xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : มหาอำนาจยิ้มร่าดัน “อิหร่าน” ทำข้อตกลงชั่วคราวควบคุม “นิวเคลียร์” สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีต่างประเทศ จาวัด ซาริฟ แห่งอิหร่าน สวมกอดรัฐมนตรีต่างประเทศ โลรองต์ ฟาเบียส แห่งฝรั่งเศส หลังอิหร่านบรรลุข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์เบื้องต้นกับมหาอำนาจ P5+1 ที่นครเจนีวา
จับตาลุ้นกันมานานหลายสัปดาห์ ในที่สุดมหาอำนาจ 6 ประเทศก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้อิหร่านยอมทำข้อตกลงควบคุมโครงการนิวเคลียร์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรแบบจำกัด ซึ่งนับเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่อาจช่วยฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเตหะรานกับโลกตะวันตก และลดการเผชิญหน้าที่เรื้อรังมานานนับสิบปี

ภายหลังการเจรจานานกว่า 4 วันที่นครเจนีวา มหาอำนาจ P5+1 ซึ่งประกอบด้วย 5 ชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และรัสเซีย บวกกับมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่งคือ เยอรมนี ก็ได้บรรลุข้อตกลงกับอิหร่านเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งนับเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดและการเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี และช่วยลดโอกาสที่ตะวันออกกลางจะตกอยู่ในไฟสงครามสืบเนื่องจากความทะยานอยากด้านนิวเคลียร์ของเตหะราน

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมข้อตกลงว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญในรอบเกือบสิบปี อันจะนำไปสู่การผ่อนคลายความกังวลว่าเตหะรานจะครอบครองระเบิดนิวเคลียร์ในที่สุด แต่ก็ยังสำทับว่า หากอิหร่านไม่ปฏิบัติตามสัญญาในช่วง 6 เดือนข้างหน้า วอชิงตันก็พร้อมจะยกเลิกการผ่อนคลายบทลงโทษ และกดดันเตหะรานให้หนักขึ้นอีกอย่างแน่นอน

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ก็แถลงภายหลังบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรในตะวันออกกลางซึ่งรวมถึงอิสราเอลมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ส่วน แคทเธอรีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ที่เจรจากับอิหร่านในฐานะตัวแทนชาติมหาอำนาจสำคัญทั้ง 6 ก็เอ่ยถึงความสำเร็จนี้ว่านำไปสู่พื้นที่และโอกาสในการหารือ เพื่อบรรลุวิธีแก้ไขข้อขัดแย้งที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
ประธานาธิบดี ฮัสซัน รอฮานี แห่งอิหร่าน
อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่ไม่พอใจที่สุดคงจะหนีไม่พ้นอิสราเอลซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิหร่านมานาน และยังเคยขู่จะ “โจมตีล่วงหน้า” เพื่อปกป้องตนเอง หากเห็นว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านนั้นก้าวหน้าจนถึงขั้นผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ ซึ่งเกี่ยวกับข้อตกลงชั่วคราวนี้ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ก็ออกมาวิจารณ์ทันทีว่า ยังมีช่องโหว่ให้อิหร่านสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้อยู่

ข้อตกลงชั่วคราวซึ่งจะมีผลบังคับเพียง 6 เดือนนับจากนี้จะช่วยให้ผู้ตรวจสอบจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สามารถเข้าไปยังโรงงานนิวเคลียร์สำคัญๆ ในอิหร่านได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยูเรเนียมที่อิหร่านได้เพิ่มความเข้มข้นสูงจนอยู่ในระดับปานกลางที่ 20% ซึ่งเป็นขีดที่ใกล้จะสามารถนำไปทำอาวุธได้ ก็จะถูกทำให้หมดฤทธิ์ไปภายในระยะเวลา 6 เดือน

อิหร่านยังรับปากจะไม่สะสมยูเรเนียมความเข้มข้นต่ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่ติดตั้งเครื่องหมุนเหวี่ยงเพิ่มความเข้มข้นวัสดุนิวเคลียร์ หรือสร้างเตาปฏิกรณ์อารัคเพิ่มเติมด้วย

สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะยอมผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี, ทองคำ และโลหะมีค่าที่ส่งออกจากอิหร่าน หากว่าเตหะรานสามารถปฏิบัติได้ตามสัญญา นอกจากนี้วอชิงตันก็จะระงับข้อจำกัดทางการค้าที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของอิหร่านด้วย

โลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ออกมาให้ข่าวเมื่อวันจันทร์(25)ว่า สหภาพยุโรป (อียู) อาจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านบางส่วนในเดือนธันวาคม หลังจากที่เตหะรานรับปากจะจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ตามที่มหาอำนาจเรียกร้อง และแม้อิสราเอลจะประณามข้อตกลงนี้ว่าเป็น “ความผิดพลาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์” แต่เชื่อว่าผู้นำยิวจะไม่ออกคำสั่งโจมตีเตหะราน “เพราะคงไม่มีชาติใดเข้าใจ” การกระทำเช่นนั้นของอิสราเอล “ในเวลาเช่นนี้”
การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านจะทำให้น้ำมันดิบอิหร่านกลับสู่ตลาดโลกอีกครั้ง
จับตา “น้ำมันดิบอิหร่าน” ไหลกลับสู่ตลาดโลก

นักวิเคราะห์หลายสถาบันได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับผลของการทำข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจ P5+1 โดยส่วนใหญ่มองว่า การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจะเปิดทางให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้อีกครั้ง ซึ่งก็จะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบโลกล้นตลาดมากยิ่งขึ้น และหากบริษัทประกันในยุโรปได้รับอนุญาตให้ทำประกันแก่เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่าน น้ำมันดิบเหล่านี้ก็จะหลั่งไหลไปสู่ตลาดใหญ่ๆ ในเอเชีย เช่น จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

แนวโน้มที่น้ำมันดิบอิหร่านจะกลับคืนสู่ตลาดโลกนั้นมีความเป็นไปได้สูง เพราะความสำเร็จในการเจรจาที่นครเจนีวาคงจะทำให้สภาคองเกรสสหรัฐฯ โหวตคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมได้ลำบากยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์จากธนาคารบาร์เคลย์สมองว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงหลังอิหร่านตกลงกับมหาอำนาจได้สำเร็จจะคงอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากในการประชุมองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในวันที่ 4 ธันวาคม คาดว่าจะมีการประกาศลดกำลังผลิตลงอีก

ธนาคารเครดิตสวิสส์ประเมินว่า อิหร่านมีน้ำมันดิบราว 25-30 ล้านบาร์เรลที่จะสามารถปล่อยออกสู่ตลาดได้ในเวลาอันรวดเร็ว และภายใน 6 เดือนหลังมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ อิหร่านจะสามารถฟื้นฟูตลาดน้ำมันที่สูญเสียไปได้ถึงร้อยละ 75

แม้ผลกระทบจากการที่น้ำมันดิบอิหร่านไหลกลับสู่ตลาดจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ จูเลียน เจสซอปส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบัน แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
กำลังโหลดความคิดเห็น