xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯจีนชวน “อาเซียน” ร่วมมือการค้า-มองข้ามปัญหา “ทะเลจีนใต้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน
เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนชี้ มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2020 พร้อมย้ำให้ทั้ง 2 ฝ่ายคำนึงถึง “อนาคตร่วมกัน” มากกว่าปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ สื่อทางการจีนรายงานวันนี้(4)

สำนักข่าวซินหวาของจีน อ้างถ้อยแถลงของนายกฯหลี่ ซึ่งเสนอให้จีนและอาเซียนปรับปรุงข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และอย่าปล่อยให้ “ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค” ทั้งหลายมาบั่นทอนความร่วมมือในภูมิภาค

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างจีนกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ เติบโตถึง 6 เท่า โดยมีมูลค่าอยู่ที่ราวๆ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2012

อย่างไรก็ตาม การที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ไม่เว้นแม้กระทั่งน่านน้ำใกล้ชายฝั่งของประเทศเพื่อนบ้าน กำลังเป็นชนวนข้อพิพาทที่รุนแรงในช่วงไม่กี่ปีมานี้

นายกฯหลี่ ได้กล่าวถ้อยแถลงเปิดมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียนครั้งที่ 10 (China-ASEAN Expo) ณ เมืองหนานหนิง วานนี้(3) โดยย้ำความปรารถนาของจีนที่ต้องการเจรจาเพื่อสานความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับอาเซียน

“เราเองก็ตระหนักว่า มีปัจจัยซึ่งเป็นอุปสรรคบางอย่างกำลังบั่นทอนเสถียรภาพและการพัฒนาของภูมิภาคนี้ แต่นั่นไม่ใช่กระแสหลัก”ถ้อยแถลงของ หลี่ ซึ่งเผยแพร่โดยซินหวา ระบุ

“รัฐบาลจีนไม่ถือว่าข้อพิพาททะเลจีนใต้เป็นปัญหาระหว่างจีนกับอาเซียน และไม่ควรที่จะกระทบต่อความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนด้วย”

“รัฐบาลชุดใหม่ของจีนมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะสร้างประชาคมซึ่งมีอนาคตร่วมกัน เพื่อแบ่งปันสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง”

หลี่ ยังชี้ด้วยว่า จีนและอาเซียนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากพอที่จะสร้าง “ทศวรรษแห่งเพชร” (diamond decade) ขึ้นในอนาคต

เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และบรูไน ต่างอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ขณะที่ไต้หวันก็เป็นอีกประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมด

อันที่จริงปัญหาทะเลจีนใต้เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่การที่จีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ทำให้สายสัมพันธ์ต่อประเทศเพื่อนบ้านตึงเครียดหนัก โดยเฉพาะกับเวียดนามและฟิลิปปินส์

จีนย้ำว่าปัญหานี้ไม่ใช่ความกำกวมระดับนานาชาติ (international arbitration) และต้องการเจรจาทวิภาคีเพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้งเป็นรายประเทศไป ขณะเดียวกันก็ยังยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้แต่เพียงผู้เดียว

นายกรัฐมนตรี เหวียนเติ๋นยวุ๋ง ของเวียดนามได้เดินทางไปร่วมพิธีเปิดงาน China-ASEAN Expo ที่เมืองหนานหนิง ส่วนประธานาธิบดี เบนิโญ อากิโน แห่งฟิลิปปินส์นั้นไม่ไปร่วมงาน โดยสื่อเมืองตากาล็อกอ้างว่าจีนตั้งเงื่อนไขบางประการที่มะนิลารับไม่ได้

เมื่อวานนี้(3) รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกมากล่าวหาว่าจีนนำแท่งคอนกรีตไปทิ้งลงทะเลบริเวณหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ซึ่งอยู่ในน่านน้ำของฟิลิปปินส์

ในช่วงกลางเดือนนี้ จีนและอาเซียนจะจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ณ เมืองซูโจว เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct - CoC) ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่คืบหน้าขึ้นมาจากปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea - DOC) ที่ทำไว้เมื่อปี 2002 ณ กรุงพนมเปญ แต่ยังไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย

หลี่ ยังได้เอ่ยสั้นๆถึงความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการค้าในภูมิภาคนี้

“จีนเต็มใจที่จะหารือข้อแลกเปลี่ยน หรือสานสัมพันธ์ตามกรอบความร่วมมือในลักษณะเดียวกับ ทีพีพี”

ที่ผ่านมา ปักกิ่งไม่เคยสนับสนุน ทีพีพี ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯริเริ่ม และเห็นได้ชัดว่ามีเป้าหมายเพื่อกีดกันจีนโดยเฉพาะ ทว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ หนังสือพิมพ์ ไชนา เดลี ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของปักกิ่งรายงานว่า รัฐบาลจีนเริ่มจะมีทัศนคติเชิงบวกต่อ ทีพีพี มากขึ้น
หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน และผู้นำอาเซียน 5 ประเทศ โปรย เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ในพิธีเปิดมหกรรมแสดงสินค้า China-ASEAN Expo ครั้งที่ 10 ที่เมืองหนานหนิง เมื่อวานนี้(3)
แผนที่แสดงการอ้างกรรมสิทธิ์ของแต่ละประเทศในทะเลจีนใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น