xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้าน “ยูเครน” ปลุกม็อบเรือนล้าน รวมพลังบีบ “ประธานาธิบดี” ลาออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนชาวยูเครนหลายแสนคนมารวมตัวประท้วงใหญ่กันที่ จัตุรัสอินดิเพนเดนซ์ ในกรุงเคียฟ เพื่อขับไล่ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช
เอเจนซีส์ - ฝ่ายค้านยูเครน หวังระดมมวลชนเรือนล้านออกมารวมพลังกดดันประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ในวันนี้ (8 ธ.ค.) ด้วยจุดประสงค์ที่จะบีบคั้นให้ประมุขแห่งรัฐซึ่งฝักใฝ่รัสเซียผู้นี้ลาออก แล้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งพร้อมเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู)

การตัดสินใจของประธานาธิบดียานูโควิช ในการยกเลิกการทำข้อตกลงทางการเมือง และการค้าเสรีกับอียู เพื่อหันไปกระชับสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซีย ตลอดจนการสั่งปราบปรามผู้ประท้วง กำลังส่งผลให้ยูเครนเข้าสู่วิกฤตการเมืองเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ

ยานูโควิช ยังทำให้ฝ่ายค้าน และพวกผู้สนับสนุนฝ่ายนี้ยิ่งเดือดดาลมากขึ้น ด้วยการเจรจาเพื่อลงนามสนธิสัญญาการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อวันศุกร์ (6)

มาวันเสาร์ (7) ผู้นำฝ่ายค้านนำโดยอาร์เซนี ยัตเซนยุค หัวหน้าพรรคฟาเธอร์แลนด์ ออกมาประกาศโดยอ้างว่าเป็นมติของชาวยูเครนว่า จะไม่ยอมเจรจาด้วย เว้นแต่ยานูโควิช ถอดรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาออกจากตำแหน่ง ปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม และลงโทษตำรวจที่ปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ฝ่ายค้านต้องการให้รัฐบาลซึ่งจะจัดตั้งกันขึ้นมาใหม่ ฟื้นการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจอันหนักหน่วง ที่บีบคั้นให้ยานูโควิช ต้องหันไปพึ่งรัสเซีย รวมทั้งฟื้นการทำข้อตกลงกับอียู

จากนั้นในตอนบ่ายวันนี้ (8) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีผู้ประท้วงออกมาชุมนุมกันที่จัตุรัสเอกราช ในกรุงเคียฟ ประมาณ 2 แสนคน และข้อเรียกร้องของพวกเขาก็ดูจะดุเดือดเข้มข้นขึ้นอีก โดยที่มีการอ่านคำแถลงของ ยูเลีย ทิโมเชนโก อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงที่เวลานี้ถูกจองจำอยู่ในคุก ทว่า ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในหมู่ฝ่ายค้าน มีเนื้อหาเรียกร้องให้ ประธานาธิบดียานูโควิช ออกจากตำแหน่ง “ในทันที” และฝูงชนที่ชุมนุมอยู่ก็ตะโกนรับว่า “ออกไป! ออกไป! ออกไป!”

คำแถลงของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงฉบับนี้ ซึ่งอ่านให้ที่ชุมนุมฟังโดย เยฟเกเนีย ทิโมเชนโก บุตรสาวของเธอ บอกว่า “ยานูโควิช ได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปร่วมในสโมสรของจอมเผด็จการทั้งหลาย” และ “เราต้องขับไล่เขาออกจากอำนาจด้วยวิธีสันติ และอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

“เขาไม่ได้เป็นประธานาธิบดีของรัฐของเราอีกแล้ว เขาเป็นทรราชที่ต้องชดใช้โลหิตทุกหยาดหยดที่ต้องหลั่งไหลออกมา”

ทั้งนี้ ชาวยูเครนจำนวนมากที่ต้องการให้ประเทศผูกพันกับฝ่ายตะวันตกไม่ใช่รัสเซีย ได้ออกมาประท้วงใหญ่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว หลังจากรัฐบาลประกาศระงับการดำเนินการเพื่อลงนามข้อตกลงกับอียูกะทันหัน ทั้งที่เตรียมการกันไว้นานแล้ว

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1 ธ.ค.) ประชาชนเรือนแสนออกมารวมตัวในกรุงเคียฟ และทางภาคตะวันตกของยูเครน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผู้คนเอนเอียงไปทางนิยมตะวันตก โดยถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับจาก “การปฏิวัติสีส้มปี 2004” ซึ่งเป็นการกดดันให้ประกาศการเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยการเลือกตั้งในคราวนั้น ยานูโควิช เป็นผู้ชนะ ทว่า ฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคดโกง

สำหรับการประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จบลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงของตำรวจปราบจลาจล ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน

วิตาลี คลิสช์โก อดีตนักมวยระดับแชมเปี้ยนที่ผันตัวเองมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า คนนับล้านควรออกมาแสดงพลังบนถนนในวันอาทิตย์นี้ “อนาคตของเราขึ้นอยู่กับพี่น้อง”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3) ฝ่ายค้านได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ แต่ไม่สามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ได้จึงพ่ายแพ้ไปตามระเบียบ

ด้านยานูโควิช ที่จะต้องลงศึกเลือกตั้งในปี 2015 ให้สัญญาจะสอบสวนการใช้กำลังปราบผู้ชุมนุม แต่ไม่บอกว่า พร้อมเจรจากับฝ่ายค้านหรือไม่

อย่างไรก็ดี ผู้นำยูเครนตัดสินใจเลื่อนการเยือนมอลตาที่กำหนดไว้ในสัปดาห์นี้ บ่งชี้กระแสกดดันที่คุกรุ่นมากขึ้น

สำหรับปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียนั้น โจมตีการประท้วงของฝ่ายค้านในยูเครน ว่าเหมือนการสังหารหมู่มากกว่าการปฏิวัติ

ตรงข้ามกับผู้นำของโลกตะวันตกที่เรียกร้องให้รัฐบาลยูเครนรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว
ชายชาวยูเครนกำลังรอเสิร์ฟซุปให้กลุ่มผู้ประท้วง ในเต็นท์ของพรรคฝ่ายค้านยูเครน
ทั้งนี้ มีนักวิเคราะห์หลายคนเปรียบเทียบการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นในยูเครน และในไทยในเวลาใกล้เคียงกัน โดยที่รูปแบบ และเนื้อหาในการต่อสู้ก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกันหลายประการ ทว่า ปฏิกิริยาการตอบสนองจากฝ่ายตะวันตกกลับออกมาในทางตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัด

เอลมาร์ บร็อค ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศน์สัมพันธ์รัฐสภายุโรป กล่าวระหว่างเยือนเคียฟเมื่อวันเสาร์ว่า บรัสเซลส์ อาจไม่อนุญาตให้ผู้ที่รับผิดชอบในการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในยูเครนเดินทางเข้าสู่อียู

พวกผู้ประท้วงในกรุุงเคียฟได้เข้ายึดจัตุรัสเอกราช และตั้งเต็นท์พักแรม รวมถึงครัวภาคสนาม ตลอดจนยึดอาคาร 2 หลังใกล้เคียงเพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการ และศูนย์สื่อมวลชน และปิดทางเข้าออกอาคารรัฐบาลหลายแห่ง

บรรยากาศตึงเครียดชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อทางการประกาศในวันเสาร์ว่า จะส่งตำรวจปราบจลาจลประจำการหน้าสำนักงานสถานีทีวีของรัฐ

ต่อมา เช้าวันอาทิตย์ วิตาลี ซาคาร์เชนโก รัฐมนตรีมหาดไทย ออกคำแถลงเรียกร้องให้ผู้ประท้วงเคารพกฎหมาย และว่าตำรวจพร้อมให้ความร่วมมือกับประชาชน

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การประท้วงอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง และฉุดค่าเงินของยูเครน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยูเครนยืนกรานปฏิเสธการทำข้อตกลงกับอียู โดยอ้างคำขู่คว่ำบาตรของรัสเซีย รวมทั้งการที่อียูไม่ยอมให้การสนับสนุนด้านการเงิน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า มอสโกเสนอก๊าซธรรมชาติราคาถูก และเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์ แลกกับการที่ยูเครนเข้าร่วมสหภาพศุลกากรที่รัสเซียกำลังผลักดันอยู่เพื่อคานอำนาจกับอียู

เอ็ดเวิร์ด ลูคัส บรรณาธิการอาวุโสของนิตยสารอิโคโนมิสต์ทวิตโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ยานูโควิช สัญญากับปูติน ระหว่างหารือเมื่อวันศุกร์ว่า จะเข้าร่วมสหภาพศุลกากรภายในปี 2015 เพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือ

ทว่า เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศยืนยันว่า ไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ ในระหว่างการหารือดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น