xs
xsm
sm
md
lg

UNยืนยันมีการใช้‘อาวุธเคมี’แต่ไม่ระบุว่าใครผิด

เผยแพร่:   โดย: ธาลิฟ ดีน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

UN confirms Syria gas attack, not culpability
By Thalif Deen
17/09/2013

คณะผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติ ได้ผลสรุปออกมาอย่างเป็นที่คาดทายกันล่วงหน้าแล้ว ในกรณีการโจมตีทางการทหารต่อพวกพลเรือนที่บริเวณชานเมืองหลวงของซีเรียเมื่อเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา นั่นคือ การถล่มเล่นงานซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากคราวนั้นเต็มไปด้วยร่องรอยของการใช้อาวุธเคมีอย่างขนานใหญ่ แต่ในขณะที่ทั้งประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย และกลุ่มกบฎในประเทศนั้นต่างชี้นิ้วกล่าวหากันและกันว่าเป็นตัวการก่อเหตุสังหารโหด โดยที่ฝ่ายตะวันตกและรัสเซียก็โต้เถียงโวยวายใส่กันไม่รู้จบอยู่นั้น ตัวผลการตรวจสอบที่ยูเอ็นเปิดเผยออกมา หาได้ประณามกล่าวโทษฝ่ายใดอย่างชัดเจนไม่

สหประชาชาติ – ภายหลังจากดำเนินการสอบสวนอย่างเข้มข้นจริงจังเกี่ยวกับกรณีการโจมตีทางทหารต่อพลเรือนในบริเวณชานกรุงดามัสกัส ของซีเรียเมื่อเดือนที่แล้ว คณะผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติก็ได้แถลงผลสรุปออกมาอย่างเป็นที่คาดหมายกันล่วงหน้าแล้ว กล่าวคือ การถล่มเล่นงานซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากคราวนั้นเต็มไปด้วยร่องรอยของการใช้อาวุธเคมีอย่างขนานใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทีมงานชุดนี้ไม่ได้ตอบคำถามอีกข้อหนึ่งซึ่งมีความสำคัญพอๆ กันที่ว่า ใครกันคือผู้ที่รับผิดชอบก่อการโจมตีอันโหดเหี้ยมคราวนั้น

ทั้งนี้ตามขอบเขตความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจาก บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ คณะทำงานของยูเอ็นชุดนี้ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ อาเค เซลล์สตรอม (Ake Sellstrom) แห่งสวีเดน ไม่ได้มีอำนาจในเรื่องการสอบสวนหาผู้กระทำผิด และช่องว่างเช่นนี้ก็เป็นโอกาสให้ทั้งรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) แห่งซีเรีย และพวกกลุ่มกบฏต่างๆ ในประเทศนั้น ต่างประณามกันและกันว่าเป็นตัวการเข้าถล่มโจมตี

“ผลที่ได้จากการสอบสวนมีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่งและไม่สามารถที่จะโต้แย้งได้เลย ข้อเท็จจริงพูดออกมาด้วยตัวมันเองแล้ว” บัน บอกกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันจันทร์ (16 ก.ย.) ที่ผ่านมา ในทันทีที่ได้มีการเผยแพร่รายงานฉบับละเอียดของทีมตรวจสอบ เขากล่าวย้ำด้วยว่า การใช้อาวุธเคมีเช่นนี้จะต้องไล่เรียงนำเอาผู้กระทำมารับโทษทัณฑ์ “การใช้อาวุธเคมีใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าโดยใครก็ตาม และไม่ว่าใช้ที่ไหนก็ตาม ล้วนแต่เป็นอาชญากรรม”

บัน บอกกับเหล่าชาติสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงด้วยว่า คณะผู้ตรวจสอบมีข้อสรุปว่า “ได้มีการใช้อาวุธเคมีในขนาดขอบเขตที่ต้องถือว่าใหญ่โต” ในพื้นที่เขตโกวตะ (Ghouta) ของกรุงดามัสกัส โดยที่เป็นส่วนหนึ่งของการสู้รบขัดแย้งกันซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในซีเรีย

ทางด้าน ดร.เอียน แอนโธนี (Dr Ian Anthony) ผู้อำนวยการโครงการควบคุมอาวุธและการไม่แพร่กระจายอาวุธ (Arms Control and Non-Proliferation Programme) ของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม (Stockolm International Peace Research Institute ใช้อักษรย่อว่า SIPRI) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ว่า ขั้นตอนต่อไปที่สมควรจะต้องกระทำกันน่าจะได้แก่การที่คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องประเมินค่าข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏอยู่ในรายงานของคณะผู้ตรวจสอบ โดยต้องถือว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วน อีกทั้งควรจะต้องมีข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นอันสำคัญที่ว่าใครคือผู้รับผิดชอบใช้อาวุธเคมีคราวนั้น

“จากนั้นชาติสมาชิกทั้งหมดของคณะมนตรีความมั่นคง จะต้องร่วมมือร่วมใจกันในการกำหนดเส้นทางที่จะก้าวเดินต่อไป” เขากล่าวต่อ

สำหรับการทำงานของคณะผู้ตรวจสอบของยูเอ็นนั้น ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ทั้งผู้รอดชีวิต, บุคลากรทางการแพทย์, ตลอดจนผู้ที่เข้าไปถึงเหยื่อผู้ประสบเคราะห์เป็นคนแรกๆ รวมแล้วมากกว่า 50 ราย และตามคำแถลงของ บัน พวกเขาได้ใช้กระบวนการคัดสรรอันเข้มงวดรัดกุมและเป็นกลางตัดลดอคติทั้งหลายทั้งปวง ในการบ่งชี้ว่าผู้รอดชีวิตรายใดที่อาจจะได้เผชิญกับพิษร้ายของอาวุธเคมีมาจริงๆ นอกจากนั้นคณะทำงานนี้ยังประเมินวินิจฉัยอาการต่างๆ ของเหยื่อ ตลอดจนเก็บรวบรวมตัวอย่างด้านชีวะการแพทย์ เป็นต้นว่า ตัวอย่างเส้นผม, ปัสสาวะ, และเลือด

บันบอกกับชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงว่า คณะทำงานชุดนี้ได้รวบรวมหลักฐานและเก็บตัวอย่างจากสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสิ่งที่น่าจะเป็นเศษซากของอาวุธซึ่งยิงมา รวมทั้งยังเก็บรวบรวมตัวอย่างดินและตัวอย่างสิ่งแวดลัอม 30 ตัวอย่าง ซึ่งมากมายกว่าการตรวจสอบเช่นนี้ที่ยูเอ็นเคยทำมาในอดีตไม่ว่าครั้งไหน

ขณะเดียวกัน คำบอกเล่าของบรรดาผู้รอดชีวิตก็เผยให้เห็นเรื่องราวอันมีชีวิตชีวาของเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในวันเคราะห์ร้ายดังกล่าว ซึ่งคือวันที่ 21 สิงหาคม บันแถลงว่า พวกผู้รอดชีวิตรายงานว่า ในทันทีภายหลังจากที่มีการโจมตี พวกเขาก็มีอาการต่างๆ หลายประการอย่างรวดเร็ว เป็นต้นว่า รู้สึกหายใจไม่ออก, มึนงง, เคืองตา, ตาพร่าเลือน, คลื่นไส้, อาเจียน, และรู้สึกร่างกายอ่อนปวกเปียก จำนวนมากทีเดียวที่ลงท้ายจะถึงกับหมดสติ ขณะที่พวกคนที่เข้าไปถึงเหยื่อเป็นรายแรกๆ เล่าว่าได้พบเห็นผู้คนจำนวนมากกำลังนอนอยู่กับพื้น หลายๆ คนในจำนวนนี้เสียชีวิตหรือไม่ก็หมดสติ

คณะผู้ตรวจสอบยังได้สัมภาษณ์พยาบาล 9 คน และแพทย์ผู้ทำการรักษา 7 คน ซึ่งหลายๆ คนเป็นผู้ที่เข้าไปถึงที่เกิดเหตุในทันทีที่เกิดเหตุการณ์ “พวกเขารายงานว่าพบเห็นผู้คนจำนวนมากกำลังนอนอยู่บนพื้นถนน โดยที่ไม่ได้มีสัญญาณภายนอกซึ่งแสดงถึงอาการบาดเจ็บ บางคนกำลังพยายามหายใจด้วยความลำบาก , และพวกเขาส่วนใหญ่หมดสติ” บันแถลงต่อ

ภายหลังรับฟังการบรรยายสรุปของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น เอกอัครราชทูต มาร์ก ไลอัลล์ แกรนต์ (Mark Lyall Grant) ของอังกฤษ ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย” ว่าอาวุธเคมีเหล่านี้ใช้โดยกองกำลังความมั่นคงของซีเรีย ไม่ใช่โดยพวกกบฏ พร้อมกันระบุว่า”อาวุธพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผลิตออกมาจากโรงงานกระจอกๆ” ซึ่งก็คือการกล่าวหารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ทำการโจมตีคราวนั้นนั่นเอง

ทางด้าน ซาแมนธา เพาเวอร์ (Samantha Power) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้กล่าวเสริมเพิ่มน้ำหนักความคิดเห็นของฝ่ายอังกฤษนี้ โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่าจรวดขนาด 122 ม.ม.ที่ใช้ในการส่งอาวุธเคมีมายังจุดเกิดเหตุนั้น “ไม่ใช่เป็นอาวุธที่ประกอบเองขึ้นมาได้” หากแต่ต้องผลิตกันในโรงงานแบบมืออาชีพ “ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่า พวกกองกำลังของฝ่ายค้าน (ฝ่ายกบฏ) มีอาวุธที่สามารถบรรจุแก๊สซาริน (sarin gas) เช่นนี้” เธอกล่าวต่อ

ทว่า เอกอัครราชทูต วีตาลี ชูคริน (Vitaly Chukrin) ของรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนอัสซาดอย่างแข็งขัน ร้องโวยว่านี่เป็นความพยายามที่จะ “ด่วนสรุป”

เขาแสดงอาการเหยียดหยามข้อกล่าวหาเหล่านี้ และโต้แย้งว่าถ้าหากรัฐบาลซีเรียเป็นผู้ที่ใช้อาวุธเคมีพวกนี้จริงๆ แล้ว ทำไมจึงไม่มีพวกกบฏแม้แต่คนเดียวที่บาดเจ็บล้มตายจากการโจมตี แต่ผู้ที่ถูกสังหารส่วนใหญ่ที่สุดกลับเป็นพลเรือนทั้งชาย, หญิง, และเด็กๆ

“จรวดเหล่านี้คงยิงพลาดเป้าหมายที่ต้องการไปหมดกระมัง” เขากล่าวต่อด้วยน้ำเสียงประชดประชัน

สำหรับ ฟิลิปเป โบโลปิออน (Philippe Bolopion) ผู้อำนวยการฝ่ายยูเอ็น ขององค์การติดตามตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์” (Human Rights Watch) ออกมาแถลงในวันจันทร์ (16 ก.ย.) ว่า จากข้อเท็จจริงที่ว่าในรายงานของเซลล์สตรอม ไม่ได้มีการระบุตัวการผู้ก่อเหตุออกมาอย่างชัดเจน ควรที่จะบังคับให้คณะมนตรีความมั่นคงต้องนำซีเรียไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) เพื่อที่จะได้สามารถไล่เรียงหาตัวพวกที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีด้วยอาวุธเคมีอย่างเหี้ยมโหดที่โกวตะเช่นนั้น ตลอดจนพวกที่อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมสำคัญๆ ครั้งอื่นๆ ในซีเรีย และจัดการลงโทษตามความผิด

“การที่จะให้มีการเคารพปฏิบัติตามต่อไปอีกในอนาคต ในเรื่องการขีดเส้นแดงห้ามขาดไม่ให้ใช้อาวุธเคมีนั้น จะต้องกระทำอะไรให้มากไปกว่าเพียงแค่ทำข้อตกลงติดตามตรวจสอบคลังอาวุธเคมีของซีเรียเท่านั้น นั่นก็คือจำเป็นที่จะต้องให้พวกที่กดปุ่มปล่อยอาวุธเคมีต้องเผชิญกับความยุติธรรมจากการก่ออาชญากรรมของพวกเขาอีกด้วย”

ขณะที่ แอนโธนี แห่ง SIPRI บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสว่า เมื่อพิจารณาจากผลการค้นพบของคณะผู้ตรวจสอบยูเอ็น มีความจำเป็นที่คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องขบคิดกำหนดสิ่งที่ดำเนินการต่อไป โดยที่ด้านหนึ่งนั้นจะต้องนำเอาพวกที่ถูกระบุว่าเป็นตัวการมาลงโทษตามความผิด และในอีกด้านหนึ่งก็ต้องไม่ทำให้การสู้รบขัดแย้งในปัจจุบันบานปลายออกไป หรือทำลายโอกาสความหวังในการสร้างความก้าวหน้าให้แก่หนทางยุติการสู้รบขัดแย้งนี้ด้วยวิธีรอมชอมกันทางการเมือง เขาชี้ด้วยว่า สิ่งที่จะต้องทำกันต่อไปนั้น ยังมีเรื่องที่จะต้องผลักดันให้มีการดำเนินการปลดอาวุธเคมีอีกด้วย

คาดหมายกันว่า คณะผู้ตรวจสอบของยูเอ็นชุดนี้ยังจะเดินทางกลับไปซีเรีย “โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถกระทำได้” เพื่อปฏิบัติภารกิจซึ่งได้รับมอบหมายตั้งแต่แรก อันได้แก่การสอบสวนเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมีครั้งก่อนหน้านี้ซึ่งเกิดขึ้นในเขตข่าน อัล อัสซัล (Khan Al Assal) ทั้งนี้ทางทีมงานชุดนี้จะจัดทำและเสนอรายงานสุดท้ายของตนภายหลังตรวจสอบเรื่องนี้เสร็จสิ้นแล้ว

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น