xs
xsm
sm
md
lg

มะกันทำพิธีตั้งชื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน “ชั้นใหม่” ลำแรก เทคโนโลยีสุดล้ำ แต่ทำงบบานปลายอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซุซาน ฟอร์ด เบลส์ บุตรสาวของประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขณะกำลังจะใช้ขวดแชมเปญฟาดหัวเรือ ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด ตามธรรมเนียม
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำพิธีตั้งชื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน ลำแรกในชั้นล่าสุดของประเทศ เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) โดยเรือที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านดอลลาร์ลำนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นเรือรบที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด” ซึ่งกำลังเผชิญปัญหางบโครงการบานปลายอย่างใหญ่หลวง ในเวลาที่สหรัฐฯ กำลังได้รับแรงกดดันจากวิกฤตงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นมีกำหนดจะนำเข้าประจำการในปี 2016

เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ลำนี้ ได้รับการตั้งชื่อ ในพิธีการซึ่งจัดขึ้นที่เมืองนิวพอร์ตนิวส์ มลรัฐเวอร์จิเนีย บริเวณใกล้กับฐานทัพเรือ นอร์ฟอล์ก อันกว้างขวาง

ซูซาน ฟอร์ด เบลส์ บุตรสาวของประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด แห่งสหรัฐฯ ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้กล่าวประสาทพรว่า “ขอพระเจ้าทรงคุ้มครอง และปกปักรักษาเรือ ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด ตลอดจนผู้ที่สร้างมันขึ้นมา รวมทั้งชายและหญิงที่จะแล่นเรือลำนี้ออกไปในเส้นทางที่อันตราย” ก่อนที่เธอจะนำขวดแชมเปญฟาดเรือลำยักษ์ลำนี้ ตามธรรมเนียมของการปล่อยเรือใหม่ลงท้องทะเล

เรือ เจอรัลด์ ฟอร์ด ลำนี้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ได้รับการออกแบบใหม่ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และพลเรือเอก โจนาธาน กรีนเนิร์ต เสนาธิการทหารเรือเรียกเรือรบลำนี้ว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยี”

อย่างไรก็ตาม พิธีการที่จัดขึ้นอย่างเอิกเกริกครั้งนี้ ดูจะขัดแย้งกับปัญหาที่โครงการนี้กำลังประสบ คืองานเสร็จสมบูรณ์ไปเพียงแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนวันส่งเรือประจำการไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2016

นอกจากนี้ ปัญหาการตัดงบประมาณแบบอัตโนมัติ และความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรเงินทุนให้กับโครงการอื่นๆ อย่างโครงการเรือดำน้ำด้วย ทำให้ กรีนเนิร์ตเตือนว่า เจอรัลด์ ฟอร์ดอาจออกประจำการล่าช้ากว่ากำหนดเดิม “ไม่เกิน 2 ปี” อีกทั้งกล่าวเสริมด้วยว่า ความล่าช้าเช่นนี้ จะบีบให้สหรัฐฯ ต้องพึ่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ในปัจจุบันมีอยู่ 10 ลำ และหมายความว่า “สมรรถนะ (ของปฏิบัติการในช่วงเวลาวิกฤต) จะลดต่ำลง”

ทั้งนี้ กฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดว่ากองทัพต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ 11 ลำ ทว่าในเวลานี้มีเรือที่สามารถใช้งานเพียง 10 ลำเท่านั้น นับตั้งแต่ได้ปลดประจำการเรือ “ยูเอสเอส เอนเตอร์ไพรซ์” ไปเมื่อปี 2012

เรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งสหรัฐฯ ใช้งานอยู่ในปัจจุบันเป็นพวกที่นำเข้าประจำการในช่วงระหว่างปี 1975 ถึง 2009 ทั้งหมดเป็นเรือชั้นนิมิตซ์ (Nimitz class) ในขณะที่เรือ เจอรัลด์ ฟอร์ด นั้นเป็นเรือชั้นใหม่ที่ได้รับการออกแบบมาใหม่ โดยเรือในชั้นนี้ที่จะนำเข้าประจำการเป็นลำต่อๆ ไป คือ เรือจอห์น เอฟ เคนเนดี และเรือเอนเทอร์ไพรซ์ลำใหม่ โดยเรือทั้งหมดเหล่านี้มีความยาวไล่เลี่ยกันคือราว 330 เมตร

การออกแบบเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น “ฟอร์ด” มุ่งเพิ่มสมรรถนะให้เครื่องบินขับไล่ และเฮลิคอปเตอร์ ที่ประจำอยู่บนเรือสามารถออกปฏิบัติการทางอากาศได้หลายเที่ยวมากขึ้นอีกประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และผลิตน้ำจืดด้วยกระบวนการแยกเกลือจากน้ำทะเลได้มากขึ้น จึงทำให้ลูกเรือสามารถอาบน้ำได้สะดวกสบาย

ขณะเดียวกัน เรือบรรทุกเครื่องบินชั้น “ฟอร์ด” จะใช้ลูกเรือลดลงราว 700 คน รวมทั้งช่วยประหยัดงบประมาณในด้านการซ่อมบำรุงเรือ

อย่างไรก็ตาม ค่าต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน เจอรัลด์ ฟอร์ด ได้พุ่งสูงลิ่วเกินความคาดหมาย โดยตั้งแต่การเซ็นสัญญาสั่งต่อเรือลำนี้ในปี 2008 เป็นต้นมา พบว่าค่าต่อเรือได้พุ่งพรวดขึ้นเกินงบประมาณที่กำหนดไปแล้ว 27 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งอยู่ในระดับ 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น