xs
xsm
sm
md
lg

คลังอียูเห็นพ้องตั้งสหภาพธนาคาร-อวสานมาตรการอัดฉีดอุ้มแบงก์เน่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงจัดตั้งสหภาพการธนาคาร เพื่อถ่ายโอนอำนาจให้บรัสเซลส์ในการป้องกันไม่ให้แบงก์เน่าสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม ยุติการอัดฉีดความช่วยเหลือก้อนใหญ่ ตลอดจนปกป้องไม่ให้ผู้เสียภาษีทั่วอียูต้องแบกรับผลพวงจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในภาคธนาคาร

ไมเคิล บาร์นิเออร์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการฝ่ายตลาดการเงินของสหภาพยุโรป กล่าวเมื่อวันพุธ (18) ภายหลังการเจรจานานถึง 12 ชั่วโมงว่า ข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป เพื่อให้ภาคธนาคารสามารถกลับมาปล่อยกู้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพื่อกระตุ้นการเติบโตและการจ้างงาน

ในการประชุม บรรดารัฐมนตรีคลังอียูตกลงยอมรับสิ่งที่เรียกว่า “กลไกแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จหนึ่งเดียว” (Single Resolution Mechanism - SRM) ซึ่งจะทำการปิดสถาบันการเงินในประเทศสมาชิกที่มีการดำเนินงานล้มเหลว ก่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อส่วนรวมอย่างรุนแรง โดยจะมีการก่อตั้งสหภาพการธนาคารควบคู่กับกลไกการตรวจสอบที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ตั้งอยู่ในนครแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี

สำหรับองค์ประกอบสุดท้ายคือ การสร้าง “ระบบรับประกันเงินฝากร่วม” นั้น เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันอังคาร (17) ภายหลังได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภายุโรป

ทั้งนี้ แนวคิดในการก่อตั้งสหภาพการธนาคารริเริ่มขึ้นเพื่อรับมือวิกฤตการเงิน และวิกฤตหนี้เน่าที่ทำให้แบงก์หลายแห่งล้ม และเกือบทำให้กลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลัก เกือบต้องล่มสลายเนื่องจากต้องอัดฉีดรัฐบาลหลายประเทศที่เข้าช่วยเหลือแบงก์ของตน เช่น กรณีของรัฐบาลสเปน

กรอบโครงล่าสุดนี้เป็นการมอบอำนาจให้แก่อียู โดยเฉพาะ 17 ประเทศสมาชิกยูโรโซนที่จะต้องอยู่ภายใต้กลไกใหม่ ขณะที่สมาชิกอียูที่เหลือสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่

ในส่วนประเด็นขัดแย้งสำคัญคือ ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการสั่งปิดแบงก์ และกลไกในการจ่ายเงินชดเชยนั้น ล่าสุดดูเหมือนจะโอนอ่อนไปตามแนวทางของเยอรมนีที่เสนอให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ เป็นผู้ตัดสินใจ ขณะที่ฝรั่งเศสต้องการมอบอำนาจดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการยุโรป

แผนการนี้ยังเรียกร้องให้ธนาคารต่างๆ ทั่วอียูยอมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนพิเศษภายใน 10 ปี เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการปิดแบงก์ และแบ่งเบาภาระของผู้เสียภาษี

อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่า กองทุนนี้อาจจะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับการแทรกแซงขั้นสุดท้ายในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยมีการหารือกันอ้อมๆ ว่า จะหาเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากที่ใด ซึ่งที่สุดแล้ว เหล่ารัฐมนตรีคลังอียูตกลงกันว่า ประเทศสมาชิกอาจต้องรับผิดชอบในการอัดฉีด หรือใช้เงินจากกลไกรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Stability Mechanism) ของยูโรโซนในการขับเคลื่อนมาตรการนี้

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอียูยังระบุว่า การขอความช่วยเหลือจากอีเอสเอ็มจำเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการที่มีอยู่ นั่นคือกำหนดเงื่อนไขที่ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลเบอร์ลินภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล ผลักดันมาโดยตลอด

เมื่อการดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2025 คาดว่า กองทุนเพื่อการปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหาของอียูจะมีมูลค่า 55,000 ล้านยูโร ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับแพ็กเกจอัดฉีดแบงก์ที่มีปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้สามารถระดมทุนเพิ่มเติมหากจำเป็น แต่ในกรณีปกติ เงินสมทบจะมาจากภาคการธนาคารเท่านั้น

หลังจากผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีคลังอียูแล้ว ข้อตกลงนี้จะถูกส่งต่อให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ (อียู ซัมมิต) ที่จะเปิดฉากในวันพฤหัสฯ และศุกร์ (19-20) นี้พิจารณาและอนุมัติต่อไป เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภายุโรป ซึ่งคาดว่าจะมีการอภิปรายอย่างเข้มข้นก่อนเริ่มต้นดำเนินการตามที่กำหนดไว้ภายในปี 2015
กำลังโหลดความคิดเห็น