ศูนย์วิจัยทองคำ ชี้เฟดคงคิวอีหนุนความเชื่อมั่นทองคำฟื้น ด้านการเมืองร้อนไม่กระทบทองโดยตรง แต่มีผลทำเงินบาทอ่อนกระทบทองคำในประเทศ
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำฟื้นตัวในเดือนพฤศจิกายน โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 55.76 จุด เพิ่มขึ้น 9.05 จุด หรือร้อยละ 19.37 เหตุกลุ่มตัวอย่างเชื่อเฟดคงคิวอีต่อถึงปีหน้าหนุนราคาทองระยะสั้น ซึ่งสอดคล้องทั้งกลุ่มผู้ลงทุน และกลุ่มผู้ค้า เพราะเมื่อมองดัชนีแยกกลุ่มพบว่า เป็นเชิงบวกทั้ง 2 กลุ่ม ขณะปัจจัยเดือนพฤศจิกายนพบว่า ตัวอย่างยังเชื่อคงคิวอียังหนุนทองโลก ส่วนประเด็นการเมืองในประเทศ ไม่น่ากระทบต่อราคาทองคำโดยตรง แต่อาจจะส่งผลค่าเงินบาทมีทิศทางที่อ่อนค่ากว่าในระดับปัจจุบัน เพราะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือนสอดคล้องกัน โดยสะท้อนทัศนคติเชิงบวก ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 56.45 จุด เพิ่มขึ้นจากการจัดทำเดือนตุลาคม 8.19 จุด หรือร้อยละ 16.97 ส่วนคำถามว่านักลงทุนจะซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้าหรือไม่ พบว่าร้อยละ 35.32 ของกลุ่มตัวอย่างจะซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้า ร้อยละ 39.73 คิดว่าจะยังไม่ซื้อทองคำ และร้อยละ 24.95 ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อหรือไม่
นายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย เปิดเผยบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำที่รวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าส่งทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ 11 ตัวอย่าง เชื่อว่าราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนพฤศจิกายนโดยรวมน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,250-1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่ากรอบราคาต่ำสุดในเดือนพฤศจิกายนน่าจะอยู่ในช่วง 1,270-1,280 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่กรอบสูงสุดน่าจะอยู่ในกรอบ 1,360-1,380 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาจะเคลื่อนไหวระหว่าง 18,500-20,700 บาท และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 18,900-19,100 บาท และมีกรอบการเคลื่อนไหวสูงสุดบริเวณ 20,400-20,700 บาท โดยมีประเด็นเรื่องการคงนโยบายคิวอี การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยเฉพาะผลกระทบจากประเด็นการเมือง การเก็งกำไรในตลาดทองคำ และความต้องการทองคำในช่วงปลายปีเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาทองคำ
นอกจากนี้ กรอบเวลาการชะลอมาตรการคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กลุ่มผู้ค้ามีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยผู้ค้า 5 ท่านคาดว่า เฟดจะชะลอมาตรการในช่วงปลายไตรมาสแรกของปีหน้า ขณะที่ 4 ท่านคาดว่า น่าจะชะลอในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี และมี 2 ท่านที่คาดว่า จะชะลอมาตรการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 โดยให้เหตุผลว่าเฟดน่าจะรอการตัดสินใจเรื่องเพดานหนี้ก่อนจะพิจารณาชะลอมาตรการคิวอีต่อไป