เอเจนซีส์ - รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมอบวงเงินช่วยเหลือ และกู้ยืมแก่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จำนวน 2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (14) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่โตเกียวหวังจะซื้อใจนานาชาติให้อยู่ข้างฝ่ายตนในประเด็นข้อพิพาทดินแดนกับจีน
ในการประชุมซัมมิตวาระครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้ประกาศมอบวงเงินช่วยเหลือต่อสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 640,000 ล้านบาท) ภายในระยะเวลา 5 ปี
คำประกาศดังกล่าวถือเป็นไฮไลต์สำคัญตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ อาเบะ ได้เดินสายกระชับสัมพันธ์กับอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
“ด้วยความร่วมมือกับอาเซียน ผมปรารถนาที่จะสร้างอนาคตของเอเชียซึ่งกฎหมายมีอำนาจมากกว่าอิทธิพล และผู้ที่ทำงานหนักจะได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่สังคมแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่เคารพซึ่งกันและกัน”
ถ้อยแถลงของ อาเบะ แสดงนัยถึงข้อพิพาทกับจีนเรื่องหมู่เกาะ “เซ็งกากุ” หรือ “เตี้ยวอี๋ว์” ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งยิ่งร้อนระอุหนักเมื่อจีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ครอบคลุมหมู่เกาะดังกล่าว โดยญี่ปุ่นนั้นต้องการโน้มน้าวให้นานาชาติเห็นว่า จีนมีพฤติกรรมก้าวร้าว และข่มขู่เพื่อนบ้าน
หลายฝ่ายกังวลว่า จีนอาจจะใช้วิธีเดียวกันนี้กับน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองเกือบทั้งหมด
ผู้นำญี่ปุ่นระบุว่า วงเงินช่วยเหลือ และกู้ยืมจำนวน 2 ล้านล้านเยน เป็นส่วนหนึ่งของการขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน
“ในการประชุมครั้งนี้ ผมอยากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน ไม่เพียงในบริบททวิภาคีเท่านั้น แต่รวมถึงบริบทของประชาคมโลกด้วย... ผมหวังว่าเราจะสร้างวิสัยทัศน์ระยะยาวร่วมกัน ซึ่งจะกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่น และอาเซียนต่อไปในอนาคต”
นักการทูตญี่ปุ่นหวังที่จะผลักดันให้ผู้นำทั้ง 11 ชาติออกแถลงการณ์ร่วมเน้นย้ำความสำคัญของเสรีภาพในการเดินเรือ และใช้น่านฟ้า ซึ่งจะถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์จีนโดยตรง แม้จะไม่มีการเอ่ยนามประเทศก็ตาม
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ญี่ปุ่นคงจะดึงเสียงสนับสนุนได้ไม่น้อยจาก 4 ประเทศอาเซียนที่พัวพันข้อพิพาททะเลจีนใต้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย และบรูไน ทว่า กลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งยังรวมถึงอินโดนีเซีย, ลาว, พม่า, กัมพูชา, สิงคโปร์ และไทย คงจะต้องระมัดระวังไม่สร้างความขุ่นเคืองแก่จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ดังที่ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย ได้กล่าวก่อนประชุมร่วมกับ อาเบะ วานนี้ (13) ว่า ความขัดแย้งในเอเชียตะวันออก “ส่งผลกระทบ” ต่อชาติอื่นๆ ในภูมิภาค
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับญี่ปุ่นถือเป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตของภูมิภาคนี้” ผู้นำแดนอิเหนา กล่าว