้ศาลสูงสุดของบังกลาเทศ (Bangladesh Supreme Court) มีคำพิพากษาในวันที่ 1 สิงหาคม 2013 ประกาศว่าการจดทะเบียนพรรคการเมืองของพรรคนี้กระทำขึ้นอย่างผิดกฎหมาย ผลก็คือเท่ากับสั่งห้าม JeT ลงสมัครรับเลือกตั้งนั่นเอง

ความโกลาหลวุ่นวายมาถึงจุดย่ำแย่ที่สุดในวันที่ 12 ธันวาคม เมื่อ อับดุล กอเดร์ โมลลาห์ (Abdul Qader Mollah) หนึ่งในผู้นำสำคัญของจามาอัต ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอตามคำตัดสินของ ICT โมลลาห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักโด่งดังในฉายาว่า “นักฆ่าแห่งมีร์ปุระ” (Butcher of Mirpur) เป็นผู้ที่สนับสนุนจุดยืนของพรรคของเขาซึ่งคัดค้านการที่ดินแดน “ปากีสถานตะวันออก” ในเวลานั้นจะแยกตัวออกมาประกาศเอกราชกลายเป็น “บังกลาเทศ” เขาถูกกล่าวหาว่าสมคบกับฝ่ายทหารปากีสถานในการเข่นฆ่าและข่มขืนชาวเบงกาลี (Bengali ชนชาติส่วนใหญ่ในแคว้นเบงกอล ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งกลายเป็นดินแดนของอินเดีย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็คือบังกลาเทศ) อย่างเมามันเป็นระยะเวลาถึง 8 เดือน

ขณะที่การประท้วงของขบวนการชาห์บัก และของขบวนการเฮฟาซัต ซึ่งเป็นคนละขั้วกัน ไม่ได้เป็นตัวการก่อให้เกิดความรุนแรงอันสืบเนื่องจากการเลือกตั้งในปัจจุบันโดยตรง แต่ก็มีบทบาทในการเติมส่วนผสมแห่งความขัดแย้งอันรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต ตลอดจนส่วนผสมแห่งแนวความคิดอุดมการณ์ซึ่งสร้างความแตกแยกกันเพิ่มเข้ามา บังกลาเทศในเวลานี้จึงกำลังกลายเป็นสมรภูมิทางด้านการเมืองและทางด้านแนวคิดอุดมการณ์อันสลับซับซ้อนที่ทุกๆ ฝ่ายต่างกระโจนเข้ามาแสดงบทบาท และดังนั้นจึงยากแก่การแก้ไขคลี่คลาย

ผลกระทบสืบเนื่องโดยตรงจากความต่อสู้ขัดแย้งกันดังกล่าวนี้ ปรากฏให้เห็นที่เศรษฐกิจของประเทศเป็นประการแรก โดยอัตราการเติบโตของจีดีพีบังกลาเทศในปีที่แล้วได้หดลงมาเหลือ 6% จากที่เคยทำได้ในระดับ 6.7% เมื่อปี 2011 อีกทั้งเป็นที่คาดหมายกันว่าอัตราการเติบโตนี้ยังจะลดลงไปอีก หากดูจากสภาวการณ์ในปัจจุบัน

การชะลอตัวเช่นนี้ที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากความรุนแรงได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังกลาเทศนั่นเอง การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปคือสิ่งที่ทำรายได้คิดเป็น 80% ของการส่งออกทั้งหมดทีเดียว โดยที่ยอดส่งออกสินค้าประเภทนี้อยู่ในระดับ 21,500 ดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2013 ทะยานขึ้นลิ่วจาก 9,200 ล้านดอลลาร์เมื่อ 6 ปีก่อน

ทว่าเวลานี้ออร์เดอร์สั่งซื้อจากตลาดโลกกำลังหดหายลดต่ำลงไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ส่วนใหญ่ถูกหันเหไปสั่งจากอินเดีย และอีกบางส่วนจากจีนกับปากีสถาน ทั้งนี้สาเหตุประการสำคัญที่สุดเป็นเพราะพวกโรงงานในบังกลาเทศไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามเวลาที่สัญญาไว้ เนื่องจากรถบรรทุกสินค้าต้องติดแหง็กอยู่ตามทางหลวงเป็นวันๆ ในขณะที่เกิดความรุนแรง หลายๆ ฝ่ายกำลังหวั่นเกรงว่าออร์เดอร์ที่หันเหไปยังที่อื่น ตอนนี้อาจจะไม่มีการหวนกลับมายังบังกลาเทศอีกแล้วก็เป็นได้

พวกบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงงานผลิตและผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปบังกลาเทศ (Bangladesh Garment Manufactures and Exporters Association) ว่าจ้างคนทำงานเป็นจำนวนสูงถึง 4 ล้านคนทีเดียว ในจำนวนนี้ 80% เป็นผู้หญิง โดยที่คนงานเหล่านี้ส่วนข้างมากยังเป็นพวกที่อยู่ในภาคส่วนที่ “เป็นฝ่ายเสียเปรียบ” ของสังคมอีกด้วย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บังกลาเทศสามารถลดจำนวนคนยากจนลงได้อย่างน่ายกย่อง โดยจากปี 1990-91 ที่ประชาชนผู้อยู่ในเกณฑ์ถือว่ายากจนของประเทศซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 8 ของโลกแห่งนี้เคยมีสัดส่วนมหาศาลถึง 58% ก็กลับลดน้อยลงมาเหลือ 32% ในปี 2010 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอันน่าประทับใจนี้แน่นอนทีเดียวว่าเวลานี้จะต้องเชื่องช้าลง หรือกระทั่งหยุดนิ่งไปเลย

ความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นยังกำลังส่งผลเลวร้ายต่อฐานะของบังกลาเทศในการรับสิทธิผลประโยชน์อันทรงความสำคัญยิ่งยวดต่างๆ เป็นต้นว่า การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรจากระบบจีเอสพี (Generalized System of Preferences) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลสหรัฐฯที่ให้ชาติยากจนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์สามารถส่งสินค้าออกไปขายยังตลาดสหรัฐฯในแบบปลอดภาษีได้ถึง 5,000 รายการ, การได้รับออร์เดอร์เสื้อผ้าสำเร็จอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งเข้าสู่ยุโรปโดยเสียภาษีนำเข้าในอัตราต่ำ เนื่องจากสิทธิประโยชน์เหล่านี้มีเงื่อนไขผูกพันอันเข้มงวดกำหนดว่า ประเทศที่จะได้รับประโยชน์จะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางการเมือง ตลอดจนเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงาน

นอกจากนั้น การที่บุคคลในเครื่องแบบของบังกลาเทศกำลังถูกส่งออกมาใช้ปฏิบัติงานภายในประเทศอย่างเต็มที่เช่นนี้ ยังส่งผลกระทบทำให้ความสามารถของประเทศในการส่งกองทหารเข้าร่วมอยู่ในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติลดต่ำลง จึงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียที่มาอันสำคัญของรายได้ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศไปอีกแหล่งหนึ่ง

โชคร้ายมากที่ผลกระทบกระเทือนในทางลบต่างๆ นานา ไม่ได้หยุดยั้งให้พวกผู้เล่นรายหลักๆ ยอมถอยหลังแต่อย่างใด

รัฐบาลยังคงไม่ได้คลายอุ้งมือเหล็กซึ่งคอยบีบคั้นพวกปรปักษ์ที่อยู่ในกำมือของตนเลย นอกเหนือจาก คอลิดา เซีย จะถูกกักขังอยู่ในแต่ภายในบ้านพักในทางพฤตินัยแล้ว โมฮัมหมัด ฮอสเซน เออร์ชาด (Mohammad Hossain Ershad) อดีตนายพลแห่งกองทัพบกผู้ขึ้นครองอำนาจปกครองบังเกลาเทศในปี 1982 ภายหลังการรัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือด และปัจจุบันเป็นผู้นำของพรรค จาติโย (Jatiyo) ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ตกอยู่ใต้คำสั่งควบคุมตัวในทางพฤตินัยให้อยู่แต่ในโรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่ง ภายหลังจากที่เขาประกาศว่าจะเข้าร่วมการคว่ำบาตรการเลือกตั้งคราวล่าสุด

นอกจากนั้น รัฐบาลของชัยค์ ฮาซินา ยังกำลังถูกกล่าวหาว่าก่อกวนรังควาญสื่อมวลชนและผู้ทำงานในภาคประชาสังคม ดังที่รายงานขององค์การฮิวแมน ไรต์ วอตช์ (Human Rights Watch ใช้อักษรย่อว่า HRW) ฉบับหนึ่งระบุว่า “รัฐบาลได้ปิดสื่อของฝ่ายค้านไปในช่วงต้นปี 2013 และยังคงพุ่งเป้าเล่นงานกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต่างๆ ตลอดจนจับกุมนักเคลื่อนไหวคนสำคัญๆ ไม่หยุดหย่อน”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, ไปจนถึงดัชนีการพัฒนามนุษย์ เกณฑ์ทุกๆ อย่างในการวัดความอยู่ดีกินดีสมบูรณ์พูนสุขของบังกลาเทศ ล้วนแล้วแต่กำลังอยู่ในภาวะเคร่งเครียดขมึงตึงอย่างร้ายแรงทั้งสิ้น

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในส่วน “Speaking Freely ” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดทางให้เหล่านักเขียนรับเชิญสามารถแสดงความคิดเห็นของพวกตน โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

อันชูมาน ราวัต เป็นนักหนังสือพิมพ์, ผู้ชำนาญการด้านการสื่อสาร, และผู้ประกอบการด้านสื่อจากอินเดีย ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษในด้านภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น