เอเจนซีส์ - กระทรวงกลาโหมจีนยืนยันในวันพุธ (15 ม.ค.) ว่า แดนมังกรประสบความสำเร็จในการยิงทดสอบจรวดส่งหัวรบที่มีความเร็วเหนือเสียงหลายเท่าได้เป็นชาติที่สองรองจากอเมริกา พร้อมกับยืนยันว่ามีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ไม่ได้ตั้งเป้าเล็งไปที่ชาติใดเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาอเมริกันหลายรายก็แสดงความวิตกว่าวอชิงตันขยันหั่นงบกลาโหม กระทั่งเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ล้าหลังจีนและชาติอื่นๆ
กระทรวงกลาโหมจีนได้ตอบคำถามของสำนักข่าวรอยเตอร์ทางโทรสารว่า การทดสอบจรวดส่งหัวรบสู่เป้าหมายที่มีความเร็วเหนือเสียงหลายเท่า (hypersonic missile delivery vehicle) เป็นไปตามแผนการและเป้าหมายเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ภายในดินแดนของประเทศ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ปกติ และไม่ได้มีเป้าหมายหรือพุ่งเป้าที่ประเทศใด
คำแถลงนี้เป็นการยืนยันรายงานของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ วอชิงตัน ฟรี บีคอน ที่ว่า มีการตรวจพบการทดสอบยิงยานร่อนส่งหัวรบสู่เป้าหมายที่มีความเร็วเหนือเสียงหลายเท่า (hypersonic glide vehicle) แบบ WU-14 ซึ่งมีความเร็ว มัก 10 (ความเร็วเหนือเสียง 10 เท่า) เหนือประเทศจีนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (9 ม.ค.)
ขณะที่ พ.ท.เจฟฟรีย์ พูล โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็แถลงในวันพุธเช่นกันว่า สหรัฐฯทราบเรื่องการทดสอบจรวดส่งที่มีความเร็วเหนือเสียงหลายเท่าคราวนี้ แต่ทางกระทรวงมีนโยบายที่จะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวกรองของตนหรือการประเมินระบบอาวุธของต่างชาติใดๆ กระนั้น สหรัฐฯก็ขอเรียกร้องให้ฝ่ายจีนเพิ่มความโปร่งใสให้มากขึ้น เกี่ยวการลงทุนและวัตถุประสงค์ทางด้านกลาโหมของพวกเขา ทั้งนี้เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการคำนวณที่ผิดพลาด
ในรายงานประจำปีว่าด้วยการทหารของจีน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯฉบับล่าสุด ยังไม่ได้พาดพิงถึงการที่จีนจะทำการทดสอบจรวดส่งหัวรบที่มีความเร็วระดับ “ไฮเปอร์โซนิก” (ความเร็วตั้งแต่ มัก 5 ขึ้นไป) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถเข้าโจมตีเป้าหมายระยะไกลทั่วโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงแต่ระบุว่า จีนได้สร้างอุโมงค์ลมไฮเปอร์โซนิกสำหรับใช้ในการทดสอบ
ขณะที่รายงานข่าวของ วอชิงตัน ฟรี บีคอน แจกแจงว่า จากการทดสอบของจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้แดนมังกรกลายเป็นประเทศที่ 2 ในโลกต่อจากสหรัฐฯ ซึ่งประสบความสำเร็จในการยิงจรวดส่งหัวรบสู่เป้าหมาย ด้วยความเร็วระดับ มัก 10 (หรือ 12,359 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป
ทางด้าน ส.ส.สหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน 3 คน ซึ่งคนหนึ่งคือ เฮาเวิร์ด “บัค” แมคคีโอน ประธานคณะกรรมาธิการการทหารแห่งสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแสดงความกังวลกี่ยวกับการทดสอบสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “จรวดร่อนแบบความเร็วเหนือเสียงหลายเท่าของจีน” (Chinese hypersonic cruise missile) และบอกว่าการทหารของสหรัฐฯกำลังตกอยู่ในความล้าหลัง
คำแถลงซึ่งยังร่วมลงนามโดย ส.ส.แรนดี ฟอร์บส์ และ ส.ส.ไมก์ โรเจอร์ส บอกว่า ขณะที่จีนกับชาติคู่แข่งอื่นๆ กำลังเดินหน้าเพิ่มแสนยานุภาพเพื่อให้ทัดเทียมกับอเมริกา แต่วอชิงตันกลับตัดงบประมาณกลาโหมครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งผลให้ประเทศล้าหลังในบางด้าน ดังเช่นในกรณีนี้ และสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในมหาสมุทรแปซิฟิกแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากงบประมาณของสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ยังคงพบว่ามีการให้ความสำคัญสูงกับโครงการจรวดไฮเปอร์โซนิก โดยจัดสรรงบ 200 ล้านดอลลาร์ให้แก่ 3 โครงการ ควบคู่กับการทดสอบยานไฮเปอร์โซนิกหลายครั้ง
ทางด้าน พล.ร.อ.ซามูเอล ล็อกเลียร์ ผู้บัญชาการกองทหารสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ได้แสดงความเห็นที่กรุงวอชิงตันว่า แม้การทดสอบล่าสุดสะท้อนความสามารถของปักกิ่งในการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเป็นพิเศษแต่อย่างใด
สำหรับประเด็นที่จีนอ้างสิทธิในดินแดนต่างๆ อย่างแข็งกร้าว และเพิ่มแสนยานุภาพทางทหาร ซึ่งทำให้เพื่อนบ้านในเอเชียพากันกังวลนั้น ล็อกเลียร์กล่าวถึงประเด็นนี้ระหว่างการประชุมของสมาคมเซอร์เฟซ เนวี แอสโซซิเอชันเมื่อวันพุธ (15) ว่า สิ่งสำคัญคือการชักชวนจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของนักวางแผนทางการทหารของสหรัฐฯ ที่คาดการณ์มานานแล้วว่า จีนจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลก มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และผู้สนับสนุนความมั่นคงของโลกในภายภาคหน้า
ผู้บัญชาการกองกำลังของสหรัฐฯ ในภาคพื้นแปซิฟิกยังแจกแจงถึงกรณีที่เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธ “ยูเอสเอส คาวเพนส์” ของอเมริกา เกือบชนกับเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” ของจีนในทะเลจีนใต้เมื่อต้นเดือนที่แล้วว่า เกิดจากการขาดประสบการณ์ของทหารเรือจีน และปัญหาในการสื่อสารระหว่างสองฝ่าย
ล็อกเลียร์เสริมว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ พยายามตรึกตรองสาเหตุที่นำไปสู่สถานการณ์ดังกล่าวและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับทางจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจในมุมมองของกันและกันเป็นอย่างดี
เขาทิ้งท้ายว่า ประเด็นสำคัญคือการทำให้แน่ใจว่า ทุกประเทศทั่วโลกเข้าใจว่าอเมริกาดำเนินการในน่านน้ำสากลอย่างอิสระ เป็นมืออาชีพ เคารพในประเทศอื่นๆ และในแนวทางที่ไม่เป็นอันตราย เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็น และคาดหวังว่า ประเทศอื่นๆ จะยึดถือในหลักการนี้เช่นเดียวกัน