ศูนย์วิจัยทองฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นทองคำในเดือน ส.ค. ฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ผู้ซื้อมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น แนะจับตาสหรัฐฯ ถอน “คิวอี” ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางราคาในช่วงถัดไป คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,150-1,420 ดอลลาร์/ออนซ์
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ระดับ 53.35 จุด ฟื้นตัวเหนือระดับ 50 จุด ที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานของดัชนีครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 45.50 จุด ต่อมา ในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 32.91 จุด และในเดือน ก.ค.อยู่ที่ 33.77 จุด สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาทองคำมีโอกาสฟื้นตัวหลังราคาปรับตัวลดลงติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำกลับสวนทางความต้องการที่จะซื้อทองคำในเดือน ส.ค.นี้ ของกลุ่มตัวอย่างที่ยังไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงความไม่แน่ใจของการฟื้นตัว
สำหรับดัชนีแยกตามกลุ่มตัวอย่าง พบว่า มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยระดับความเชื่อมั่นอยู่เหนือ 50 จุดเล็กน้อย ทั้งกลุ่มนักลงทุน และกลุ่มผู้ค้าทองคำ ซึ่งค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 52.78 จุด และ 57.36 จุดตามลำดับ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นในระยะ 3 เดือนข้างหน้า จะมีการฟื้นตัวเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 55.47 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.86 จุด หรือ 24.19% สะท้อนทัศนคติเชิงบวกในระยะกลาง
ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าจะมีผลต่อทิศทางราคาทองคำในเดือน ส.ค.นี้ ได้แก่ การชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินบาท โดยให้น้ำหนักกับการชะลอ QE สูงสุดอยู่ที่ 49.72%
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามความต้องการซื้อทองคำในช่วงถัดไป พบว่า 30.93% ของกลุ่มตัวอย่าง คาดว่าจะซื้อทองคำ ขณะที่ 34.81% คาดว่าจะไม่ซื้อ และ 34.26% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ แต่เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติเชิงบวกต่อราคามากขึ้น แต่ยังไม่แน่ใจต่อการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำทำให้สัดส่วนต่อการซื้อมีการกระจายตัว และไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับดัชนี
นายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า ผู้ค้าทองคำมีความคิดเห็นว่าราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือน ส.ค.โดยรวมน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,150-1,420 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาต่ำสุดในเดือน ส.ค.น่าจะอยู่ในช่วง 1,226-1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่กรอบสูงสุดอยู่ที่ 1,226-1,350 ดอลลาร์/ออนซ์ (จากกลุ่มตัวอย่างของผู้ค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 11 ตัวอย่าง)
ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาจะเคลื่อนไหวระหว่าง 17,000-21,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดให้น้ำหนักระหว่าง 18,000-18,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวสูงสุดจะอยู่ที่ 20,000-20,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการชะลอมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นแรงกดดันสำคัญ ขณะที่ความผันผวนของค่าเงินบาทเชื่อว่าจะยังกระทบต่อราคาทองคำในประเทศเดือนนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังต้องติดตามการขายกองทุนขนาดใหญ่ การเก็งกำไรในตลาด และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน