xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเดินเรือ ‘เวียดนาม’ ถูกตัดสินประหาร

เผยแพร่:   โดย: แมค ลัม

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Vietnam shipping execs get death for embezzlement
By Mac Lam
18/12/2013

ศาลเวียดนามพิพากษาลงโทษประหารชีวิต 2 ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจเดินเรือทะเล “วีนาไลน์” ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ท่ามกลางกระแสความโกรธเกรี้ยวของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาดในแวดวงราชการ

ศาลเวียดนามพิพากษาลงโทษประหารชีวิต 2 ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจเดินเรือทะเล “วีนาไลน์” ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ท่ามกลางกระแสความโกรธเกรี้ยวของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาดในแวดวงราชการ

ในการไต่สวนพิจารณาคดีที่ใช้เวลา 4 วัน ศาลประชาชนกรุงฮานอยตัดสินว่า เซือง จี หยุง (Duong Chi Dung) อดีตประธานของรัฐวิสาหกิจเดินเรือทะเล “วีนาไลน์” (Vinalines) ผู้ซึ่งได้หลบหนีออกนอกประเทศแต่ถูกตามจับตัวกลับมาได้ และ มาย วัน ฟุค (Mai Van Phuc) อดีตกรรมการผู้จัดการ มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นมูลค่าคนละ 476,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่ทนายความที่รับหน้าที่แก้คดีให้ หยุง และ ฟุค กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเวียดนาม (RFA's Vietnamese Service) แสดงความข้องใจเกี่ยวกับหลักฐานซึ่งใช้ในการยืนยันความผิดและลงโทษลูกความของเขา

สำหรับจำเลยคนอื่นๆ อีก 8 คน ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกระหว่าง 4 ปีถึง 22 ปี ในความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น หรือความผิดทางอาญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำนักข่าวเอพีได้อ้างคำแถลงของประธานศาล โง ถิ แอ็งห์ (Ngo Thi Anh) ซึ่งบอกว่า การที่พิพากษาลงโทษอย่างหนักเช่นนี้ ก็ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเป็นการส่งข้อความไปถึงพวกเจ้าหน้าที่ทุจริตทั้งหลาย

“จำเลยทั้งหมดต่างเป็นสมาชิกพรรคและเป็นผู้ปฏิบัติงานของพรรค รวมทั้งมีผลงานอันยอดเยี่ยมมากมาย ทว่าพวกเขากลับกระทำความชั่วและเจตนาละเมิดระเบียบกฎเกณฑ์ของรัฐในเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจ” เธอกล่าวขณะประกาศคำตัดสิน

หยุง และ ฟุค มีเวลา 14 วันในการขออุทธรณ์คำพิพากษา แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้ว่าพวกเขาจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่

หยุง นั้นได้หลบหนีออกนอกประเทศหลังจากกรณีอื้อฉาวเรื่องนี้ถูกเปิดโปงในเดือนพฤษภาคม 2012 ตอนที่บริษัทประสบภาวะหมดความสามารถในการชำระหนี้สินซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เขาถูกจับตัวได้ในเดือนกันยายนปีที่แล้วขณะอยู่ในกัมพูชา และจากนั้นก็ถูกส่งตัวกลับบ้านในฐานะเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

ตามรายงานของสำนักข่าวเตื่อย แจ๋ (Tuoi Tre news) ของทางการ การลงโทษประหารชีวิตในคดีนี้ สืบเนื่องจากความผิดซึ่งพัวพันกับการที่ หยุง ตัดสินใจเมื่อปี 2007 ที่จะจัดซื้ออู่ลอยน้ำซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดเสียหายแล้ว จากบริษัทรัสเซียที่ชื่อ นาฮ็อดคา (Nakhodka) โดยเขาอ้างว่าอู่ลอยน้ำนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานของส่วนงานอู่ซ่อมเรือ

อู่ลอยน้ำแห่งนี้ วีนาไลน์จัดซื้อผ่านทางบริษัท เอพี คอมพานี (AP Company) ของสิงคโปร์ในราคา 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งๆ ที่บริษัทนายหน้าสิงคโปร์รายนี้ไปทำข้อตกลงซึ่งชำระเงินค่าอู่ลอยน้ำให้แก่นาฮ็อดคา เพียงแค่ 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น

เตื่อย แจ๋ รายงานว่า หยุงแอบยักยอกเงินงบประมาณของรัฐบาลที่ใช้ในการจัดซื้ออู่ลอยน้ำนี้เข้ากระเป๋าตัวเองเป็นเงินมากกว่า 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่เมื่อนำเอาค่าจัดซื้อมาบวกกับค่าซ่อมแซมและค่าขนส่งจากรัสเซียแล้ว ก็ทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินของเวียดนามรวม 17.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพี ได้รายงานคำพูดของประธานศาล โง ถิ แอ็งห์ ที่แถลงในศาลว่า “พฤติกรรมของ หยุง ถือว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องอย่างร้ายแรงเป็นพิเศษ”

“การหลบหนีคดียังเป็นการแสดงให้เห็นว่า เขาต้องการที่จะหลบเลี่ยงไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบของตน” ประธานแอ็งห์ ระบุ

**จำเลยอ้างว่าตนเองบริสุทธิ์**

ระหว่างการไต่สวนพิจารณาคดี หยุง ยืนยันโดยตลอดว่าตนเองบริสุทธิ์ โดยให้การต่อศาลว่า เขา “ไม่ได้รับเงินอะไรทั้งสิ้น” และ “ถูกกล่าวหาอย่างไม่ถูกต้อง” ถึงแม้เขายอมรับว่า เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับกรณีอื้อฉาวเรื่องหนี้สินของวีนาไลน์ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

ทางด้าน เจิ่น ดิ่ง เจียน (Tran Dinh Trien) ทนายจำเลย บอกกับวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเวียดนามในวันอังคาร (17 ธ.ค.) ว่า หลักฐานที่นำมาใช้เล่นงานลูกความของเขานั้นไม่มีความหนักแน่นเลย

เจียน ระบุว่า ตามเอกสารที่ยื่นต่อศาลนั้น สัญญาที่ลงนามกันระหว่างบริษัทเอพีของสิงคโปร์ กับ นาฮ็อดคา ของรัสเซีย ในเดือนกรกฎาคม 2007 มีการ “ระบุถึงเงินสำหรับจ่ายให้บุคคลที่สามเป็นจำนวน 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” ก็จริงอยู่ ทว่าในสัญญาระหว่างเอพีกับวีนาไลน์นั้น ไม่ได้มีการเอ่ยถึงเงินจำนวนนี้เลย

เขาบอกว่า เขาได้แจ้งต่อศาลแล้วว่า เงินจำนวนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสัญญาการลงทุนในอีกโครงการหนึ่งที่เมืองไฮฟอง (Hai Phong) และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออู่ลอยน้ำนี้ แต่เขากล่าวว่า ศาลปฏิเสธไม่รับฟังข้อโต้แย้งของเขา

ส่วน อัยการ บุ่ย กวาง เหงียม (Bui Quang Nghiem) ซึ่งติดตามคดีนี้มาตลอด บอกกับวิทยุเอเชียเสรีว่า พวกที่ช่วยเหลือ หยุง ให้สามารถหลบหนีออกนอกประเทศ โดยเป็นผู้ที่แอบบอกเขาในวันที่เจ้าหน้าที่วางแผนเข้าจับกุมเขานั้น ควรจะต้องถูกสอบสวนความผิดด้วย

“ถ้าหากไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน (กับการที่ หยุง หลบหนีออกนอกประเทศ) แล้ว เราก็จำเป็นจะต้องพูดกันในเรื่องความรับผิดชอบดังกล่าวเหล่านี้” เขาบอก “แต่ถ้ามีการสืบสวนสอบสวนขยายผล และมีการไต่สวนพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวข้องโยงใยไปถึงพวกที่ช่วย หยุง หลบหนี (คนหนึ่งที่ถูกระบุว่าช่วยเหลือเรื่องนี้คือ น้องชายของเขาที่ชื่อ เซือง ตู๋ จง Duong Tu Trong) การที่ หยุงปฏิเสธไม่ขอตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ในศาล ก็จะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้”

ทั้งนี้ ในระหว่างการไต่สวนพิจารณาคดีของเขาในช่วงแรกๆ นั้น หยุง ยอมรับว่า จง น้องชายของเขา (ผู้ซึ่งในเวลานั้นมีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครไฮฟอง) ได้ช่วยเหลือเขาในการหลบหนี แต่แล้วเขาปฏิเสธไม่ยอมเปิดเผยในศาลว่า ใครคือผู้ที่โทรศัพท์มาเตือนเขาว่ากำลังจะถูกจับกุมแล้ว โดยมีการพูดกันว่านี่เป็นข้อมูลที่พัวพันเกี่ยวข้องกับคดีอีกคดีหนึ่งที่จะมีการไต่สวนพิจารณากันต่อไป

เหงียม บอกว่า แม้กระทั่งในกรณีที่ หยุง กับ ฟุค ยื่นอุทธรณ์ แล้วศาลระดับสูงขึ้นไปยังคงพิพากษายืน ก็ไม่น่าที่จะมีการดำเนินการประหารชีวิตในทันที เนื่องจากต้องรอให้การไต่สวนพิจารณาคดีอื่นที่กล่าวถึงกันนี้เสร็จสิ้นไปก่อน

**ทุจริตคอร์รัปชั่นดาษดื่น**

การไต่สวนพิจารณาคดีของ หยุง กับ ฟัค คราวนี้ เป็นเสมือนบททดสอบสำคัญต่อคำมั่นสัญญาของรัฐบาลเวียดนาม ที่ว่าจะต่อสู้กับการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ซึ่งเวลานี้รวมกันแล้วเป็นผู้รับผิดชอบเงินทุนทางเศรษฐกิจและทรัพย์สินของประเทศประมาณสองในสามทีเดียว

เมื่อปี 2010 ได้เคยเกิดกรณีฉาวโฉ่ทำนองเดียวกันนี้ที่รัฐวิสาหกิจอู่ต่อเรือซึ่งมีชื่อว่า วีนาชิน (Vinashin) ตอนนั้นรัฐวิสาหกิจแห่งนี้เกือบๆ ล้มละลายเต็มทีเนื่องจากมีภาระหนี้สินเกือบๆ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และก็ทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ ในเวียดนามไปด้วย

วีนาไลน์ ได้เข้าเทคโอเวอร์โครงการจำนวนมากของ วีนาชิน และก็ถูกกล่าวหาว่าบริหารจัดการด้วยความผิดพลาดเช่นเดียวกัน

หลังจากมีประชาชนแสดงความเกรี้ยวโกรธกันมากเกี่ยวกับกรณีของวีนาชิน รัฐบาลได้ออกมายอมรับว่า นายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋น หยุง (Nguyen Tan Dung) เป็นผู้ที่มีบทบาทในการปล่อยให้รัฐวิสาหกิจแห่งต่างๆ รวมทั้ง วีนาชิน ด้วย เกิดการบริหารจัดการที่ผิดพลาดขึ้นมา แต่ก็ระบุด้วยว่า “ความบกพร่องและความผิดพลาด” ที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้ ยังไม่ได้ร้ายแรงถึงระดับที่ต้องดำเนินการลงโทษทางวินัย

ทั้งนี้ในคดีของวีนาชิน ซึ่งมีการประโคมข่าวกันอย่างเกรียวกราว ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น 9 คนถูกตัดสินในปี 2012 ให้รับโทษจำคุกระยะยาว ในความผิดฐานเจตนาละเมิดกฎระเบียบของรัฐ

เวียดนามนั้นถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตร้ายแรงที่สุดของโลก และเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ประชาชนคนสามัญมีความเป็นห่วงสูงที่สุด ทั้งนี้ประชาชนมองว่าพฤติการณ์ที่เห็นเกลื่อนกลาดนี้ กำลังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจไม่หยุดไม่หย่อน

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมานี้เอง ก็มีอดีตนายแบงก์ของธนาคารรัฐแห่งใหญ่แห่งหนึ่ง พร้อมกับหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขาคนหนึ่ง ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต ในความผิดฐานยักยอกเงินแผ่นดินเป็นจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แมค ลัม (Mac Lam ) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ให้แก่ วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเวียดนาม (Radio Free Asia's Vietnamese Service) โจชัว ลิปส์ (Joshua Lipes) เป็นผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น