xs
xsm
sm
md
lg

‘อิเหนา’ฟิวส์ขาดกรณีถูกดักสอดแนม เข้าร่วมดันมติป้องสิทธิส่วนตัวในUN

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศแดนอิเหนา
เอเจนซีส์ - อินโดนีเซียประกาศหนุนร่างมติในยูเอ็นของเยอรมนี-บราซิล ย้ำหมดความอดทนกับการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอเมริกาเป็นหัวโจก นอกจากนี้มีรายงานว่ากลุ่มแฮกเกอร์แดนอิเหนาเข้าโจมตีเว็บไซต์แดนจิงโจ้เพื่อประท้วงที่ออสเตรเลียเข้าไปจับมือกับสหรัฐฯทำเครือข่ายสปาย ขณะที่รัฐสภาแดนอินทรีรุมค้านข้อเรียกร้องขออภัยโทษของ “จอมแฉ” สโนว์เดน

รัฐบาลอินโดนีเซียแถลงเมื่อวันจันทร์ (4 พ.ย.) ว่า จะเข้าเป็นผู้ร่วมเสนอร่างมติซึ่งจัดทำโดยเยอรมนีกับบราซิล ที่จะนำไปให้สมัชชาสหประชาชาติพิจารณา ภายหลังจากในสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานข่าวซึ่งอ้างเอกสารข้อมูลลับที่เปิดโปงโดย เอดเวิร์ด สโนว์เดน ระบุว่า สถานเอกอัครราชทูตอเมริกาและออสเตรเลียในเมืองหลวงของหลายชาติเอเชีย รวมทั้งที่กรุงจาการ์ตา เป็นศูนย์แอบดักฟังเก็บข้อมูลข่าวกรองตามโครงการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอเมริกาเป็นหัวโจก

“พอกันที” มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศแดนอิเหนาประกาศและสำทับว่า การเปิดโปงในคราวนี้จะส่งผลร้ายแรงในแง่ความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อกันในระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

นาตาเลกาวายังบอกอีกว่า อินโดนีเซียกำลังเข้าร่วมกับเยอรมนีและบราซิลในการเป็นผู้เสนอร่างมติในสมัชชาใหญ่ยูเอ็น เพื่อจัดการกับประเด็นต่างๆ ที่มีการหยิบยกขึ้นมาในขณะนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1) บราซิลและเยอรมนีได้ยื่นร่างมติว่าด้วยการปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสมัชชาใหญ่ ซึ่งแม้ร่างดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อสหรัฐฯ แต่ก็มีเนื้อหาเรียกร้องมาตรการที่จำเป็นเพื่อยุติการละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งรวมถึงการสื่อสารระบบดิจิตอล และการบังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องเคารพพันธกรณีของตนตามกรอบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

แรกเริ่มนั้นความขัดแย้งกรณีการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ปะทุและลุกลามอยู่ในระหว่างอเมริกากับพวกชาติพันธมิตรในยุโรป แต่มาในสัปดาห์ที่แล้วเรื่องได้แผ่ข้ามมาถึงเอเชีย หลังจากหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ รายงานขยายความจากนิตยสารแดร์ ชปีเกลของเยอรมนีว่า สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียมีส่วนร่วมกับเครือข่ายสอดแนมของอเมริกา ในการปฏิบัติการทางแถบเอเชีย

ต่อมา หนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษฉบับวันอาทิตย์ (3) แฉต่อว่า ออสเตรเลียและอเมริการ่วมกันแอบสอดแนมอินโดนีเซียระหว่างการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของยูเอ็นที่เกาะบาหลีเมื่อปี 2007

รัฐบาลออสเตรเลียนั้นใช้ท่าทีว่าไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ ในเรื่องเกี่ยวกับข่าวกรอง

ทว่ารายงานข่าวเหล่านี้เองกำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแคนเบอร์รา-จาการ์ตา ปีนเกลียวรุนแรง สัปดาห์ที่แล้วอินโดนีเซียได้เรียกนักการทูตระดับสูงของอเมริกาและออสเตรเลียเข้าพบเพื่อขอคำชี้แจง

ไม่เพียงภาครัฐของแดนอิเหนา มีรายงานว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวในไซเบอร์สเปซก็ได้ดำเนินการระบายความโกรธขึ้ง โดยเมื่อวันจันทร์ กลุ่ม “แอโนนีมัส อินโดนีเซีย” ได้ลอกคราบหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ในออสเตรเลียกว่า 170 ไซต์ ทำให้ผู้ที่เรียกใช้หน้าเว็บเหล่านี้พบข้อความว่า “หยุดสอดแนมอินโดนีเซีย” ใต้ธงชาติอินโดนีเซียที่มีภาพหน้ากาย ฟอว์กส์ สัญลักษณ์สากลของแอโนนีมัสประทับอยู่

ทั้งนี้ เชื่อกันว่า แอโนนีมัสเป็นกลุ่มแฮกเกอร์ที่รวมตัวกันหลวมๆ เพื่อทำการโจมตีออนไลน์ระหว่างประเทศ ล่าสุดคือการเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์หนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทมส์ของสิงคโปร์เพื่อเรียกร้องเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในประเทศนั้น

ในอีกด้านหนึ่ง ที่วอชิงตัน บรรดาผู้นำคณะกรรมาธิการข่าวกรองของรัฐสภาสหรัฐฯ รวมถึงทำเนียบขาว ต่างเรียงแถวคัดค้านการขอผ่อนโทษจาก สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ที่ลี้ภัยชั่วคราวอยู่ในรัสเซียขณะนี้ ซึ่งเป็นต้นตอการเปิดโปงโครงการสอดแนมระดับโลกของอเมริกาที่กำลังเป็นประเด็นร้อนทั่วโลก

แดน ไฟเฟอร์ ที่ปรึกษาทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันอาทิตย์ว่า สโนว์เดนละเมิดกฎหมายสหรัฐฯ และควรถูกส่งกลับมารับการพิจารณาคดี

การเปิดโปงของสโนว์เดน ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาอเมริกาดักฟังโทรศัพท์นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี นำไปสู่เสียงเรียกร้องจากชาติพันธมิตรให้วอชิงตันยุติการสอดแนม และรัฐสภาแดนอินทรีเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปกฎหมายการสอดแนมและจำกัดอำนาจพวกหน่วยงานข่าวกรอง

อย่างไรก็ดี ไดแอนน์ เฟน์สไตน์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาเห็นว่า หากสโนว์เดนเป็นนักเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลจริง ควรนำข้อวิตกกังวลต่างๆ มาปรึกษาคณะกรรมาธิการเป็นการส่วนตัว แทนที่จะนำออกไปแฉโพยต่อสื่อมวลชนทั่วโลกแบบนี้ ดังนั้น เธอจึงไม่เห็นเหตุผลอันควรในการผ่อนโทษให้สโนว์เดน

ไมค์ โรเจอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรขานรับว่า การลดโทษให้สโนว์เดนเป็น “ความคิดที่แย่มาก” เนื่องจากการกระทำของสโนว์เดนเข้าข่ายก่ออาชญากรรมและทำให้ชีวิตทหารอเมริกันตกอยู่ในความเสี่ยง

โรเจอร์สำทับว่า การเปิดโปงของสโนว์เดนทำให้องค์กรก่อการร้าย 3 แห่งเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสาร

อย่างไรก็ดี โรเจอร์เสริมว่า เขาไม่เชื่อว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา รวมทั้งบรรดาผู้นำยุโรป ไม่ระแคะระคายเรื่องที่แมร์เคลถูกดักฟังโทรศัพท์

ด้านเฟน์สไตน์บอกว่า ไม่รู้ว่าโอบามารู้หรือไม่รู้อะไรบ้าง แต่เธอตั้งใจตรวจสอบโครงการสอดแนมทั้งหมดเพื่อดูว่า มีปฏิบัติการใดที่ดำเนินการเกินขอบเขตที่เหมาะสมหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น