xs
xsm
sm
md
lg

บาดแผลฝังใจของ ‘แพทย์-พยาบาล’ ผู้บำบัดเหยื่อก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: อัชฟัก ยาซุฟไซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Treating terror victims leaves its wounds
By Ashfaq Yusufzai
18/11/2013

เหยื่อความรุนแรงที่เกิดจากน้ำมือของพวกผู้ก่อการร้ายในแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา ประเทศปากีสถาน ส่วนใหญ่มักถูกส่งไปรับการรักษา ยื้อชีวิตไว้ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองเปชาวาร์ ผู้ที่รับบทหนักคือแพทย์และพยาบาลแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ซึ่งจะดำเนินการอย่างสุดความสามารถในอันที่จะต่อสู้ยื้อยุดให้ผู้ได้รับบาดเจ็บสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันบุคลากรเหล่านี้ก็ต้องทุกข์ตรมอยู่ในบาดแผลของตนเอง บาดแผลที่ก่อตัวขึ้นจากการตรากตรำรักษาเยียวยาบรรดาร่างกายอันฉีกขาดน่าอเนจอนาถ ซึ่งหลั่งไหลเข้าไปขอรับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องไม่ได้ขาดสาย

เปชาวาร์ ปากีสถาน – อาจาบ กูล ชายหนุ่มวัย 25 ปี ถูกหลอนด้วยภาพของร่างกายโชกเลือดนานารูปแบบ โสตประสาทของเขาระงมด้วยเสียงกรีดร้องคร่ำครวญของเด็กและสตรี “ผมนอนไม่หลับเลยครับ” เขาเล่าจากประสบการณ์ตรงในการเป็นบุรุษพยาบาลของโรงพยาบาลเลดี้ เรดดิ้ง โฮสพิเทิล (แอลอาร์เอช) โรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงโด่งดังของเมืองเปชาวาร์ เมืองเอกของแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถาน กล่าวกันว่าเหยื่อของการก่อการร้ายถึงราว 98% ที่อุบัติในแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควาทีเดียว ถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลแห่งนี้

งานของกุลนั้น ยิ่งยากเข็ญเป็นพิเศษ เพราะต้องประจำอยู่ในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลแอลอาร์เอช ในภารกิจการเป็นเจ้าหน้าที่เย็บแผลและทำแผล

“ผมจะวนเวียนเห็นแต่ภาพของใบหน้าโชกเลือด ร่างกายที่นองด้วยเลือด เสียงกรีดร้องคร่ำครวญของผู้หญิงและเด็กที่ถูกนำส่งมารับการช่วยเหลือรักษาก็เฝ้าแต่ระงมอยู่ในหูทุกคืนเลยครับ” กุลเปิดเผยต่อนักข่าวของสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส)

ความโหดเหี้ยมและความถี่จัดของวินาศกรรมด้วยการวางระเบิดและระเบิดฆ่าตัวตายในแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา ตลอดจนในแคว้นกึ่งปกครองตนเองที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือ “พื้นที่ชาวชนเผ่าที่บริหารปกครองโดยรัฐบาลกลาง” (Federally Administered Tribal Areas หรือ เอฟเอทีเอ) ได้สร้างผลกระทบที่น่ากลัวต่อชีวิตของแพทย์ พยาบาล และหน่วยกู้ภัยต่างๆ ภายในภูมิภาคที่หาความสงบสุขได้ยากยิ่งแห่งนี้ บาดแผลในความรู้สึกของพวกเขาอาจจะมองไม่เห็นด้วยสายตา แต่มันลุกลามฝังลึก “พวกเราส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางจิตวิทยาที่ฝังลึกมากขึ้นเรื่อยๆ” กุลกล่าวอย่างนั้น

เปชาวาร์ เมืองเอกของแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา เคยเป็นเมืองสันติสุขแห่งหนึ่ง จนกระทั่งรัฐบาลตอลิบานในอัฟกานิสถานถูกโค่นอำนาจในปี 2001 ส่งผลให้บรรดานักรบหัวรุนแรงโยกย้ายข้ามพรมแดนไปลี้ภัยในฝั่งปากีสถานตามแนวตะเข็บในพื้นที่เอฟเอทีเอ

หลายปีผ่านมา จวบจนปัจจุบัน กลุ่มตอลิบาน ปากีสถาน (เตห์รีค ตอลิบาน ปากีสถาน ใช้อักษรย่อว่า ทีทีพี) แผลงฤทธิ์ไม่ได้หยุดหย่อนด้วยการโจมตีกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ค่ายทหารของรัฐบาล ตลอดจนสถานที่สาธารณะ อาทิ ตลาด และโรงเรียน ตัวเลขสถิติโดยตำรวจระบุว่าเฉพาะในเมืองเปชาวาร์ มีการโจมตีอย่างน้อย 210 ครั้ง ที่จัดให้โดยตอลิบาน นับจากปี 2005

ศาสตราจารย์ อาร์ชาด จาวาอิด ซีอีโอแห่งโรงพยาบาลแอลอาร์เอช กล่าวว่า “ผู้ให้บริการด้านสุขภาพได้ช่วยดูแลรักษาเหยื่อของพวกก่อการร้ายมากมายเหลือเกิน และได้เห็นบาดแผลน่าสยดสยองในระยะประชิดนับครั้งไม่ถ้วน ผู้ปฏิบัติงานหลายรายต้องใช้ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ยานอนหลับ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการฝันร้าย”

ในแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 22 ล้านคน มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้บริการอยู่ 12 แห่ง แต่เหยื่อก่อการร้ายส่วนใหญ่จะหลั่งไหลมาพักพิงที่โรงพยาบาลแอลอาร์เอช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ขนาด 1,650 เตียง ที่ผ่านมานับจากปี 2005 แอล์อาร์เอชรับรักษาดูแลเหยื่อจากความรุนแรงนับครั้งไม่ถ้วนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6,000 ราย ท่านศาสตราจารย์ให้ข้อมูลไว้อย่างนั้น

“เป็นภาระหน้าที่ของเราที่ต้องลดอัตราตายจากภัยก่อการร้าย” ศ.จาวาอิดกล่าวต่อไอพีเอส แต่การต้องเผชิญหน้าระยะประชิดอยู่เสมอๆ กับสภาพของแขนขาฉีกลุ่ย ใบหน้าอาบเลือด น้ำตา และเสียงกรีดร้องร่ำไห้ ก่อตัวเป็นบาดแผลในความรับรู้ของผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาลซึ่งล้วนแต่ทำงานหนักอย่างอุทิศตนเต็มกำลังสามารถ

“ดิฉันฝันเห็นร่างของบรรดาเด็กๆ ไหม้เกรียมบ่อยครั้ง” เล่าโดย ริฟัต บิบิ นางพยาบาลวัย 28 ปีของโรงพยาบาลแห่งนี้ “บ่อยๆ ที่ดิฉันตื่นขึ้น หัวใจปวดร้าวกับภาพเด็กๆ ที่บาดเจ็บหรือล้มตายโดยไม่เคยไปทำผิดคิดร้ายใคร พวกเค้าเตือนให้นึกถึงลูกๆ พี่ๆ น้องๆ และแม่ของดิฉันเอง” เธอรำพันความในใจ

หลายรายไม่สามารถทนกับความทุกข์ตรมที่กระหน่ำมาในการทำงานเหล่านี้ “ประมาณ 5-6 คนในแผนกอุบัติเหตุขอย้ายไปอยู่วอร์ดอื่นแล้ว เพราะไม่อาจทนต่อแรงกดดันเหล่านี้ไหว” เธอบอก

ระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ลูกซ้อนที่โบสถ์ออล เซนต์ส เชิร์ช เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนประมาณ 80 ราย ยังเป็นความทรงจำที่ตราตรึงบาดหัวใจ

“ผู้หญิงคนหนึ่ง ใบหน้าเปื้อนเลือดนองไปหมด เธอเสียน้องขายสองคนในวันนั้น เธอเฝ้าแต่ร้องไห้กอดศพของน้องอย่างไม่อาจหยุดยั้ง ภาพความทรงจำนั้นยังหลอนดิฉันเสมอ” นางพยาบาลบิบิทบทวนรายละเอียดความทุกข์ฝังใจเธอออกมาแก่ไอพีเอส

จาอูฮาร์ อาลี ประธานหน่วยงานกู้ภัย เคพี พาราเมดิกส์ ซึ่งทำงานประสานกับหลายโรงพยาบาลในเปชาวาร์ เล่าว่าพนักงานกู้ภัย 560 คนของหน่วยงานนี้จะทำการวินิจฉัยอาการและให้การรักษาที่เร่งด่วนผู้ป่วยทุกอาการ

“แต่ลำดับความสำคัญต้นๆ คือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหลายระบบจากการโจมตีด้วยระเบิด เราต้องห้ามเลือด และทำแผลโดยเร่งด่วน” ประธานอาลีกล่าว “ภาพเหล่านี้จะติดตาคาใจ คอยแต่จะเวียนกลับมาผุดขึ้นในใจแม้ในยามที่เราออกเวรแล้วก็ตาม”

สองปีที่แล้ว เขารับรักษาดูแลเด็กประถมหนึ่ง จำนวน 3 รายซึ่งมีบาดแผลร้ายแรง “เด็กๆ ถามผมว่าใครทำร้ายพวกเขา ทำไมถึงทำร้ายพวกเขา ผมไม่ทราบจะตอบอย่างไรเลยครับ”

ทุกวันนี้ เขาเฝ้าแต่เป็นกังวลถึงลูกๆ ของเขา “ลูกผมก็วัยเดียวกันนั้น พวกเขาล้วนมีโอกาสจะตกเป็นเป้าหมายของพวกก่อการร้ายในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า”

นายแพทย์อัมจัด อาลี จิตแพทย์ที่โรงพยาบาลแอลอาร์เอช กล่าวว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมักตกเป็นเหยื่ออารมณ์เกรี้ยวกราดของครอบครัวเหยื่อก่อการร้าย อาทิ เมื่อคราววินาศกรรมระเบิดโบสถ์วันที่ 22 กันยายน คุณหมอบอกว่า “เราต้องรับดูแลรักษาเหยื่อก่อการร้ายมากถึง 233 รายภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเราดูแลได้ครบถ้วนทุกราย แต่ญาติๆ ของผู้บาดเจ็บบางราย ซึ่งโกรธเกรี้ยวเจ็บปวด หันมาเล่นงานเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล”

ทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่กู้ภัยมีปัญหาสุขภาพจิตหนักขึ้นเรื่อยๆ คุณหมอให้ข้อมูล

“พวกเขาถึงกับออกอาการร้องไห้สะเทือนใจเมื่อพบเห็นผู้บาดเจ็บ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของความป่วยไข้ทางจิตใจ ผมตรวจพบเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนับสิบรายที่ต้องใช้ยากล่อมประสาท และรับการปรึกษากับจิตแพทย์” คุณหมออาลีเผยข้อมูลนี้แก่ไอพีเอส พร้อมทิ้งท้ายว่า “เมื่อคุณต้องเห็นร่างกายโชกชุ่มด้วยเลือดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณจะปลอดจากผลกระทบไปได้อย่างไร?”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น