xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ภารกิจร่วมบรรเทาทุกข์‘ไห่เยี่ยน’เสริมส่งแผน‘ปักหมุดเอเชีย’ของUS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - นักวิเคราะห์ชี้ การเข้าร่วมบรรเทาทุกข์ครั้งใหญ่ในฟิลิปปินส์ของกองทัพสหรัฐฯ ช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชีย ของ “โอบามา” เป็นอย่างดี และยังทำให้แดนอินทรีมีแต้มต่อสำคัญในการเจรจาขยายความร่วมมือทางทหารกับแดนตากาล็อก ตลอดจนคานอำนาจของจีนที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้

เรือและเครื่องบินของสหรัฐฯราว 50 ลำ กำลังเข้าปฏิบัติภารกิจบรรทุกทุกข์ในเขตประสบภัยจากมหาไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ในบริเวณตอนกลางของฟิลิปปินส์อย่างแข็งขันตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว (14 พ.ย.) ในจำนวนนี้มีทั้งเครื่องบินขนส่งแบบ ซี-130 รวม 10 ลำ, เครื่องบินลูกผสม วี-22 ออสเปรย์ 12 ลำ, และเฮลิคอปเตอร์ซีฮอว์ก 14 ลำ จากเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน ทำหน้าที่หย่อนสิ่งของช่วยเหลือจากทางอากาศ

ความพยายามเหล่านี้ตอกย้ำถึงความเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และก็อาจจะเติบโตอย่างแข็งแกรงยิ่งขึ้นไปอีกจากภัยพิบัติคราวนี้ ในขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังผลักดันนโยบาย “ปักหมุด” ในเอเชีย

นอกจากจัดส่งอาหาร น้ำ และยาเวชภัณฑ์แล้ว กองทหารอเมริกันยังหยิบยื่นไมตรีจิตที่อาจปูทางให้อเมริกาสามารถเพิ่มการปรากฏตัวในทางทหารมากขึ้นในฟิลิปปินส์ หนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ด้วยเป้าหมายแห่งการมุ่งคานอำนาจจีน

คาร์ล เธเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเอเชียชี้ว่า พัฒนาการเช่นนี้จะทำให้อเมริการับมือสถานการณ์ต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ เรือจอร์จ วอชิงตัน ขณะนี้จอดอยู่ใกล้จุดที่กองทหารภายใต้การนำของพลเอกดักลาส แมคอาเธอร์ ของสหรัฐฯ ยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1944 ในชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร และเป็นการทำตามคำมั่นของแมคอาเธอร์ที่เคยประกาศในตอนถูกกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นกดดันจนต้องถอนตัวออกไปก่อนว่า "ผมจะกลับมา"

ในวันจันทร์ (19พ.ย.) อเมริกายังประกาศให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ฟิลิปปินส์อีก 10 ล้านดอลลาร์ รวมเป็นมูลค่าความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในคราวนี้ทั้งสิ้นกว่า 37 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน วอชิงตันและมะนิลากำลังเจรจาเพื่อเพิ่มจำนวนกำลังทหารของอเมริกาซึ่งสับเปลี่ยนหมุนเวียนประจำอยู่ในฟิลิปปินส์ โดยที่รวมถึงเครื่องบิน เรือ เครื่องมืออุปกรณ์ และกองทหาร ทั้งสำหรับการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและการรักษาความมั่นคงทางทะเล

การขยายความร่วมมือทางทหารที่เจรจากันอยู่นี้ ซึ่งจะรวมถึงการใช้ฐานทัพเพื่อการประจำการชั่วคราวด้วย บ่งชี้ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่กระเตื้องขึ้นมาก หลังจากฟิลิปปินส์ปิดฐานทัพขนาดใหญ่ที่สหรัฐฯ ใช้ประจำการมาหลายสิบปีเมื่อปี 1992 และต่อแต่นั้นมา มะนิลาอนุญาตให้กองทหารอเมริกันกลับเข้ามาก็เพื่อฝึกและร่วมซ้อมรบเท่านั้น

เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของฟิลิปปินส์เผยว่า อุปกรณ์บางอย่างที่อเมริกาใช้อยู่ในขณะนี้ได้นำเข้ามาติดตั้งก่อนไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่มด้วยซ้ำ พร้อมกันนั้นเขาคาดหวังว่า ในอนาคตหากสองประเทศลงนามข้อตกลงขยายความร่วมมือทางทหาร ฟิลิปปินส์จะสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ดียิ่งขึ้น

ตรงข้ามกับจีนที่ถูกวิจารณ์ว่าตระหนี่ถี่เหนียว ค่าที่แรกทีเดียวประกาศให้ความช่วยเหลือฟิลิปปินส์เพียง 200,000 ดอลลาร์ (โดยเป็นของรัฐบาลจีนครึ่งหนึ่ง และสภากาชาดจีนอีกครึ่งหนึ่ง) ก่อนเพิ่มเป็น 1.64 ล้านดอลลาร์ และเพิ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17) หรือเกือบสิบวันหลังจากไห่เยี่ยนถล่ม ที่ปักกิ่งแสดงความพร้อมส่งทีมกู้ภัยและหน่วยแพทย์ไปช่วย

จีนและฟิลิปปินส์นั้นมีกรณีพิพาทกันอยู่เรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ ชาวจีนจำนวนมากระบายอารมณ์ในซินล่าง เว่ยโป๋ หรือทวิตเตอร์เวอร์ชันแดนมังกรว่า ฟิลิปปินส์ไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือใดๆ

ย้อนกลับมาที่ความคืบหน้าของสหรัฐฯ พลจัตวาพอล เคนเนดี ผู้บัญชาการกองพลน้อยนาวิกโยธินที่ 3 ซึ่งทำหน้าที่บัญชาการปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ของอเมริกาในฟิลิปปินส์ เผยว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนประจำการอย่างถาวรในแดนตากาล็อกแต่อย่างใด และระยะเวลาในการปฏิบัติภารกิจจะขึ้นอยู่กับความต้องการของฟิลิปปินส์ แต่ยอมรับว่า สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ในแง่ได้รับความชื่นชมและการยอมรับจากชาวฟิลิปปินส์มาก

ขณะที่ แพทริก โครนิน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิกของ เซนเตอร์ ฟอร์ อะ นิว อเมริกัน ซีเคียวริตี้ ในวอชิงตัน ขานรับว่า ขณะที่สหรัฐฯยังคง กองกำลังมุ่งมั่นเน้นหนักกับการช่วยผู้รอดชีวิตจากไห่เยี่ยน

“อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ช่วยให้อเมริกามีแต้มต่อในการเจรจาเพื่อเพิ่มจำนวนทหารที่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนประจำอยู่ในฟิลิปปินส์มากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น