เอเจนซีส์ - สหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ยูเครน ซึ่งอาจรวมถึงการคว่ำบาตร หลังรัฐบาลประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ใช้กำลังปราบผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (11)
เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “เรากำลังพิจารณานโยบายทางเลือกต่างๆ และยังไม่มีการตัดสินใจแน่นอน การคว่ำบาตรอาจเป็นหนทางหนึ่ง แต่ดิฉันไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียด”
“มีหลากหลายวิธีที่เราสามารถกระทำได้ แต่คงยังไม่ถึงเวลา”
ในช่วงไม่กี่วันมานี้ วอชิงตันได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การประท้วงรัฐบาลในกรุงเคียฟ พร้อมเรียกร้องให้ประธานาธิบดียานูโควิชฟังเสียงประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลลงนามความร่วมมือเพื่อผูกสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู)
วิกตอเรีย นูแลนด์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกรุงเคียฟเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่กี่วัน และยังประกาศท่าทีสนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วงด้วยการนำเค้กและคุกกี้ไปแจกด้วย
“เราควรสนับสนุนความสามารถของพวกเขาในการแสดงความคิดเห็นของตน ตลอดจนความพยายามที่จะรวมเป็นหนึ่งกับอียู... หลักประชาธิปไตยที่เรายึดมั่น ซึ่งรวมไปถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันตินั้น ถือเป็นสิทธิสากล” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
นูแลนด์ ยังฝากคำเตือนไปยังรัฐบาลยูเครนอย่างจริงจังว่า ยูเครนจำเป็นต้องกลับไปเจรจาหารือกับยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อยืนยันว่าพวกเขา “จะให้ความยุติธรรมและศักดิ์ศรีต่อพลเมืองยูเครน”
ขณะเดียวกัน ชัค เฮเกล นายใหญ่เพนตากอน ก็ได้ต่อโทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีกลาโหมยูเครน แพฟโล เลเบเดฟ เพื่อเตือนไม่ให้รัฐบาลนำทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วง “ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม” พร้อมขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น
การประท้วงครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน หลังจากยานูโควิชกลับลำไม่ยอมลงนามข้อตกลงผูกพันร่วมสมาคมทางด้านการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป (อียู) อันจะทำให้อดีตประเทศสมาชิกสหภาพโซเวียตแห่งนี้โน้มเอียงไปทางตะวันตกมากขึ้น และเป็นการสูญเสียอย่างสำคัญสำหรับรัสเซียที่เคยควบคุมและมีอิทธิพลอย่างมากต่อยูเครนมาหลายร้อยปี
เมื่อวานนี้ (11) นายกรัฐมนตรี มีโคลา อาซารอฟ แห่งยูเครน แถลงว่า ตนได้บอกกับผู้นำยุโรปแล้วว่า ยูเครนพร้อมจะลงนามข้อตกลงดังกล่าวต่อเมื่อบรัสเซลส์อัดฉีดเงินกู้ให้ 20,000 ล้านยูโร พร้อมสัญญาว่า ในการหารือกับเจ้าหน้าที่รัสเซียวันที่ 17 ธันวาคมนี้จะไม่มีการเจรจาเข้าร่วมสหภาพศุลกากรกับมอสโก ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายต่อต้านกังวล
อย่างไรก็ดี โอลิวิเยร์ เบลลีย์ โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ได้ประกาศถ้อยแถลงตอบโต้จากกรุงบรัสเซลส์อย่างรวดเร็วว่าอียูจะไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “สงครามประมูลซื้อ” อนาคตของยูเครน