ศูนย์วิจัยทองคำเผยปีนี้นักลงทุนใช้เงินออมลงทุนทองคำในสัดส่วนเฉลี่ยลดลงเหลือร้อยละ 22.31% จากความไม่เชื่อมั่นราคาทองคำในอนาคต อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นทองคำเดือนมิถุนายนยังสะท้อนในทิศทางลบ หลังราคาปรับตัวลงมาตลอด 5 เดือน นอกจากนี้ ปัจจัยค่าเงินบาท และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังช่วยกดดันคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,300-1,500 ดอลลาร์ สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 20,000-21,500 บาท
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยถึงผลสำรวจสัดส่วนการลงทุนในทองคำกับเงินออมเพื่อการลงทุนของกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างจะลดสัดส่วนการลงทุนทองคำเหลือเฉลี่ย 22.31% ในขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ 34.33% ลดลง 12.02% เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นต่อราคาทองคำ หลังจากปรับตัวลดลงมาเป็นเวลากว่า 5 เดือน ทั้งนี้ กลุ่มผู้ค้าทองคำแนะนำให้ลงทุนประมาณ 10-20% ของเงินลงทุน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) ช่วงเดือนมิถุนายน พบว่า ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่ระดับ 50 จุดค่อนข้างมาก ทั้งดัชนีรวม ดัชนีเฉพาะกลุ่มนักลงทุน และดัชนีกลุ่มผู้ค้าทองคำโดยมีค่าดัชนี 32.91, 31.39 และ 39.80 จุด ตามลำดับ สะท้อนทัศนคติเชิงลบ โดยค่าความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนมิถุนายนมีค่าต่ำกว่าระดับเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจเกิดจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำในช่วง 5 เดือนแรกของปี ทำให้ความมั่นใจว่าราคาทองจะสามารถกลับขึ้นไปเป็นเชิงบวกอาจลดน้อยลง
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางราคาทองคำได้แก่ ค่าเงินบาทซึ่งเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากที่สุด ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาเศรษฐกิจยุโรป โดยร้อยละ 53.39 ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อเงินบาทมีผลต่อราคาทองคำในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความต้องการซื้อทองคำในช่วงหนึ่งถัดไป พบว่า 38.85% ของกลุ่มตัวอย่าง คาดว่าจะซื้อทองคำ ขณะที่ 33.45% คาดว่าจะไม่ซื้อ และ 27.70% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อหรือไม่ ซึ่งบ่งบอกภาวะไม่แน่นอนของตลาดในอนาคต
ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย เปิดเผยบทสรุปความเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) ที่รวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 15 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ประกอบการเชื่อว่าราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงเดือนมิถุนายนโดยรวมจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,300-1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ให้น้ำหนักกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1,300-1,380 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และ 1,420-1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หากราคามีการปรับตัวขึ้น
ในส่วนของทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนัก 20,000-21,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 18,500-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำโดยมีประเด็นค่าเงินบาท และการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐฯ เป็นประเด็นสำคัญในเดือนมิถุนายน