xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่าน-ปท.มหาอำนาจยังไม่โอเค “โครงการนุกเตหะราน” แม้คุยคืบหน้า-ลุ้นกันต่อปลายเดือนนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แคทเธอรีน แอชตัน ประธานนโยบายการต่างประเทศของอียู และ โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน ขณะอยู่ในงานแถลงข่าว หลังการหารือเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นวันที่ 3
เอเจนซีส์ – อิหร่านและมหาอำนาจไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องโครงการนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ อย่างไรก็ดี นักการทูตระบุการเจรจามาราธอนที่ดำเนินมา 3 วันมีความคืบหน้าที่ดี และทุกฝ่ายจะกลับมาหารืออีกครั้งวันที่ 20 ที่จะถึงนี้

ความหวังในการบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติการเผชิญหน้านานนับทศวรรษเรืองรองขึ้น หลังจากนักการทูตชั้นนำของโลกเปิดเจรจาที่เจนีวาในวันพฤหัสบดี (7) ก่อนที่จะริบหรี่ลงเมื่อปรากฏความไม่ลงรอยในหมู่มหาอำนาจเอง โดยมีฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเปิดประเด็น

ภายหลังความพยายามรอบสุดท้ายเมื่อเช้าวันอาทิตย์ (10) แคเทอรีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) แถลงว่า แม้มีความคืบหน้ารูปธรรมหลายอย่าง แต่ยังมีปัญหาบางอย่างซึ่งทุกฝ่ายจะกลับมาร่วมกันแก้ไขอีกครั้งในวันที่ 20 นี้

ขณะที่ โมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ยอมรับว่า การเจรจาล้มเหลว แต่บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี และเสริมว่า ตนและแอชตันหวังว่า จะสามารถลงนามรับรองข้อตกลงได้ภายในปลายเดือนนี้

ทั้งนี้ ลอรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสเป็นคนแรกซึ่งออกมาประกาศก่อนที่จะมีการแถลงเป็นทางการว่า ข้อตกลงล้มเหลว โดยก่อนหน้านั้นเขาเป็นผู้จุดกระแสว่า ข้อเสนอที่หารือกันไม่เพียงพอที่จะจำกัดขีดวงความพยายามในการผลักดันโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน

ฟาเบียสยืนยันว่า ปารีสต้องการข้อตกลงนี้ แม้มีเจ้าหน้าที่หลายคนวิจารณ์ว่า ฝรั่งเศสพยายามขัดขวางความพยายามในการบรรลุข้อตกลงโดยไม่จำเป็นก็ตาม

ด้านจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่หั่นระยะเวลาการเยือนตะวันออกกลางเพื่อเข้าร่วมหารือในเจนีวาคราวนี้ แสดงทัศนะว่า การเจรจามีความคืบหน้าอย่างชัดเจน และสำทับว่า วอชิงตันยังคงมุ่งมั่นในการทำให้มั่นใจว่า อิหร่านจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์

การเจรจาที่นครเจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้ เป็นการเจรจาระหว่างอิหร่านกับกลุ่ม P5+1 ซึ่งประกอบด้วย 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คืออังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐฯ และอีก 1 ชาติคือเยอรมนี

ร่างข้อตกลงที่หารือกันนั้นกำหนดให้อิหร่านยุติการเพิ่มความเข้มข้นเสริมสมรรถนะยูเรเนียมขึ้นไปจนถึง 20% ซึ่งเป็นระดับที่ขาดเพียงขั้นตอนทางเทคโนโลยีอีกไม่กี่ขั้นก็จะสามารถผลิตยูเรเนียมความเข้มข้นใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ได้, ลดปริมาณยูเรเนียมที่เก็บเอาไว้ในปัจจุบัน, และตกลงจะไม่เปิดใช้เตาปฏิกรณ์พลูโตเนียมที่อารัค เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่พวกชาติมหาอำนาจจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ในขอบเขตจำกัดและ “ยังสามารถนำเอามาตรการเหล่านี้กลับมาใช้ได้ใหม่” เป็นต้นว่า การเลิกอายัดเงินทุนของอิหร่านที่อยู่ในบัญชีเงินฝากต่างประเทศบางส่วน ทั้งนี้ประมาณการกันว่าอิหร่านมีเงินทุนเหล่านี้เป็นมูลค่าราว 50,000 ล้านดอลลาร์

หลังจากนั้น การเจรจาระหว่างสองฝ่ายกะมุ่งเน้นไปที่การจัดทำข้อตกลงซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น โดยที่อิหร่านหวังว่าจะสามารถมองเห็นหน้าเห็นหลังได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ขณะที่ตอนต่อๆ ไปของการผ่อนคลายการคว่ำบาตรซึ่งชาติมหาอำนาจจะกระทำ อาจจะได้แก่ การผ่อนคลายการจำกัดการค้าโลหะมีค่าชั่วคราว รวมถึงระงับการล็อบบี้ของวอชิงตันไม่ให้ประเทศต่างๆ ซื้อน้ำมันจากเตหะราน

ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจากการชูนโยบายผลักดันการเจรจาว่าด้วยนิวเคลียร์ ออกมาเรียกร้องระหว่างที่คณะผู้เจรจาของทั้งสองฝ่ายยังคงต่อรองกันอยู่ที่เจนีวาว่า มหาอำนาจโลกไม่ควรปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือไป

ความพยายามครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจของอิสราเอล ผู้เป็นศัตรูถาวรของอิหร่าน อีกทั้งเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า เวลานี้เป็นเพียงประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ทั้งนี้อิสราเอลได้พยายามลงแรงขัดขวางทุกวิถีทางไม่ให้มีการผ่อนคลายมาตรการลงโทษอิหร่าน ซึ่งกำลังส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันของเตหะรานหายไปกว่าครึ่ง ฉุดค่าเงินตราของอิหร่านให้ดำดิ่ง และดันอัตราเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 40% โดยที่รัฐยิวย้ำว่านานาชาติควรยอมลดการคว่ำบาตรอิหร่าน ต่อเมื่อเตหะรานยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ไปโดยสิ้นเชิงเท่านั้น
(กลาง) อับบาส อารักชี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ถูกนักข่าวรุมล้อมในช่วงการแถลงสรุปการประชุมในวันนี้ (10 พ.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น