เอเอฟพี – กูรูชี้ปี 2013 นี้จะเป็นปีแรกนับจากเริ่มต้นสหัสวรรษที่ราคาทองคำร่วง เนื่องจากดีมานด์ลดลงจากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รวมถึงการที่ “เฟด” ประกาศลดมาตรการคิวอีตอนกลางสัปดาห์ที่แล้ว คาดแนวโน้มราคาทองคำหล่นต่อจนถึงปลายปี 2014 ต่อเนื่องต้นปี 2015
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมา (20) ที่ตลาดลอนดอนยืนอยู่ที่ออนซ์ละ 1,250 ดอลลาร์ เท่ากับว่าในช่วงปี 2013 นี้ลดลงเกือบ 27% และหากไม่เกิดเหตุไม่คาดหมายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จนทำให้กลับไต่พรวดขึ้นไปแล้ว ก็ถือเป็นการยุติภาวะขาขึ้นของราคาต่อปีในตลอด 12 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ราคาทองคำนั้นมีแรงหนุนจาก 2 แหล่งหลัก ได้แก่ ความต้องการในการนำไปใช้เป็นเครื่องประดับ และความต้องการซื้อเพื่อการลงทุน ทว่าในปีนี้ ความต้องการโลหะมีค่าชนิดนี้ได้ดิ่งลงมาก ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อของโลกก็บรรเทาลง จึงทำให้ราคาต่อปีน่าจะตกลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2000 ที่มูลค่าขยับลง 5.6%
แมทธิว เทอร์เนอร์ นักวิเคราะห์ของกลุ่มการธนาคารของแมกควอรี ชี้ว่า ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังภาวะขาลงปีนี้ประกอบด้วย 2 ปัจจัยๆ แรกคือ การเทขายของนักลงทุน ดังเห็นได้จากดีมานด์ที่ดิ่งลงอย่างรุนแรงของกองทุนรวมอีทีเอฟ (exchange-traded fund) ซึ่งเปิดทางให้ผู้สนใจสามารถลงทุนในทองคำได้ โดยไม่ต้องเข้าไปซื้อขายในตลาดทองคำล่วงหน้า
เทอร์เนอร์แจงว่า ตลอดทั้งปีนี้ กองทุนอีทีเอฟ น่าจะเทขายทองคำไปรวม 840 ตัน เนื่องจากฐานะการแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัยของทองคำ เริ่มเสื่อมมนตร์ขลังจากการปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในยูโรโซนยังคงตึงเครียดอยู่ก็ตาม
ราคาทองคำยังเจอหมัดน็อกชุดใหญ่ในปีนี้ จากการคาดการณ์ที่แพร่สะพัดมากขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มชะลอโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้เดือนละหลายหมื่นล้านดอลลาร์
เดือนมิถุนายน ราคาทองคำทำสถิติต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ออนซ์ละ 1,180.50 ดอลลาร์ จากการคาดการณ์ท่าทีของเฟด ก่อนที่ราคาจะดีดกลับขึ้นมาเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯยังไม่ได้ลงมือทำอะไร
กระทั่งปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำวูบลงเกือบแตะระดับดังกล่าว หลังจากเฟดประกาศเริ่มการชะลอมาตรการคิวอีตั้งแต่เดือนหน้า
เทอร์เนอร์เสริมว่า ความต้องการทองคำลดลงนั้น มาจากเหตุผลมากมาย โดยที่การคาดการณ์เรื่องเฟดระงับคิวอี ย่อมตีความได้ต่อไปว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกบรรเทาลง ประกอบกับการที่อัตราเงินเฟ้อลดลงในประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอเมริกา สะท้อนว่า คิวอีไม่ได้ผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างที่หลายคนเคยกังวล ดังนั้น มนตร์ดึงดูดของทองคำก็เสื่อมลงไปอีก
ขณะเดียวกัน การที่เฟดประกาศเมื่อวันพุธ (18) ลดคิวอีลงเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 75,000 ล้านดอลลาร์นั้น มีแนวโน้มส่งให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาทองคำที่คิดเป็นสกุลดอลลาร์จึงแพงขึ้นสำหรับประเทศที่ใช้เงินตราสกุลอื่น และเป็นอีกปัจจัยที่ดึงให้ดีมานด์ทองคำต่ำลง
เทอร์เนอร์บอกว่า ในอีกด้านหนึ่ง ราคาทองคำยังถูกกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตว่า เหมืองแร่ทองคำทั่วโลกต่างมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ กลับซื้อทองคำเป็นทุนสำรองกันลดลง
มิหนำซ้ำ อินเดีย ประเทศซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญในด้านการซื้อทองคำไปทำเครื่องประดับ ปีนี้รัฐบาลได้ขึ้นภาษีศุลกากรทองคำถึง 3 ครั้ง เพื่อจำกัดการนำเข้าและควบคุมการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
เจมส์ เกลนน์ นักเศรษฐศาสตร์จากเนชันแนล ออสเตรเลียน แบงก์ (เอ็นเอบี) เสริมว่า ในระยะสั้นนั้น นโยบายกระตุ้นทางการเงินของเฟดจะยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนราคาทองคำที่สำคัญ โดยที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวในทางที่ดีขึ้นจะส่งเสริมการคาดการณ์ว่า เฟดจะยกเลิกคิวอี
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เอ็นเอบีคาดว่า ราคาทองคำจะลดลงอยู่ที่ออนซ์ละ 1,050 ดอลลาร์ในช่วงปลายปีหน้า/ต้นปี 2015 แต่ทางคอมเมิร์ซแบงก์กลับคาดว่า ราคาทองคำจะขึ้นไปแตะระดับ 1,400 ดอลลาร์ปลายปี 2014 เนื่องจากนโยบายการเงินทั่วโลกจะชักนำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ส่งผลให้ทองคำกลับมาได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนตะวันตกใหม่ เพื่อใช้ค้ำประกันความเสี่ยงจากกำลังซื้อที่ลดลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินอ่อนตัว
ทั้งนี้ ราคาทองทำสถิติสูงสุดที่ 1,921.15 ดอลลาร์ในเดือนกันยายน 2011 เมื่อนักลงทุนแห่ซื้อจากความกังวลว่า เศรษฐกิจโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน