xs
xsm
sm
md
lg

กรณี US สอดแนมครอบงำซัมมิต EU ‘แมร์เคิล’ เข้มใส่ ‘โอบามา’ ยัวะถูกดักฟัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ที่เริ่มต้นในวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.) ถูกครอบงำด้วยกรณีที่สหรัฐฯ ถูกเปิดโปงว่าแอบดักฟังโทรศัพท์ของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ตลอดจนของชาวฝรั่งเศสหลายสิบล้านคน โดยแหล่งข่าวทางการทูตแย้มผู้นำแดนดอยช์และเมืองน้ำหอมนัดถกเรื่องนี้ นอกจากนั้นมีข่าวว่า ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ยังเตรียมผลักดันเข้าสู่การหารือในที่ประชุมซัมมิตด้วย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมันก็เรียกเอกอัครราชทูตอเมริกันมาประท้วง

แหล่งข่าวในวงการทูตฝรั่งเศสเผยว่า แมร์เคิล กับ ออลลองด์ นัดหารือกันนอกรอบระหว่างการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (อียู) ที่เริ่มต้นขึ้นวันพฤหัสบดี (24) และขณะนี้ถูกครอบงำด้วยการสอดแนมสุดอื้อฉาวของอเมริกา

ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน แมร์เคิลได้โทรศัพท์ไปหาประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เพื่อเตือนว่า หากรายงานจากแดร์ ชปีเกล หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อดังของแดนดอยช์ ที่ระบุว่า อเมริกาดักฟังโทรศัพท์มือถือของเธอเป็นความจริง จะถือเป็นการละเมิดความไว้วางใจระหว่างพันธมิตร

คำแถลงของฝ่ายเบอร์ลินยังระบุว่า แมร์เคิลกล่าวชัดถ้อยชัดคำกับโอบามาว่า รับไม่ได้กับการกระทำดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้วอชิงตันชี้แจงอย่างละเอียดทันที

นอกจากนั้น กิโด เวสเตอร์เวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ยังเรียกจอห์น บี. เอเมอร์สัน เอกอัครราชทูตอเมริกันเข้าพบในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี เพื่อชี้แจงจุดยืนของรัฐบาลในการต่อต้านการสอดแนมของวอชิงตัน การประท้วงเช่นนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติมากระหว่างสองชาติที่เป็นพันธมิตรกันมาหลายสิบปี

ด้านโฆษกทำเนียบขาว เจย์ คาร์นีย์ แก้ต่างว่า อเมริกาไม่ได้ดักฟังแมร์เคิลอยู่ในขณะนี้และจะไม่ดักฟังในอนาคต แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ว่า ที่ผ่านมาอาจมีการสอดแนมการสื่อสารของผู้นำเยอรมนี
สหรัฐฯถูกเปิดโปงว่า แอบดักฟังโทรศัพท์ของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี
ถึงแม้หน่วยงานข่าวกรองอเมริกาและเยอรมนีมีความร่วมมือกันใกล้ชิดในการต่อต้านการก่อการร้ายและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจารกรรม แต่การเปิดโปงล่าสุดก็บั่นทอนความไว้ใจเป็นการส่วนตัวและความร่วมมือกันระหว่างโอบามาและแมร์เคิล ทั้งนี้การที่นายกฯหญิงผู้นี้เติบโตมาในเยอรมนีตะวันออก ซึ่งทางการคอมมิวนิสต์ที่นั่นสอดแนมพลเมืองอยู่เป็นประจำ ดูจะทำให้เธอฝังใจรังเกียจพฤติการณ์เช่นนี้ นอกจากนั้นแล้วชาวเยอรมันยังมีอดีตที่เจ็บช้ำจากการใช้อำนาจในทางมิชอบของหน่วยงานความมั่นคงในยุคนาซี

การเปิดโปงว่า อเมริกาสอดแนมไม่เลือกทั้งมิตรและศัตรูทั่วโลกเช่นนี้ มาจากข้อมูลที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) นำออกมาเปิดเผย และทำให้วอชิงตันกินแหนงแคลงใจกับพันธมิตรสำคัญหลายชาติ ตั้งแต่บราซิลไปจนถึงซาอุดีอาระเบีย

ต้นสัปดาห์นี้ วอชิงตันปฏิเสธว่า รายงานจากหนังสือพิมพ์เลอ มงด์ ของฝรั่งเศสที่ระบุว่า อเมริกาดักฟังโทรศัพท์ชาวฝรั่งเศสหลายสิบล้านสายนั้นไม่เป็นความจริง ทว่าไม่ยอมแจกแจงรายละเอียด ขณะที่เลอ มงด์ ยังคงประกาศยืนยันรายงานข่าวของตน โดยที่เรื่องนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ปารีส และออลลองด์กำลังมีท่าทีจะเรียกร้องให้ผู้นำอียูที่มาร่วมประชุมกัน 2 วันคราวนี้ หารือในประเด็นนี้ด้วย คาดหมายกันว่า กระแสนี้อาจกระตุ้นให้สมาชิก 28 ชาติของอียูให้การสนับสนุนกฎระเบียบปกป้องข้อมูลส่วนตัว

ทั้งนี้ ช่วงต้นสัปดาห์ รัฐสภายุโรปได้ผ่านมติให้แก้ไขยกเครื่องกฎการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของอียูที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 1995 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้มีเนื้อหาครอบคลุมถึงการจำกัดการนำข้อมูลที่จัดเก็บในยุโรปโดยพวกบริษัทอย่างเช่น กูเกิล และเฟซบุ๊ก ไม่ให้นำไปแบ่งปันใช้นอกอียู รวมทั้งเปิดทางให้พลเมืองอียูมีสิทธิ์ร้องขอให้ลบประวัติการใช้อินเทอร์เน็ต และจะให้ปรับผู้ละเมิดกฎได้สูงสุด 138 ล้านดอลลาร์

ฝรั่งเศสและเยอรมนีอาจใช้ข้อกล่าวหาการสอดแนมของอเมริกาเป็นประโยชน์ในการผลักดันร่างกฎหมายนี้ในอียู ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในปี 2015

นอกจากนี้ยังอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับอียูเกี่ยวกับข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลจำนวนมากผ่าน “สวิฟต์” หรือระบบโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศที่มีฐานในยุโรป ยิ่งทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ ข้อมูลที่รั่วไหลของสโนว์เดนก็ระบุแล้วว่า วอชิงตันอาจละเมิดข้อตกลงสวิฟต์ด้วยการเข้าถึงข้อมูลมากกว่าที่ได้รับอนุญาต

วันพุธที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้โหวตให้ระงับข้อตกลงนี้ ยิ่งเมื่อมีข้อกล่าวหาการสอดแนมของสหรัฐฯ เข้ามาอีก ก็อาจทำให้สมาชิกอียูสนับสนุนการใช้มาตรการเข้มงวดขึ้น อันจะทำให้ความพยายามในการเก็บข้อมูลที่อเมริกาอ้างว่าจำเป็นต่อการต่อต้านการก่อการร้าย ยิ่งยุ่งยากมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น