xs
xsm
sm
md
lg

‘เหลียวหลังแลหน้า’ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

เผยแพร่:   โดย: น้ำทิพย์ อรรถบวรพิศาล

ในโลกยุคปัจจุบัน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกเช่นจีน กับประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสามของโลกเช่นสหรัฐอเมริกา มีความสำคัญต่อความสงบสุขของประชากรโลกทั้ง 7,087 ล้านคนเป็นอย่างมาก ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ตลอดระยะเวลา 224 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า อำนาจทางวาทกรรม (Discourse Power) คือ ตัวกำหนดสถานะความเป็น ‘มิตร’ และ ‘ศัตรู’ ของทั้งคู่ เจ้าผู้ครองโลกมากว่า 20 ปีเช่นสหรัฐฯ จะรับมือกับความท้าทายจากคู่แข่งในระดับเดียวกัน (peer competitor) ได้อย่างไร จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามต่อไป
ภาพเรือบรรทุกสินค้า‘ฮองเฮาจีน’ จากปกหนังสือ The Empress of China เขียนโดย  Philip Chadwick Foster Smith เมื่อปีพ.ศ. 2527
ภายหลังการประกาศอิสรภาพได้ไม่นาน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกสินค้านามว่า ‘ฮองเฮาจีน’ (The Empress of China) ออกแล่นจากท่าเรือนิวยอร์กในวันคล้ายวันเกิดของประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) และเดินทางมาถึงท่าเรือก่วงโจว ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2327 อันเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สัมพันธภาพทางการค้าของทั้งคู่ดำเนินไปอย่างราบรื่น และพัฒนาเร็วกว่าชาติอื่นที่บุกจีนมาก่อนหน้าภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี
ภาพเสก็ตชาวจีนติดฝิ่นโดย Thomas Allom
เหตุการณ์สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (ภาพ-romanticopium)
กระทั่ง สหรัฐฯ เลือกที่จะเจริญรอยตามอังกฤษใช้ยุทธศาสตร์ค้าฝิ่นปรับดุลการค้า ฉวยโอกาสในยามที่จีนขวัญผวาจากความพ่ายแพ้ใน ‘สงครามฝิ่น’ (鸦片战争 หรือ Opium War) ข่มขู่ให้จีนมอบสิทธิพิเศษให้สหรัฐฯ (ยกเว้นการตัดแบ่งดินแดนและจ่ายค่าบริกรรม) เช่นเดียวกับที่จำใจลงนามในสนธิสัญญาหนานจิง (南京条约หรือ The Treaty of Nanjing) ของอังกฤษ และเพิ่มเงื่อนไขในการรุกล้ำอธิปไตยทางศาลในสนธิสัญญาหวังชย่า (望厦条约หรือ The Treaty of Wanghia) ทั้งนี้ เพื่อที่จะสำแดงความเป็นนักสันติภาพโลก พร้อมกับรักษาผลประโยชน์ส่วนตน สหรัฐฯ ได้เสนอนโยบาย ‘เปิดประตู’ (开门户 หรือ Open-door) เรียกร้องให้ทุกชาติมิสิทธิที่จะทำการค้าและได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน เพื่อปกป้องจีนจากการเป็นอาณานิคมของชาติใดชาติหนึ่ง

แม้ว่าในสมัยปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) สหรัฐฯ คือ ตะวันตกชาติแรกที่ให้การรับรองรัฐบาลของหยวน ซื่อไข่ (袁世凯) และในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) สหรัฐฯ คือ พันธมิตรที่ยืนหยัดต่อการธำรงรักษาเอกราชของจีน ทว่า ในสมัยสงครามการเมือง สหรัฐฯ เลือกที่จะสนับสนุนจีนคณะชาติ (国民党) สงวนท่าทีต่อการรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่สนับสนุนหลักการ ‘สองจีน’ (两个中国 หรือ Two Chinas) พร้อมทั้งดำเนินการ ‘โดดเดี่ยว’ และ ‘สกัดกั้น’ จีนแผ่นดินใหญ่ ส่งผลให้จีนจำต้องดำเนินยุทธศาสตร์ ‘เอียงเข้าหาข้างหนึ่ง’ (一边倒หรือ Leaning to One Side) เพื่อน้อมรับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต ในสมัยสงครามเย็น (Cold War) สัมพันธภาพของทั้งสองต้องร้อนระอุ บนพื้นที่ขัดแย้งแห่งเกาหลี ไต้หวัน และคาบสมุทรอินโดจีน
ริชาร์ด นิกสัน คือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางเยือนจีน เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 15 (ภาพ-ซินหวา)
สัมพันธภาพของทั้งสองประเทศได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง เมื่อเหมา เจ๋อตง (毛泽东) กับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) แตกคอกัน เพราะช่องว่างทางอุดมการณ์ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ดูจะถ่างขยายมากขึ้น กระทั่ง เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธและกำลังทหารตลอดแนวพรมแดนที่เป็นข้อพิพาท ยังเหตุให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ส่งสัญญาณว่าจะถอนกำลังเรือตรวจตราออกจากทะเลไต้หวัน อันนำไปสู่ ‘การทูตปิงปอง’ (乒乓外交หรือ ping pong diplomacy) ซึ่งแผ้วถางให้ริชาร์ด นิกสัน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เยือนปักกิ่งได้สำเร็จในปีพ.ศ. 2515 นอกจากจะลงนามใน ‘อุดมการณ์ร่วมซ่างไห่’ (上海公报 หรือ Shanghai Comunique) เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่ครอบครองความเป็นเจ้าเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก และภาคพื้นทวีปเอเชีย ยืนยันในหลักการ ‘จีนเดียว’ (一个中国หรือ One China) แล้ว สองฝ่ายยังได้ตกลงดำเนิน ‘ยุทธศาสตร์เชือกเส้นเดียว’ (一条线战略 หรือ one united front strategy) เพื่อจับมือกันถ่วงดุลอำนาจสหภาพโซเวียต
เติ้ง เสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรีจีน คือ ผู้นำระดับสูงคนแรกนับแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เดินทางไปเยือนทำเนียบขาว เมื่อปลายเดือนม.ค 22 (ภาพ-จงหวา)
ยุทธศาสตร์ที่เอียงพิงสุดโต่งก็สิ้นสุดลง ภายหลังการมรณกรรมของเหมา เจ๋อตง ความตกต่ำทางเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้นำรุ่นสองปรับนโยบายต่างประเทศให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ลดบทบาทการเป็นปฏิปักษ์กับชาติใดชาติหนึ่ง เติ้ง เสี่ยวผิง (邓小平) กับจิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ลงนามในประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตจีน-สหรัฐฯ (中美建交公报 หรือ Joint Communique of the United States of America and the People's Republic of China) และประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขั้นปรกติกับสหภาพโซเวียต ทว่า วิกฤตการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน (天安门事件) กลับกลายเป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของจอร์จ บุช (George Bush) แสดงท่าทีเย็นชาต่อจีน นอกจากประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนแล้ว การที่สหรัฐฯ กลับมาแสดงจุดยืนปกป้องไต้หวัน การต่อยอด ‘ทฤษฎีภัยคุกคามจากจีน’ (China Treat Theory) ของญี่ปุ่นให้แพร่ขยายทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ล้วนเป็นชนวนสร้างความบาดหมางเรื่อยมาจนถึงรัฐบาลบิล คลินตัน (Bill Clinton) และรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush)
เจียง เจ๋อหมิน ประธานแห่งรัฐจีน ขณะถ่ายภาพคู่กับจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อครั้งเข้าร่วมประชุมเอเปค ณ นครซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) เมื่อกลางเดือนต.ค. 44 (ภาพ-BBC)
หู จิ่นเทา เข้าร่วมประชุม G20 ที่ ประเทศแมกซิโก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 55 (ภาพ-China News)
เวิน จยาเป่า (温家宝) นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมประชุมอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 55 (ภาพ-China News)
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ ‘เพื่อนบ้านที่ดี หุ้นส่วนที่ดี’ (与邻为善、以邻为伴หรือ good neighbor and a good partner ) ของเจียง เจ๋อหมิน (江泽民) ส่งผลให้จีนมีบทบาทที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าเป็นสมาชิกเอเปค (APEC) ความร่วมมือที่เข้มข้นขึ้นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ARF/10+3/10+1) มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในภูมิภาค จากการที่จีนให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และมีอำนาจต่อรองมากขึ้นจากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) สภาวการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องร่วมงานกับ ‘ว่าที่มหาอำนาจ’ (quasi-superpower) เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางด้านการค้าและรักษาความมั่นคงในเวทีโลก

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ จีนดูเหมือนจะแผ่ขยายอำนาจอย่างอ่อน (soft power) มากขึ้นทุกวัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การก่อตั้งสถาบันขงจื่อ (孔子学院) ถึง 358 แห่งใน 105 ประเทศ และวางเป้าหมายจะตั้งให้ได้ 500 สถาบัน ภายในปี 2558 บ่มเพาะอาจารย์ผู้สอนให้ได้ทั้งสิ้น 5 หมื่นคน (ชาวจีน 2 หมื่นคน ชาวต่างชาติ 2 หมื่นคน )  นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมอบทุนการศึกษาจำนวนมากให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศจีน ปัจจุบัน มีชาวต่างชาติผู้ได้รับทุนทั้งสิ้น 250,000 คน และวางเป้าหมายให้มีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศจีน 500,000 คน ซึ่งจะเป็นการทุบสถิติประเทศที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนมากที่สุดในโลก
เรือบรรทุกเครื่องบิน USS George Washington แล่นเข้าขบวนกับเรือรบสหรัฐฯ และเรือรบญี่ปุ่น ระหว่างการฝึกซ้อมในมหาสมุทรแปซิฟิกวันที่ 10 ธ.ค.53 (ภาพ-AFP)
บารัค โอบามาเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน- สหรัฐฯ ครั้งที่ 4 ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 55 (ภาพ-China Diary)
ภายหลังความวุ่นวายต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 11 กันยา (911) รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของบารัค โอบามา (Barack Obama) ได้เร่งฝีก้าวดำเนินยุทธศาสตร์ ‘หวนคืนสู่เอเชีย’ (Returning to Asia) ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือฉันท์มิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation) จัดประชุมวางแผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative) ร่วมกับกลุ่มประเทศอินโดจีน เปิดเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) ต่อต้านการสนับสนุนเกาหลีเหนือของจีน เพิ่มปริมาณการขายอาวุธให้ไต้หวัน แสดงบทบาทแก้ไขปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ ตลอดจนขยับกองกำลังทางทะเลจากแอตแลนติกมาแปซิฟิกในสัดส่วนที่มากขึ้น ด้วยหวังจะปิดล้อมจำกัดเขตจีนจากนโยบาย ‘เพื่อนบ้านที่เป็นมิตร เพื่อนบ้านที่ปลอดภัย เพื่อนบ้านที่รุ่งเรือง’ (睦邻、安邻、富邻หรือ Amicable, Secure And Prosperous neighborhood) ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีนภายใต้การนำของหู จิ่นเทา (胡锦涛)
แผนที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก

การเสวนาผู้นำระดับอาวุโสจีน-สหรัฐ ณ รีสอร์ทแอนเนเบอร์ก (The Annenberg Retreat ) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย 56
ท่ามกลางภาวการณ์อันคุกรุ่น ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนตอบรับคำเชิญจากทำเนียบขาวเดินทางไปเสวนาระดับอาวุโสจีน-สหรัฐ ณ รีสอร์ทแอนเนเบอร์ก เมื่อปลายสัปดาห์ (7-8 มิ.ย 56) ที่ผ่านมา หลังจากที่สี จิ้นผิง (习近平) กับโอบามาเดินเล่นและร่วมรับประทานอาหารกันในบรรยากาศสบายๆ บนผืนดินมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก สองยักษ์ใหญ่ได้เห็นชอบแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจรูปแบบใหม่ (新型大国关系 หรือ New Type of Great Power Relationship) ที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ เคารพและมีน้ำใจให้แก่กัน ดังเช่นคำปรารภของจ่าฝูงมังกรที่ว่า “มหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ยังมีพื้นที่มากพอสำหรับประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน” ที่สำคัญ คือ โลกใบนี้ยังมีปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ในหลายมิติให้สองฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข
สี จิ้นผิง ประธานแห่งรัฐจีน ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวภายหลังการเสวนาผู้นำระดับอาวุโสจีน-สหรัฐร่วมกับบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ภาพ- The Hindu)
สี จิ้นผิง ประธานแห่งรัฐจีน จับมือกระชับสัมพันธ์กับบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย 56 (ภาพ-ซินหวา)
ด้านสหรัฐฯ โอบามาให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นสิทธิมนุษยชน “ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า การส่งเสริมสิทธิสากลจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง และความยุติธรรม” พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนควบคุมการ ‘ล้วงตับ’ ในโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งสี จิ้นผิง เห็นว่าควรจะกำหนดแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ใช่ฝ่ายเดียวที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามดังกล่าว นอกจากนี้ สี จิ้นผิง ได้ยืนยันที่จะเดินหน้าปฏิรูปทางการเมืองในระดับลึก เพื่อลดความกังวลใจที่สหรัฐฯ และชาติอื่นมีต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ รับผิดชอบต่อการวางแผนเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลกระทบทั่วโลก และผ่อนปรนนโยบายปกป้องทางการค้ากับจีน อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายเริ่มมีความกังวลใจที่ตรงกันเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ผู้นำสองยักษ์ใหญ่ ขณะหารือนอกรอบ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 56 (ภาพ-ซินหวา)
ผู้นำสองยักษ์ใหญ่ ขณะเดินเล่นชมสวนภายในรีสอร์ท เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 56 (ภาพ-นิวยอร์กไทม์)
บารัคโอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มอบเก้าอี้ไม้เนื้อแดงของมลรัฐแคลิฟอร์เนียให้สี จิ้นผิง ประธานแห่งรัฐจีนเป็นที่ระลึก เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 56 (ภาพ-ซินหวา)
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า มิเชล โอบามา (Michael Obama) สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมการรับรองผู้นำระดับสูงของจีนในครั้งนี้ โดยอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องดูแลและรับส่งลูกในช่วงใกล้ปิดภาคการศึกษา แม้จะทราบกำหนดการล่วงหน้าว่า เผิง ลี่หยวน (彭丽媛) ได้ทำหน้าที่สตรีหมายเลขหนึ่งของจีนติดตามสี จิ้นผิง ประธานแห่งรัฐจีนเยือนต่างประเทศภายหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการมาเป็นเวลากว่าเดือนแล้วก็ตาม กรณีดังกล่าวได้สร้างความผิดหวังให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศบางสำนักลงความเห็นว่า การที่สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ไม่ยอมปรากฏตัวคู่กับสตรีหมายเลขหนึ่งของจีน อาจเป็นการส่งสัญญาณต่อต้านประเด็นสิทธิมนุษยชนในทางหนึ่ง เนื่องจากมาดามเผิงขณะประจำกองทัพปลดแอกจีน เคยขับขานเพลงกล่อมทหารที่สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อครั้งเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเคยร้องเพลงโอเปราสวมบทสาวฑิเบตโหยหาการปลดแอกจากทหาร
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะพูดคุยทักทายสตรีหมายเลขหนึ่งของจีน (ภาพ-CCTV 13)
เมื่อย้อนรอยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐจะพบท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทโลกและอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้นำทั้งสองประเทศ หลักการ ‘เสรีภาพ’ ของสหรัฐฯ เป็นทั้งเครื่องมือปกป้องจีนจากการตกเป็นอาณานิคมของเหล่าบรรดาประเทศมหาอำนาจในช่วงสงครามฝิ่น และเป็นทั้งเครื่องมือปกป้องอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน ในฐานะของ ‘ตำรวจโลก’ สหรัฐฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับจีนทันที่เห็นชอบในหลักการเดียวกันหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน และพร้อมที่จะลงโทษตามคำพิพากษาที่ถูกทำให้เป็นสากล ต่อกรณีดังกล่าว ศาสตราจารย์เฉิน หงหมิน (陈红民) ผู้เชียวชาญแถวหน้าด้านประวัติศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (浙江大学 หรือ Zhejiang University) เคยให้คำจำกัดความความสัมพันธ์ระหว่างสองยักษ์ใหญ่โลกคู่นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “สหรัฐอเมริกา เป็นทั้ง ‘ศัตรู’ ที่ดีที่สุดของจีน และเป็น ‘เพื่อน’ ที่แย่ที่สุดของจีน” ด้วยเหตุนี้ ‘การผงาดขึ้นอย่างสันติ’ (和平崛起 หรือ China’s Peaceful Rise) จึงเป็นหลักการเดียวที่จะทำให้จีนสามารถมีบทบาทที่มั่นคงในเวทีโลกได้อย่างยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น