xs
xsm
sm
md
lg

“อาเซียน” ขานรับ “ไทย” ฟื้นฉันทามติ ถกจุดยืนร่วมทะเลจีนใต้ก่อนคุย “จีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดาผู้นำของชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ระหว่างการประชุมซัมมิต ณ ห้องจัดเลี้ยงของสำนักนายกรัฐมนตรีบรูไน ในกรุงบันดาร์เสรีเบกาวันเมื่อวันพฤหัสบดี(25)
รอยตอร์ - บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนเพิ่มความพยายามในวันพฤหัสบดี (25) เพื่อนำ “จีน” เข้ามาร่วมในกลไกแบบพหุภาคีซึ่งมุ่งคลี่คลายความขัดแย้งในภูมิภาคแถบนี้ โดยตกลงเห็นพ้องกันตามข้อเสนอของฝ่ายไทยที่จะหาทางเพื่อให้เหล่าชาติสมาชิกอาเซียนเองบรรลุจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ ก่อนหน้าการหารือในกรุงปักกิ่งตามที่วางแผนเอาไว้

อาเซียนใช้ความพยายามอย่างมากในปีที่แล้วเพื่อร่างแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) ในการจัดการกับความตึงเครียดต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ทว่าต้องประสบความล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง ณ การประชุมระดับผู้นำที่กัมพูชา โดยที่เป็นครั้งแรกซึ่งการประชุมซัมมิตอาเซียนเช่นนี้ ไม่สามารถแม้กระทั่งออกคำแถลงของประธานในตอนปิดประชุมได้

กัมพูชา ที่เป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดยิ่งของจีนนั้น ถูกหลายชาติสมาชิกอาเซียนกล่าวหาว่า อาศัยฐานะการเป็นประธานอาเซียนในปี 2012 ของตน กีดกันขัดขวางไม่ให้นำประเด็นปัญหานี้บรรจุเอาไว้ในวาระการประชุม ทั้งๆ ที่กำลังเกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่พิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ตลอดจนมีความกังวลกันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับท่าทีอันแข็งกร้าวของจีนซึ่งมุ่งมั่นบังคับอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตแทบจะทั้งหมดของทะเลดังกล่าว ที่เป็นการอ้างทับซ้อนกับ 4 ชาติสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ที่ต่างอ้างสิทธิ์ในพื้นที่บางส่วน ตลอดจนกับไต้หวัน

สำหรับความริเริ่มที่ออกมาในวันพฤหัสบดี บังเกิดขึ้นในขณะที่เหล่าผู้นำอาเซียนพยายามที่จะลบความแตกต่างที่เขย่าพวกเขาอย่างรุนแรงในปีที่แล้ว แต่ก็ต้องต่อสู้กันหนักทีเดียวในการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างแนวทางปฏิบัติ ซึ่งอาเซียนวาดหวังว่าจะสามารถใช้เป็นกลไกในการบริหารจัดการข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ได้

ทั้งนี้ ตามการแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์ตี นาตาเลกาวา แห่งอินโดนีเซีย ไทยในฐานะที่ได้รับมอบหมายบทบาทจากอาเซียนให้เป็นชาติผู้ประสานงานกับจีน ได้เรียกร้องให้จัดการพูดจาหารือกันในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนเอง ก่อนหน้าการประชุมอาเซียน-จีน ซึ่งคาดหมายกันว่าจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อรำลึกวาระครบรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ที่ทั้งสองฝ่ายได้ก่อตั้ง “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างกันขึ้นมา

การประชุมระดับผู้นำของอาเซียนคราวนี้ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันพุธ (24) สามารถปิดลงด้วยคำแถลงของประธานการประชุมปีนี้ ซึ่งก็คือบรูไน ที่มีเนื้อหาเน้นย้ำความสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางทะเลภายในภูมิภาค

สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียะห์แห่งบรูไน เจ้าภาพการประชุม กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังปิดประชุมว่า บรรดาผู้นำต้องการดำเนินการร่วมกับจีนอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ เพื่อลดความตึงเครียดในน่านน้ำที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์

ขณะที่ เล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน แถลงย้ำว่า อาเซียนจะติดต่อกับจีนในเรื่องนี้ โดยที่จะมีจุดยืนร่วมกัน

“เมื่อเราไปพบกับพวกหุ้นส่วนของเราเพื่อหารือกันในประเด็นปัญหาสำคัญๆ เราจะไปกันในฐานะเป็นกลุ่มหนึ่งเดียว เราจะไปโดยที่มีจุดยืนร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว” เขาบอก พร้อมกับเสริมว่า หลังจากอาเซียนหารือกันเองแล้ว ก้าวต่อไปก็จะเป็นการนำเอาจีนเข้ามาร่วมในการเจรจา

ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่าจีนจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ของอาเซียน แต่เท่าที่ผ่านมาปักกิ่งยืนกรานมาตลอดว่า จะร่วมหารือด้วยเมื่อถึงเวลา “เหมาะสม” และจะเจรจาเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทด้านอธิปไตยในทะเลจีนใต้ในแบบทวิภาคี นั่นคือเฉพาะกับชาติที่ตนมีปัญหาพิพาทด้วยทีละชาติเท่านั้น พร้อมกันนั้น แดนมังกรยังได้เดินหน้ายุทธศาสตร์ “น่านน้ำลึก” ด้วยการเข้ายึดครองดินแดนที่เวียดนามและฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น

แต่สำหรับประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ แม้ไม่ได้เอ่ยถึงกัมพูชาตรงๆ เขาก็ได้ระบุแสดงความพึงพอใจที่บรูไนนำเอาเรื่องทะเลจีนใต้นี้มาบรรจุในวาระของซัมมิตปีนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับปีที่แล้ว

เขาบอกว่า “เป็นเรื่องสวยงาม” จากข้อเท็จจริงที่ว่าบรูไนนำประเด็นนี้ขึ้นเป็นวาระแรกทีเดียว “เราควรที่จะแสดงความขอบคุณจริงๆ จากการที่อาเซียนโดยองค์รวมกำลังมีเจตนารมรณ์ที่จะหารือกัน แทนที่จะนำประเด็นปัญหานี้ไปแอบซุกซ่อนไว้” อากีโนบอกกับผู้สื่อข่าว

อย่างไรก็ตาม ลู่ทางโอกาสที่จะเกิดแนวทางปฏิบัติซึ่งมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายจริงๆ นั้น ยังดูมืดมนอยู่ และคำแถลงตอนปิดประชุมของประธานในวันพฤหัสบดีก็ไม่ได้มีการประกาศอะไรใหม่ๆ เพียงแค่กล่าวว่าเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ได้รับมอบภารกิจให้ “ทำงานอย่างกระตือรือร้นกับจีน” เพื่อบรรลุข้อตกลงที่เสนออกมานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น