xs
xsm
sm
md
lg

IMF ปรับขึ้น GDP โลกหนแรกใน 2 ปี แต่ยังห่วงภัยเงินฝืด-ทุนไหลออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) โอลิวิเยร์ บลองชาร์ด ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ขณะแถลงข่าวในการเปิดตัวรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมปีที่แล้ว ทั้งนี้ล่าสุด ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้เป็น 3.7%
เอเจนซีส์ - ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ชี้จีดีพีปีนี้มีโอกาสโตถึง 3.7% เนื่องจากหลายประเทศเริ่มผละจากมาตรการรัดเข็มขัด และระบบการธนาคารเข้มแข็งขึ้น กระนั้นปัจจัยที่ยังต้องจับตาคือ การฟื้นตัวที่ไม่สม่ำเสมอและการคุกคามจากภาวะเงินฝืดในประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ต้องรับมือกับดีมานด์ภายในชะลอตัว และนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

ในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับปรับปรุงที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (21) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรษฐกิจโลกปีปัจจุบันจะขยายตัว 3.7% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว 0.1% และเทียบกับอัตรา 3.0% ในปีที่ผ่านมา สำหรับปีหน้านั้นคาดว่า อัตราเติบโตจะอยู่ที่ 3.9%

นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีที่ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโต จากที่มักปรับลดมาตลอด

โอลิวิเยร์ บลองชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ อธิบายเหตุผลหลักในการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งคราวนี้ว่า เนื่องจากอุปสรรคขัดขวางต่างๆ เป็นต้นว่า มาตรการรัดเข็มขัด เริ่มบรรเทาลง ระบบการเงินก็ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และความไม่แน่นอนได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม บลองชาร์ดเตือนว่า มีความแตกต่างกันมากระหว่างอเมริกาที่การเติบโตดูเหมือนเข้มแข็งขึ้น กับยุโรปที่การเติบโตยังคงอ่อนแอโดยเฉพาะในประเทศชายขอบด้านใต้ นอกจากนี้ การว่างงานยังสูงมากในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าส่วนใหญ่

ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในปี 2014 นี้ ส่วนใหญ่มาจากประเทศก้าวหน้า เนื่องจากตลาดเกิดใหม่ที่เคยเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2011 ถูกบีบให้ต้องปฏิรูปเพื่อรับมือภาวะเงินทุนไหลออกและความสามารถแข่งขันถดถอย

ในบรรดาประเทศก้าวหน้า ไอเอ็มเอฟคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอเมริกาจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้, ยูโรโซน 1.0% และญี่ปุ่น 1.7%

อเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มสดใสอย่างมาก หลังจากรัฐสภาตกลงร่างงบประมาณใหม่ได้ ช่วยให้รัฐบาลลดทอนการตัดการใช้จ่ายที่กดดันดีมานด์ภายในประเทศก่อนหน้านี้

ขณะที่แนวโน้มของญี่ปุ่นสดใสผิดหูผิดตาเช่นเดียวกัน โดยไอเอ็มเอฟคาดว่า มาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมจะช่วยชดเชยผลกระทบจากแผนการขึ้นภาษีการขายที่จะดำเนินการในช่วงอีกไม่กี่เดือนนี้ได้ อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นต้องมุ่งเน้นการบริโภคและการลงทุนเพื่อรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืน แทนที่จะพึ่งพิงการใช้จ่ายของรัฐบาลและการส่งออกเท่านั้น

สำหรับตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ไอเอ็มเอฟคาดว่า จีนจะขยายตัว 7.5%, อินเดีย 5.4%, รัสเซีย 2.0% และบราซิล 2.3%

กระนั้น ไอเอ็มเอฟตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตเข้มแข็งขึ้นไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากขวากหนามแล้ว เนื่องจากดีมานด์ภายในยังคงอ่อนแอ ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนานั้น ยกเว้นเพียงจีนชาติอื่นๆ มากมายยังต้องเผชิญความท้าทายจากสภาวะการเงินโลกที่เข้มงวดขึ้น ตลอดจนถึงความไม่แน่นอนด้านนโยบายและการเมือง รวมถึงอุปสรรคขัดขวางกิจกรรมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการลงทุน

ประเด็นหลักที่ไอเอ็มเอฟเป็นห่วงคือภาวะเงินฝืดในประเทศก้าวหน้า ทั้งอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังต้องฝ่าฟันปัญหาอัตราว่างงานสูงเรื้อรัง ส่งผลให้แบงก์ชาติยังควรต้องคงมาตรกรกระตุ้นขนาดใหญ่ไว้

รายงานอธิบายว่า หากผู้คนคาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะลดลง อัตราเงินเฟ้อจริงจะยิ่งต่ำกว่าคาดเสียอีก ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มภาระหนี้และดันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้พุ่งขึ้น และบ่อนทำลายการเติบโต

ไอเอ็มเอฟสำทับว่า ประเทศก้าวหน้า ซึ่งรวมถึงอเมริกา ไม่ควรรีบร้อนยกเลิกมาตรการกระตุ้นหรือเร่งขึ้นดอกเบี้ย

รายงานยังเตือนว่า ประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง โดยเฉพาะประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาล อาจถูกกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเงินทุนไหลออกในปีนี้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) กระนั้น ไอเอ็มเอฟคาดว่า เฟดจะยังไม่เริ่มขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2015

ไอเอ็มเอฟทิ้งท้ายโดยแนะนำให้ประเทศที่มีความเสี่ยงปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลง พิจารณาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น หรือเพิ่มกฎระเบียบหรือการตรวจตราเคร่งครัดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น