xs
xsm
sm
md
lg

‘แมนเดลา’ทิ้งมรดกแห่งความยุ่งยากเอาไว้เบื้องหลัง

เผยแพร่:   โดย: จอห์น พิลเกอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Mandela leaves behind a troubling legacy
By John Pilger
12/12/2013

เนลสัน แมนเดลา จักได้รับการจารึกนามเอาไว้ในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน สืบเนื่องจากบทบาทของเขาในการช่วยยุติลัทธิเหยียดผิวแบ่งแยกชาติพันธุ์ ขณะที่การจากไปของเขาก็เป็นที่อาลัยรักอย่างจริงใจของชาวแอฟริกาใต้นับล้านๆ คน อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับมรดกที่เขาทิ้งเอาไว้เบื้องหลังนั้น กลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในเมื่อการแบ่งแยกชาติพันธุ์ในทางเศรษฐกิจยังคงดำรงอยู่ในฐานะความเป็นจริงอันแสนเลวร้าย, ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนดำกับคนดำกำลังถ่างกว้างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ความไม่เสมอภาคระหว่างคนขาวกับคนดำได้หดแคบลงมาแล้วก็ตามที

เมื่อตอนที่ผมทำหน้าที่รายงานข่าวจากแอฟริกาใต้ในช่วงทศวรรษ 1960 นั้น โยฮันเนส โวร์สเตอร์ (Johannes Vorster) ซึ่งเป็นผู้แสดงความนิยมชมชื่นลัทธินาซี คือผู้ที่ครอบครองทำเนียบนายกรัฐมนตรีในนครเคปทาวน์เอาไว้ เวลาผ่านพ้นไปอีก 30 ปี ในขณะที่ผมรอคอยอยู่ที่ประตู มันก็ดูราวกับว่าพวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำเนียบยังคงเป็นชุดเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่เหล่านี้ ซึ่งเป็นชาวแอฟริกาเนอร์ผิวขาว (White Afrikaner) ตรวจบัตรประจำตัวของผมด้วยความมั่นอกมั่นใจตามแบบฉบับของผู้ที่อยู่ในแวดวงงานรักษาความมั่นคง มีอยู่คนหนึ่งถือหนังสือเรื่อง “ลอง วอล์ก ทู ฟรีดอม” (Long Walk to Freedom) อัตชีวประวัติของ เนลสัน แมนเดลา เขาพูดด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงแอฟริกานส์ (Afrikaans) ว่า “มันเป็นหนังสือที่ให้ความบันดาลใจอย่างสูง”

แมนเดลานั้นเพิ่งตื่นจากการนอนงีบช่วงบ่ายของเขาและยังดูมีท่าทางงัวเงีย เชือกผูกรองเท้าของเขาก็ยังไม่ทันได้ผูกให้เรียบร้อย ในชุดเสื้อเชิร์ตสีทองอันสดใส เขาเดินช้าๆ เข้ามาในห้อง “ขอต้อนรับการกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง” ท่านประธานาธิบดีคนแรกของแอฟริกาใต้ที่เป็นประชาธิปไตยกล่าว พร้อมกับยิ้มแย้ม “คุณควรต้องเข้าใจนะว่าการที่คุณถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศของผมนั้นต้องถือว่าเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่” ความนุ่มนวลที่ดูจริงใจและมนตร์เสน่ห์ของบุรุษผู้นี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้คุณรู้สึกดี เขาหัวเราะคิกคักเมื่อถูกถามเรื่องที่มีเสียงพูดว่าเขาน่าจะได้เป็นนักบุญ “นั่นไม่ใช่งานที่ผมยื่นใบสมัครขอทำหรอก” เขาพูดสั้นๆ ได้ใจความ

กระนั้นก็ตาม เขาแสดงความคุ้นชินกับการให้สัมภาษณ์ชนิดที่ตัวเขาได้รับความเคารพยำเกรง และผมก็ถูกขัดจังหวะหลายต่อหลายครั้ง – “คุณลืมไปหมดเกลี้ยงเลยในสิ่งที่ผมพูดไปแล้ว” และ “ผมได้อธิบายเรื่องนี้ให้คุณฟังไปแล้วนะ” จากการที่เขาแสดงท่าทีไม่ยินยอมอดกลั้นอดทนที่จะรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ต่อสภาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress ใช้อักษรย่อว่า ANC) เขาก็ได้เปิดเผยให้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่จะอธิบายได้ว่า ทำไมชาวแอฟริกาใต้นับล้านๆ จะโศกเศร้าอาลัยต่อการถึงแก่อสัญกรรมของเขา แต่ไม่รู้สึกชื่นชม “มรดก” ที่เขาทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

ผมถามเขาว่า ทำไมคำมั่นสัญญาต่างๆที่ตัวเขาและเอเอ็นซีให้เอาไว้เมื่อตอนที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในปี 1990 นั้น จึงไม่ได้มีการปฏิบัติตาม ทั้งนี้ในเวลานั้นแมนเดลาให้สัญญาว่า รัฐบาลปลดแอกของแอฟริกาใต้จะเข้ากุมอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจแบบเหยียดผิวแบ่งแยกชาติพันธุ์ รวมทั้งพวกธนาคารแห่งต่างๆ – โดยที่เขาพูดอย่างหนักแน่นว่า “อย่าได้วาดหวังเลยว่าทัศนะของเราในเรื่องนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการดัดแปลงแก้ไข” ทว่าทันทีที่เอเอ็นซีขึ้นครองอำนาจ โครงการเพื่อการฟื้นฟูบูรณะและการพัฒนา (Reconstruction and Development Programme ใช้อักษรย่อว่า RDP) ซึ่งถือเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการของพรรคการเมืองนี้ในการยุติความยากจนของชาวแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ถูกโยนทิ้งไป โดยที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งของแมนเดลาถึงกับคุยอวดว่า การเมืองในแบบของเอเอ็นซีนั้นก็คือการเชิดชูสนับสนุนลัทธิแธตเชอร์ (Thatcherite)

“คุณจะเอาตราอะไรไปประทับให้มันก็ได้ตามใจคุณ” เขาตอบ “...แต่ สำหรับประเทศนี้แล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือนโยบายพื้นฐาน”

“แต่นี่มันตรงกันข้ามกับเลยนะกับสิ่งที่คุณพูดเอาไว้เมื่อปี 1994” ผมท้วงติง

“คุณจะต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่าในทุกๆ กระบวนการนั้น มันจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงเป็นองค์ประกอบอยู่เสมอ”

แทบไม่มีสามัญชนชาวแอฟริกาใต้เอาเลยที่ตระหนักว่า “กระบวนการ” ดังกล่าวนี้ ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างปิดลับ ตั้งแต่ก่อนที่แมนเดลาจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระถึงกว่า 2 ปี เมื่อในทางเป็นจริงแล้ว เอเอ็นซีส่วนที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ได้ทำข้อตกลงกับพวกสมาชิกคนสำคัญของชนชั้นนำชาวแอฟริกาเนอร์ ระหว่างการเจรจาหารือกันหลายๆ ครั้งที่ เมลส์ พาร์ก เฮาส์ (Mells Park House) บ้านพักรับรองของรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับเมืองบาธ (Bath) ในประเทศอังกฤษ ทั้งนี้พวกที่มีบทบาทหลักในการผลักดันให้เกิดการตกลงกันนี้ก็คือพวกบริษัทที่เคยเป็นผู้ค้ำจุนสนับสนุนระบอบเหยียดผิวแบ่งแยกผิวพันธุ์มาก่อน

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น ตัวแมนเดลาก็กำลังดำเนินการเจรจาลับๆ ของตัวเขาเองด้วย ในปี 1982 เขาถูกย้ายจากคุกเกาะร็อบเบน (Robben Island) ไปคุมขังที่เรือนจำโพลส์มัวร์ (Pollsmoor Prison) ซึ่งเขาสามารถรับแขกและรับรองต้อนรับผู้มาเยือนได้ จุดมุ่งหมายของระบอบปกครองเหยียดผิวและแบ่งแยกชาติพันธุ์ในเวลานั้นก็คือ การสร้างความแตกแยกในเอเอ็นซี ระหว่าง “พวกสายกลาง” (moderate) ที่พวกเขาสามารถ “เจรจาต่อรองด้วยได้” (เป็นต้นว่าแมนเดลา, ธาโบ เอ็มเบกิ Thabo Mbeki , และ โอลิเวอร์ ทัมโบ Oliver Tambo) กับพวกที่อยู่ตามเมืองคนผิวดำ (townships) ที่เป็นแนวหน้าทั้งหลาย และกำลังเป็นผู้นำอยู่ในองค์การแนวร่วมที่มีชื่อว่า แนวร่วมสามัคคีประชาธิปไตย (United Democratic Front หรือ UDF) ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1989 แมนเดลาถูกแอบนำตัวออกจากคุกอย่างลับๆ เพื่อไปพบปะหารือกับ พี. ดับเบิลยู. โบธา (P.W. Botha) ประธานาธิบดีของชาวผิวขาวส่วนข้างน้อยในแอฟริกาใต้ในตอนนั้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฉายา “กรูต โครคอดิล” (Groot Krokodil ภาษาอังกฤษคือ Big Crocodile จระเข้ใหญ่) แมนเดลารู้สึกยินดีที่โบธาชงชาให้เขา

เมื่อมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในปี 1994 แล้ว การเหยียดผิวแบ่งแยกชาติพันธุ์อย่างรุนแรงก็เป็นอันยุติลง และการแบ่งแยกชาติพันธุ์ในทางเศรษฐกิจถูกปรับเปลี่ยนโฉมตกแต่งหน้าตาเสียใหม่ ในช่วงทศวรรษ 1980 ระบอบปกครองโบธาก็ได้เคยให้เงินกู้แบบเงื่อนไขผ่อนปรนแก่พวกนักธุรกิจผิวดำมาแล้ว รวมทั้งอนุญาตให้พวกเขาจัดตั้งบริษัทขึ้นข้างนอกเขตบันตูสถาน (Bantustan) ซึ่งพวกเขาสังกัดอยู่ ปรากฏว่าชนชั้นนายทุนผิวดำใหม่ๆ เติบใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับระบบพวกพ้องที่แพร่ระบาดไปอย่างกว้างขวาง พวกระดับหัวหน้าของเอเอ็นซีไม่น้อย โยกย้ายกันเข้าไปอาศัยกันในแมนชั่น ใน “คฤหาสน์ภายในสนามกอล์ฟหรือคันทรีคลับ” ขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนขาวกับคนดำหดแคบลงมา แต่ความไม่เสมอภาคกันระหว่างคนดำกับคนดำกลับถ่างกว้างออกไป

ข้อแก้ตัวข้อแก้ต่างๆ อย่างเคยๆ ประเภทที่ว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยที่เกิดขึ้นมาใหม่ในหมู่คนผิวดำเหล่านี้จะ “ไหลหยดลงไปสู่ชั้นล่างๆ เรื่อยๆ” (trickle down) ตลอดจน จะ “ช่วยสร้างงาน” นั้น ต้องหมดน้ำหนักไปเสียสิ้น เมื่อเกิดข้อตกลงผนวกควบรวมกิจการแบบมีเงื่อนงำน่าสงสัย ขณะที่ “การปรับโครงสร้าง” (restructuring) ก็กลายเป็นตัวการทำให้งานหดหายลดน้อยลง สำหรับพวกบริษัทต่างชาติแล้ว การมีคนใบหน้าผิวดำๆ สักคนหนึ่งปรากฏอยู่ในบอร์ดบริษัทด้วยนั้น มักกลายเป็นเครื่องค้ำประกันว่าบริษัทแห่งนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ในปี 2001 จอร์จ โซรอส (George Soros) บอกกับเวทีประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส (Davos Economic Forum) ว่า “แอฟริกาใต้นั้นกำลังอยู่ในมือของทุนระหว่างประเทศ”

ตามตัวเมืองที่สมัยเหยียดผิวแบ่งแยกชาติพันธุ์ กำหนดให้เป็นเมืองคนผิวดำ (township) ผู้คนแทบไม่รู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และยังต้องปฏิบัติตามคำตัดสินฟ้องร้องขับไล่ที่เกิดขึ้นในยุคเหยียดผิว มีบางคนแสดงความระลึกคิดถึง “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย” ของระบอบปกครองเก่าในตอนนั้นด้วยซ้ำ สำหรับความสำเร็จต่างๆ ในช่วงหลังยุคเหยียดผิว ในส่วนของกระบวนการยุติการแบ่งแยกทั้งหลายในชีวิตประจำวันในแอฟริกาใต้ เป็นต้นว่า การยุติการแบ่งแยกโรงเรียนนั้น กลับมีอันลดน้ำหนักความสำคัญลงไป เนื่องจากการกระทำของพวกสุดโต่ง และการทุจริตคอร์รัปชั่นของ “ลัทธิเสรีนิยมใหม่” (neoliberalism) ซึ่งเอเอ็นซีให้ความเชื่อมั่นศรัทธาเต็มที่ สภาพเช่นนี้เองซึ่งนำไปสู่การก่ออาชญากรรมอย่างร้ายแรงของรัฐ เป็นต้นว่า การสังหารหมู่คนงานเหมืองที่ประท้วงนัดหยุดงานจำนวน 34 คนที่ มาริกานา (Marikana) ในปี 2012 ซึ่งกระตุ้นให้เราหวนระลึกถึงการสังหารหมู่อันฉาวโฉ่ที่ชาร์ปวิลล์ (Sharpeville) เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อนหน้านั้น การประท้วงในทั้งสองคราวต่างก็เป็นความพยายามต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

ตัวแมนเดลาเอง ก็บ่มเพาะความสัมพันธ์แบบเอาแต่พรรคแต่พวก ในเวลาคบหาคนผิวขาวผู้มั่งคั่งจากโลกธุรกิจ รวมทั้งพวกที่เคยทำกำไรจากระบบเหยียดผิวด้วย เขามองเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “การปรองดอง” บางที ตัวเขาและพรรคเอเอ็นซีที่เขารักมากนั้น อาจจะอยู่ในท่ามกลางการต่อสู้ตลอดจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนกันนานเกินไป จนกระทั่งพวกเขารู้สึกพรักพร้อมยินดีที่จะยอมรับและสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มพลังที่เคยเป็นศัตรูของประชาชนมาก่อน

ยังคงมีพวกที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแรงๆ กันจริงๆ อยู่เหมือนกัน เป็นต้นว่า ผู้นำจำนวนไม่กี่คนในพรรคคอมมิวนิสต์แอฟริกาใต้ (South African Communist Party) ทว่ากลับเป็นอิทธิพลอันทรงพลังยิ่งของพวกผู้สอนศาสนาคริสต์ต่างหาก ซึ่งได้สร้างผลงานอันจารจารึกอย่างลบไม่ออกเอาไว้มากที่สุด พวกผิวขาวที่เป็นเสรีนิยมทั้งที่อยู่ภายในแอฟริกาใต้และในต่างประเทศนั้น ต่างมีความยินดีต่อสภาวการณ์เช่นนี้ และบ่อยๆ ครั้งมักทำเฉยๆ หรือกระทั่งให้การต้อนรับการที่แมนเดลาแสดงความลังเล ไม่คอยอยากที่จะขยายความให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ชนิดที่สอดคล้องปะติดปะต่อกัน อย่างที่ อามิลการ์ กาบรัล (Amilcar Cabral) และ บัณฑิต เนห์รู (Pandit Nehru) ได้เคยทำมาให้เห็นในอดีต

ออกจะประหลาดและน่าขบขันอยู่ไม่น้อย แมนเดลาดูเหมือนจะเปลี่ยนไปเมื่อเขาอยู่ในช่วงเกษียณออกจาตำแหน่ง โดยได้กระตุ้นเตือนโลกให้ตระหนักถึงอันตรายของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W Bush) และ โทนี แบลร์ (Tony Blair) ในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน (9/11) ตอนที่เขาพูดถึงแบลร์ว่าเป็น “รัฐมนตรีต่างประเทศของบุช” นั้น ดูเหมือนเป็นความตั้งใจสร้างความปั่นป่วนขึ้นมา เพราะเป็นจังหวะเวลาที่ ธาโบ เอ็มบากิ ผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขา กำลังจะไปถึงกรุงลอนดอนเพื่อพบหารือกับแบลร์อยู่แล้ว ตัวผมเองเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เขาจะพูดว่ายังไง สำหรับ “การจาริกแสวงบุญ” ไปยังห้องขังบนเกาะร็อบเบนของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ ของ บารัค โอบามา พัศดีผู้ไร้ความปรานีแห่งคุกกวนตานาโม

แมนเดลาดูจะสามารถรักษามารยาทอันงดงามเอาไว้ได้เสมอ เมื่อผมสัมภาษณ์เขาเสร็จสิ้นลงแล้ว เขาตบที่แขนผมเบาๆ ราวกับจะบอกว่า เขาให้อภัยผมแล้วจากการที่คอยขัดแย้งท้วงติงเขา เราพากันเดินออกมาเพื่อไปที่รถยนต์เมอร์ซิเดสสีเงินของเขา แล้วเขาก็ก้าวเข้าไปนั่งในรถ ซึ่งจะมองเห็นศีรษะสีเทาเล็กๆ ของเขา ปะปนอยู่ในท่ามกลางกลุ่มคนผิวขาวที่มีแขนขนาดใหญ่ยักษ์และมีสายหูฟังเสียบอยู่ที่หูของพวกเขา หนึ่งในพวกเขาออกคำสั่งเป็นภาษาแอฟริกานส์ แล้วก็เดินทางออกไป

ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร นิวสเตทส์แมน (New Statesman)

ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับแอฟริกาใต้เรื่อง Apartheid Did Not Die ของ จอห์น พิลเกอร์ สามารถชมได้ที่ http://johnpilger.com/videos/apartheid-did-not-die และสามารถติดตามเขาทางทวิตเตอร์ที่ @johnpilger
กำลังโหลดความคิดเห็น