xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คลัง EU บรรลุข้อตกลงตั้ง “สหภาพธนาคาร” ปฏิวัติระบบการเงินยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – บรรดารัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงจัดตั้งสหภาพธนาคาร (Banking Union) ซึ่งจะให้อำนาจแก่บรัสเซลส์ในการป้องกันไม่ให้ธนาคารที่ล้มเหลวฉุดรั้งเศรษฐกิจของยุโรปจนล้มครืนลงไปทั้งหมด แหล่งข่าวใกล้ชิดเผยวานนี้(18)

รัฐมนตรีอียูลงมติเห็นพ้องอย่างเป็นทางการต่อสิ่งทีเรียกว่า “กลไกแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จหนึ่งเดียว” (Single Resolution Mechanism - SRM) ซึ่งจะอนุมัติให้มีการสั่งปิดธนาคารที่ใกล้ล้ม ก่อนจะนำความเสียหายมาสู่เศรษฐกิจมากเกินไป

นอกจากตั้งสหภาพธนาคารแล้ว รัฐมนตรีอียูยังเห็นชอบให้มีการตั้งองค์กรที่ปรึกษาซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางแห่งยุโรป

องค์ประกอบสุดท้ายซึ่งก็คือ มาตรการประกันเงินฝากร่วมเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (17) ภายหลังผ่านความเห็นชอบจากสภายุโรป

“วันนี้เป็นวันสำคัญสำหรับสหภาพธนาคาร... เราได้ปฏิวัติระบบธนาคารของยุโรปเสียใหม่เพื่อปกป้องประชาชนผู้เสียภาษีทั้งหลายจากวิกฤตการเงิน และปิดฉากยุคสมัยแห่งการทุ่มเงินก้อนใหญ่เพื่ออุ้มธนาคารที่ล้มเหลว” มิเชล บาร์นิเยร์ กรรมาธิการด้านตลาดการเงินของอียู แถลงหลังเสร็จสิ้นการเจรจานานกว่า 12 ชั่วโมง

สหภาพธนาคารถือเป็นมาตรการตอบสนองวิกฤตการเงินและหนี้สินซึ่งบีบให้ธนาคารในยุโรปหลายแห่งต้องปิดตัวลง และเกือบทำให้ยูโรโซนไปไม่รอดเพราะการที่รัฐต้องเข้าไปอุ้มหนี้เสียของธนาคาร

17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรมีพันธกรณีที่จะต้องเข้าร่วมกับสหภาพธนาคาร ส่วนสมาชิกชาติอื่นๆ ในอียูสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่

ประเด็นสำคัญซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงโดยเฉพาะกับฝรั่งเศสและเยอรมนี ก็คือ หน่วยงานใดจะมีอำนาจสั่งการขั้นสุดท้ายให้ปิดธนาคารใดธนาคารหนึ่ง และจะมีกระบวนการชดเชยอย่างไร ซึ่งเบอร์ลินนั้นเห็นว่าควรจะเป็นอำนาจของรัฐบาลแต่ละประเทศ ขณะที่ปารีสต้องการให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจตัดสินใจมากกว่า

ข้อตกลงยังกำหนดให้ธนาคารต่างๆ ต้องเจียดวงเงินสนับสนุนกองทุนพิเศษเพื่อจ่ายชดเชยในกรณีที่มีการสั่งปิดธนาคาร โดยจะเริ่มดำเนินการทีละน้อยไปตลอด 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้พลเมืองผู้เสียภาษีไม่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป และเมื่อถึงปี 2025 กองทุนเอสอาร์เอ็มก็จะมีเงินสำรองอยู่ราว 55,000 ล้านยูโร ซึ่งถือว่าไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินที่เคยใช้อุ้มธนาคารต่างๆ มาในอดีต

อย่างไรก็ดี กองทุนที่ว่านี้จะยังมีเงินไม่เพียงพอสำหรับแทรกแซงขั้นสุดท้าย (backstop) ในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งรัฐมนตรีอียูก็เสนอว่า ในกรณีฉุกเฉินอาจจะต้องใช้วิธีระดมทุนจากประเทศสมาชิก หรือดึงมาจากกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) ของกลุ่มยูโรโซน
กำลังโหลดความคิดเห็น