เอเอฟพี – ญี่ปุ่นเผชิญเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับแก๊งยากูซาครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปี และตีแผ่สายสัมพันธ์ลึกล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับองค์การอาชญากรรมเหล่านี้ที่กำลังวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด ด้วยการขยับขยายเข้าสู่ธุรกิจปกติ ตั้งแต่การซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลวงในจนถึงการอุดหนุนเงินทุนให้แก่บริษัทน้องใหม่ที่มีแวว
เจ็ค อะเดลสไตน์ นักเขียนหนังสือแนวอาชญากรรมเจ้าของผลงานเบสต์เซลเลอร์ “โตเกียว ไวซ์” (Tokyo Vice) ที่กำลังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ และอดีตผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุง บอกว่า การซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลวงในทำรายได้มหาศาลกว่าการกรรโชกทรัพย์หลายเท่า และว่าแก๊ง ยามากูชิ-กูมิ ซึ่งเป็นแก๊งยากูซ่าใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เปรียบได้กับ “โกลด์แมน แซคส์พกปืน”
อะเดลสไตน์เสริมว่า สมาชิกยากูซาที่มักมีเอกลักษณ์จากรอยสักเต็มตัวและการเฉือนปลายนิ้วมากมาย ได้แปลงโฉมตัวเองจากนักเลงข้างถนนมาใส่สูทสะอาดสะอ้านเดินเข้า-ออกห้องประชุมบริษัทต่างๆ ในฐานะนักลงทุน พร้อมลักษณะพิเศษในการรักความเสี่ยงเป็นชีวิตจิตใจ
ยากูซานั้นครอบครองพื้นที่สีเทาในสังคมญี่ปุ่นที่ประชาชนส่วนใหญ่เคารพกฎหมาย อาชญากรเหล่านี้เป็นที่เกรงกลัวและเกลียดชังของชาวบ้าน แต่ก็เป็นที่นับถือยำเกรงพอๆ กัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านหนัง นิตยสาร และมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่น
เช่นเดียวกับแก๊งมาเฟียของอิตาลีและแก๊งอั้งยี่สมาคมลับของจีน ยากูซาก็เกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายตั้งแต่การพนัน ยาเสพติด โสเภณี ไปจนถึงเงินกู้นอกระบบ การเรียกค่าคุ้มครอง ฯลฯ โดยที่ส่วนใหญ่มีการจัดตั้งบริษัทบังหน้า แต่ที่แตกต่างจากแก๊งอาชญากรชาติต่างๆ คือ ยากูซาเป็นกลุ่มที่ฐานะถูกต้องตามกฎหมาย มีสำนักงานตามเมืองใหญ่ แม้อาจถูกปราบปรามเป็นระยะๆ จากกิจกรรมที่ไม่น่าพึงใจบางอย่าง
บางครั้งยากูซาก็ช่วยเหลือสังคม เช่น แก๊งยามากูชิ-กูมิ ที่บริจาคอาหารให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองโกเบเมื่อปี 1995
แต่ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังถูกต่างชาติกดดันให้จัดการกับยากูซาและกิจกรรมการฟอกเงิน โดยขณะนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำลังดำเนินการเพื่ออายัดทรัพย์สินในต่างแดนของกลุ่มอาชญากรใหญ่แดนปลาดิบที่มีรายได้ผิดกฎหมายหลายพันล้านดอลลาร์
การปราบปรามยังหนักหน่วงขึ้นหลังจาก มิซูโฮ แบงก์ยอมรับเมื่อเดือนกันยายนว่า ปล่อยกู้ให้ยากูซา เช่นเดียวกับแบงก์ชั้นนำอย่างน้อยอีก 4 แห่ง ซึ่งรวมถึงมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น
ทั้งนี้ บางครั้งเงินกู้เหล่านั้นถูกนำไปใช้อย่างถูกกฎหมาย เช่น ซื้อรถสปอร์ตจากต่างประเทศ แต่บางทีรถสปอร์ตเหล่านั้นก็ถูกนำไปขายต่อในตลาดมืด และไม่มีการใช้คืนเงินกู้แต่อย่างใด
กรณีของมิซูโฮอื้อฉาวหนักเพราะก่อนหน้านั้น ผู้บริหารระดับสูงหลายคนของแบงก์บอกว่า ไม่รู้ไม่เห็นเรื่องเงินกู้นั้นมาก่อน แต่จำใจกลับลำหลังจากรายงานที่ธนาคารสั่งให้จัดทำ ฟ้องให้เห็นว่าความจริงเป็นตรงกันข้าม
หลังจากสารภาพ มิซูโฮแถลงว่า จะมีการลงโทษผู้บริหารกว่า 50 คน และประธานบริหารไม่ขอรับเงินเดือน 6 เดือน
ว่าที่จริงมิซูโฮไม่ใช่แบงก์แรกที่ออกมายอมรับ ขณะที่ตำรวจกังวลว่า ธนาคารหลายแห่งอาจเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนต่างๆ ต่อพวกบริษัทที่พัวพันเกี่ยวข้องกับเหล่าแก๊งยากูซา
นักเคลื่อนไหวต่อต้านยากูซาในโตเกียวที่สนับสนุนเสียงเรียกร้องของรัฐมนตรีคลัง ทาโร อาโสะ ให้เพิ่มกฎเข้มงวดด้านการธนาคาร เล่าว่า แบงก์ใหญ่มักได้รับการติดต่อจากบุคคลหรือองค์กรที่มีสายสัมพันธ์กับยากูซาที่ต้องการระดมเงิน และแม้หลายบริษัทไม่อยากข้องแวะกับแก๊งอาชญากรรม แต่เนื่องจากยากูซาสมัยใหม่พัฒนาวิธีการซับซ้อนแยบยลจนยากที่จะกลั่นกรองได้
ต้นปีนี้ สมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์ญี่ปุ่นได้ตั้งฐานข้อมูลเพื่อช่วยสกัดยากูซาจากตลาดหุ้น และความกดดันให้ทางการเร่งปัดกวาดปัญหานี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นเนื่องจากญี่ปุ่นกำลังอาสาเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกปี 2020
จากข้อมูลของตำรวจ การปราบปรามดูเหมือนเดินมาถูกทาง เนื่องจากจำนวนสมาชิกยากูซาลดลงจากทศวรรษที่แล้วถึง 28% เหลือ 63,000 คนในปีที่ผ่านมา
ทว่า ในความเป็นจริง ยากูซายังฝังลึกในสังคมญี่ปุ่น และบางคนยกย่องว่า ช่วยให้อาชญากรรมบนท้องถนนลดลง
นอกจากนั้น ยากูซายังมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองอาวุโส รวมถึงเคอิชู ทานากะ อดีตรัฐมนตรียุติธรรมที่ต้องลาออกไปเมื่อปีที่แล้วหลังจากเรื่องนี้เป็นข่าวออกมา
อะเดลสไตน์บอกว่า มีนักการเมืองมากมายที่ได้ตำแหน่งจากการสนับสนุนของยากูซา ดังนั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่า ยากูซาไร้อิทธิพล
“นี่เป็นระบบที่แปลกประหลาดมาก เพราะแก๊งอาชญากรรมญี่ปุ่นถือเป็นนิติบุคคลโดยถูกต้องตามกฎหมาย ถูกควบคุม แต่ไม่ถูกแบน”