รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อยร่วม 47 ล้านคน ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่วันนี้ (1) หลังจากโครงการสวัสดิการรัฐช่วยเหลือคนรายได้น้อย หรือฟูดส์แสตมป์ (SNAP) นั้น ที่ถูกหั่นงบถึง 5 พันล้านดอลลาร์ จะทำให้ชาวอเมริกันรายได้น้อยจะได้เงินช่วยเหลือค่าอาหารโดยเฉลี่ยต่อคนเพียงเดือนละ 133 ดอลลาร์ หรือน้อยกว่า 1.50 ดอลลาร์ต่อมื้อ
โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ (1) กฎหมายการฟื้นตัวปี 2009 ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นได้สิ้นสุดลงทำให้มีการตัดเงินอุดหนุนถึง 5 พันล้านดอลลาร์ในโครงการสวัสดิการรัฐช่วยเหลือคนรายได้น้อย หรือฟูดส์แสตมป์ (SNAP) ซึ่งจะทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานความยากจนได้รับผลกระทบจากครั้งนี้เป็นอย่างมากถึง 47 ล้านคน
ซึ่งเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ค่าอาหารมีราคาสูงขึ้นในสหรัฐฯ เช่น นมมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และมีอัตราการว่างงานที่มากขึ้นเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังย่ำแย่ เป็นผลให้โครงการสวัสดิการอาหารนี้ต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมากถึง 80 พันล้านดอลลาร์ต่อปี โดยพบว่ามีชาวอเมริกันถึง 1 ใน 7 ของจำนวนประชาการทั้งหมดนั้นต้องพึ่งนโยบายฟูดส์แสตมป์เพื่อยังชีพ
โดยเฉลี่ยพบว่าชาวอเมริกันรายได้น้อยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 133 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือน้อยกว่า 1.50 ดอลลาร์ต่อมื้อ และครอบครัวชาวอเมริกันที่มีสมาชิก 4 คน จะได้รับค่าอาหารโดยเฉลี่ยลดลงเหลือ 278 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือมีอาหารบนโต๊ะน้อยกว่า 24 มื้อต่อเดือน
และความเป็นจริงแล้ว จะพบว่าเกือบจะครึ่งหนึ่งของจำนวนชาวอเมริกันที่ต้องพึ่งโครงการนี้นั้นล้วนเป็นเด็กซึ่งอาศัยอยู่ในครอบครัวขนาด 4-5 คนที่มีคนเดียวในครอบครัวหาเลี้ยง เนื่องมาจากไม่สามารถหางานทำได้ถึงแม้จะพยายาม อย่างไรก็ตามเหตุเพราะมีการจ้างงานที่น้อยมากในสหรัฐฯ และรัฐบาลยังมีนโยบายที่จะส่งงานที่เรียกว่า “good middle-class job” ออกไปต่างประเทศ เช่นมีข้อตกลงการค้าTPP (Trans-Pacific Partnership)กับเวียดนาม
ซึ่งการถูกตัดงบครั้งนี้จะทำให้เกิดสภาพ “Hunger Cliff” ในอเมริกาที่สภาพเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้ไม่มีการจ้างงาน และงานที่มีในตลาดส่วนใหญ่เป็นงานที่มีรายได้น้อย
ในควีนส์ นิวยอร์ก ชาวอเมริกันที่ไม่สามารถมีรายได้มากพอต้องมารอต่อคิวที่แจกจ่ายอาหารฟรีเพื่อรับปันอาหารกลับไปจุนเจือครอบครัวในแต่ละอาทิตย์ โดยพวกเขาต้องมารอตั้งแต่เช้ามืดไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมงในทุกวันเสาร์ท่ามกลางอากาศที่หนาวจัดเพื่อขอปันอาหาร เช่น ซีเรียล ขนมปัง อาหารกระป๋อง ผักและผลไม้ รวมถึงนมสด และอาจจะมีเนื้อสัตว์บ้างในบางครั้ง เพราะเงินช่วยเหลือจากฟูดส์แสตมป์นั้นไม่เพียงพอสำหรับยังชีพ เช่น อลิซาเบธ เฟอร์ไรรา ซิงเกิลมัม ที่มีบุตร 3 คน จบการศึกษาขั้นปริญญาโทต้องมาขอปันอาหารเพื่อลูกทั้ง 3 ของเธอ เนื่องจากเธอตกงาน โดย เฟอร์ไรราเผยว่า ถึงแม้ตัวเธอจะมีคุณสมบัติพร้อมแต่ไม่มีการจ้างงานในสหรัฐฯจึงไม่สามารถมีเงินมาจุนเจือครอบครัวได้
ขณะที่ในรัฐสภาสหรัฐฯ สภาสูงที่พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากต้องการตัดเงินจากโครงการฟูดส์แสตมป์จำนวน 4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่สภาล่างที่คุมโดยพรรครีพับลิกันต้องการตัดเงินออกจากโครงการนี้จำนวน 39 พันล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งต้องการให้ลดจำนวนชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อยที่สามารถรับความช่วยเหลือได้อีกเกือบ 4 ล้านคน โดย สมาชิกสภาคองเกรส พอล ไรอัน สังกัดพรรครีพับลิกัน อดีตผู้สมัครร่วมชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯกับมิตต์ รอมนีย์ ในปี 2012 ได้กล่าวว่า ต้องการตัดงบโครงการสวัสดิการอาหารนี้เพื่อช่วยเหลือ “คนรายได้น้อย” ในสหรัฐฯ นอกจากนี้หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ยังถอดคำพูดสมาชิกสภาคองเกรสสายริพับลิกันบางคนที่ต้องการตัดงบโครงการนี้ว่า “การที่ต้องพึ่งพา (โครงการช่วยเหลือฟูดส์แสตมป์จากรัฐ) จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ”