เอเจนซี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติครั้งที่ 67 ณ นครนิวยอร์ก กล่าวย้ำถึงความสำคัญของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” และบทบาทสำคัญของไทยในฐานะผู้ประสานความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน
ผู้นำหญิงของไทยแสดงทัศนะเกี่ยวกับปัญหาท้าทายที่เอเชีย-แปซิฟิกกำลังเผชิญ ซึ่งได้แก่ การเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน, ข้อพิพาททะเลจีนใต้ และการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความมั่นคง
ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อผู้ฟังชาวอเมริกันเป็นการเฉพาะว่า อเมริกาเป็นเสมือน “บ้านหลังที่สอง” ของเธอ เนื่องจากเธอจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเคนตักกี และไทยเองก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับสหรัฐฯ โดยมีการทำสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าระหว่างกันเมื่อ 179 ปีที่แล้ว
“ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ดิฉันมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างงานให้กับประชาชนชาวไทย เรายังหวังด้วยว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตประมาณ 5.5 ถึง 6.0 เปอร์เซ็นต์” ยิ่งลักษณ์แถลง
“มูลค่าการค้าขายระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อยู่ที่ราวๆ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2011”
ผลการวิจัยระดับนานาชาติระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าจีดีพีรวมคิดเป็นร้อยละ 36 ของโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยก็ชี้ว่า สิ่งสำคัญประการแรกคือ ต้องส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเปิดตลาดเสรีก็คือแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว แม้จะต้องเผชิญผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซนก็ตาม
ยิ่งลักษณ์ระบุว่า รัฐบาลไทยจะทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างทุกฝ่ายที่มีส่วนในข้อพิพาททะเลจีนใต้ และด้วยฐานะผู้ประสานความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน ก็ทำให้ไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในภูมิภาคนี้
นายกฯ หญิงของไทยยังเรียกเสียงหัวเราะเบาๆ จากที่ประชุม โดยกล่าวว่าการเป็นผู้นำสตรีของเธออาจมีส่วนช่วยให้ความตึงเครียดบรรเทาเบาบางลงได้
“บางทีดิฉันอาจจะนำความอ่อนโยนของผู้หญิงเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาได้... และมองในสิ่งที่เราจะร่วมมือกัน มากกว่าจะมองหาข้อแตกต่าง”
หลายถ้อยคำในสุนทรพจน์ของยิ่งลักษณ์ สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศที่กำลังตึงเครียดในอาเซียน
“เราคงไม่อาจกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองได้ หากยังมีความตึงเครียดและความขัดแย้งในภูมิภาคนี้”
“การเปิดเส้นทางเดินเรือเสรี ซึ่งปราศจากข้อพิพาทและปลอดภัยจากโจรสลัด ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย เราเชื่อว่าน่านน้ำอย่างทะเลจีนใต้ควรจะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่เราจะร่วมมือกัน มากกว่าสร้างความขัดแย้ง”
ยิ่งลักษณ์ระบุด้วยว่า เธอจะพยายามสานสัมพันธ์อันดีกับทั้งจีนและสหรัฐฯ ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกจะเป็นแม่แบบที่ดีสำหรับความร่วมมือในระดับพหุภาคี
หลังการปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น นายกรัฐมนตรีไทยได้เข้าหารือกับ เอริก จอห์น ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยระหว่างปี 2007-2010 โดยได้สนทนาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในไทย เช่น รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่าด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน ปี 2010, การเติบโตของเศรษฐกิจไทยและช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน, บทบาทของไทยในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารโลก และประเด็นอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น การปฏิรูปในพม่า เป็นต้น