xs
xsm
sm
md
lg

‘ลาว’เดินหน้าสร้าง‘เขื่อนแม่น้ำโขง’โดยไม่ใยดี‘เพื่อนบ้าน’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Laos draws anger over Mekong dam
By Radio Free Asia
09/10/2013

ลาวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการตัดสินใจที่จะเดินหน้าสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่สองในแม่น้ำโขง โดยไม่ได้ให้เวลาอันเหมาะสมสำหรับการปรึกษาหารือกับพวกประเทศเพื่อนบ้านของตน ขณะที่พวกชาวบ้านและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็รู้สึกวิตกกังวลต่อโครงการนี้เช่นกัน

ลาวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการตัดสินใจที่จะเดินหน้าสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่สองในแม่น้ำโขง โดยไม่ได้ให้เวลาอันเหมาะสมสำหรับการปรึกษาหารือกับพวกประเทศเพื่อนบ้านของตน ขณะที่พวกชาวบ้านและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็รู้สึกวิตกกังวลต่อโครงการนี้เช่นกัน

เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ ลาวซึ่งเป็นชาติที่ไม่มีทางออกทางทะเล ได้แจ้งให้พวกประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตอนล่างแม่น้ำ ในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission ใช้อักษรย่อว่า MRC) ทราบว่า ตนเองตัดสินใจแล้วที่จะเดินหน้าสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกำลังผลิตขนาด 260 เมกะวัตต์ ในเขตนทีสี่พันดอน ทางตอนใต้ของลาว

รัฐบาลลาวระบุว่า โครงการนี้ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับบริษัทเมกะเฟิร์สต์คอเปอเรชั่น (Mega First Corporation Bhd) ของมาเลเซีย คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 โดยที่การดำเนินการในเชิงพาณิชย์มีกำหนดเริ่มต้นได้ในเดือนพฤษภาคม 2018 ทั้งนี้ตามข้อมูลของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมและประสานงานด้านการจัดการและการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยที่ตามกฎระเบียบของคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว การจัดทำโครงการเช่นนี้ ควรจะต้องให้เวลาในการปรึกษาหารือกันอย่างน้อย 6 เดือนก่อนจะเริ่มเดินหน้าก่อสร้าง

ลาว, ไทย, กัมพูชา, และเวียดนาม ซึ่งเป็น 4 ชาติสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มีการทำข้อตกลงอันมีผลผูกพันฉบับหนึ่งที่กำหนดให้จัดการปรึกษาหารือระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกก่อนที่จะดำเนินการสร้างเขื่อนใดๆ ขึ้นมา ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ลาวก็ได้เดินหน้าสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่กั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกของตน อันได้แก่ เขื่อนไซยะบุลีที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงคัดค้านจากเหล่าชาติเพื่อนบ้านของตนมาแล้ว

สำหรับเขื่อนดอนสะโฮง พวกตัวแทนจาก 10 ชาติผู้บริจาคความช่วยเหลือระหว่างประเทศให้แก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เป็นต้นว่า สหภาพยุโรป (อียู), ญี่ปุ่น, และสหรัฐอเมริกา ก็เคยขอให้ทางการลาวแจกแจงรายละเอียดของโครงการนี้เพื่อการปรึกษาหารือกันตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

**ผลกระทบต่อชาวประมง**

ความเคลื่อนไหวที่จะสร้างเขื่อนดอนสะโฮงขึ้นในพื้นที่ “นทีสี่พันดอน” ของแม่น้ำโขง ในอาณาเขตของแขวง (จังหวัด) จัมปาสัก ทางตอนใต้สุดของประเทศคราวนี้ ยังทำให้พวกชาวบ้านที่มีอาชีพจับปลาในแม่น้ำโขง แสดงความวิตกกังวลในทันทีว่า โครงการนี้จะปิดกั้นช่องทางเพียงช่องทางเดียวที่ฝูงปลาใช้เดินทางอพยพกันในระหว่างหน้าแล้ง

“ต่อไปจะไม่มีปลาให้จับกันเลย แล้วเมื่อไม่มีปลา ชาวบ้านจะหาอะไรมากินกันล่ะทีนี้?” ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวผู้หนึ่งบอกกับสถานีวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว โดยขอให้สงวนนาม

“พวกเขา (เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของทางการลาว หรือฝ่ายบริหารจัดการโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง) จะหาทางออกอย่างอื่นๆ ให้ชาวบ้านหรือเปล่า? พวกเขาจะจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านไหมเพื่อให้ชาวบ้านอยู่กันได้ต่อไป? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับชาวบ้าน แต่พวกเขา (เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของทางการลาว) ยังไม่ออกมาพูดอะไรเลย”

ชาวบ้านรายนี้กล่าวต่อไปว่า ถ้าหากรัฐบาลตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเดินหน้าโครงการนี้ ประชาชนก็จะต้องเห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว แต่อยากจะขอให้ช่วยเหลือหาทางเลือกอื่นๆ ที่จะใช้เป็นแหล่งหารายได้ของชาวบ้านแถบนี้ “เพราะประชาชนที่นี่ทำมาหากินเป็นก็แค่การจับปลาและการปลูกข้าวในไร่นาที่ได้รับมรดกจากพ่อแม่เท่านั้น”

ทางด้าน ฮันส์ กุตต์มาน (Hans Guttman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ว่า ลาวได้ “แสดงเจตนารมณ์ว่าพร้อมที่จะปรึกษาหารือเพิ่มเติมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ (ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง) เกี่ยวกับโครงการนี้ หาก (ประเทศสมาชิกอื่นๆ ) มีความห่วงใยหรือมีความเห็นใดๆ”

“ส.ป.ป. ลาว ได้ยื่นเสนอโครงการนี้ตามกระบวนการของการแจ้งให้ทราบ (โดยระบุว่าโครงการนี้) เป็นการใช้น้ำภายในลุ่มน้ำเดียวกัน (intra-basin water use) บนทางน้ำไหล ฮูสะโฮง (Hou Sahong เป็นทางน้ำไหลขนาดใหญ่ 1 ใน 3-4 แห่งในบริเวณนทีสี่พันดอน ของแม่น้ำโขง)” กุตต์มาน แจกแจงและกล่าวต่อไปว่า “นี่จะทำให้เหล่าประเทศสมาชิกที่ได้รับแจ้ง สามารถคาดล่วงหน้าได้ถึงการใช้น้ำตามโครงการนี้และผลกระทบใดๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้”

**การปฏิบัติตามข้อตกลงจัดตั้ง“คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง”**

ทางด้านองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature ใช้อักษรย่อว่า WWF) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกมาเรียกร้องว่า จากการตัดสินใจเดินหน้าเช่นนี้ของลาว ประเทศทั้ง 4 ของลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สมควรต้องจัดการประชุมกันในทันทีเพื่อทำการ “แก้ไข” กระบวนการปรึกษาหารือในการอนุมัติรับรองการสร้างเขื่องบนทางน้ำสายสำคัญของเอเชียสายนี้

“ในทางเป็นจริงแล้ว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเท่ากับล้มครืนไปตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตอนที่ลาวตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุลี ทั้งๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนความประสงค์ที่เวียดนามและกัมพูชาแสดงออกมาให้ปรากฏ” จิม ลีป (Jim Leape) ผู้อำนวยการใหญ่ของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF International) ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง “เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขบคิดจินตนาการได้เลยว่า เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าหากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมิได้ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องเหมาะสม การทำให้แน่ใจว่าการพัฒนาเขื่อนต่างๆ (บนแม่น้ำโขง) เป็นสิ่งที่ผ่านการตัดสินใจร่วมกัน (ของเหล่าประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง) แล้ว คือผลประโยชน์ของทุกๆ ฝ่าย”

เขาเรียกร้องให้ทั้ง 4 ประเทศ “กลับมาทบทวนกันในทันทีเกี่ยวกับเจตจำนงในตอนเริ่มแรกที่จัดทำข้อตกลงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง” และ “พบปะประชุมกันอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างกันของพวกเขา และแก้ไขกระบวนการในการปรึกษาหารือกัน ก่อนที่จะมีการพิจารณาโครงการเขื่อนแห่งอื่นๆ อีก”

“ถ้าหากประเทศเหล่านี้ล้มเหลวไม่เอาจริงเอาจังกับพันธกรณีของพวกเขาที่จะร่วมมือประสานงานกันแล้ว พวกเขาก็กำลังเสี่ยงที่จะบ่อนทำลายคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และทั้งบ่อนทำลายการบริหารจัดการแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก”

ขณะที่ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว วีละพัน วีละวง ได้บอกกับหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นของไทยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขื่อนดอนสะโองนั้นมีขนาดเล็ก จึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงอะไรต่อแม่น้ำโขง โดบเขื่อนแห่งนี้จะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้กันในพื้นที่ภาคใต้ของลาวเท่านั้น

นายวีละพัน บอกว่า โครงการนี้ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยอาศัยพลังการไหลตามธรรมชาติของทางน้ำนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายทางสิ่งแวดล้อมใดๆ

**แม่น้ำที่ต้องร่วมกันใช้**

อย่างไรก็ดี WWF ระบุว่า เขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 ในจำนวน 11 แห่งที่ลาววางแผนสร้างขวางลำน้ำแม่น้ำโขงในช่วงที่ไหลผ่านดินแดนของตนนั้น ที่ถูกต้องแล้วจะต้องยื่นเสนอต่อเหล่าชาติที่เป็นหุ้นส่วนของลาวในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อการปรึกษาหารือเป็นการล่วงหน้าก่อนเริ่มดำเนินโครงการอย่างน้อยที่สุด 6 เดือน

“แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ต้องใช้ร่วมกัน และทั้ง 4 ประเทศต่างมีพันธกรณีตามข้อตกลงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่จะต้องจัดการปรึกษาหารือระดับระหว่างรัฐบาลก่อนที่จะเดินหน้าพัฒนาเขื่อนใดๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาติเพื่อนบ้านของพวกเขา” ลีป แจกแจง

“เวียดนาม, กัมพูชา, และไทย จำเป็นที่จะต้องส่งเสียงแสดงความวิตกกังวลของพวกเขาขึ้นมาในตอนนี้แล้ว จากการที่ลาวยังคงแสดงออกอย่างต่อเนื่องว่าไม่เคารพไม่กระทำตามข้อตกลงในเรื่องการปรึกษาหารือกัน ถ้าหากไม่มีการร่วมมือประสานงานข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงทางอาหารของประชาชน 60 ล้านคนทีเดียวจะต้องตกอยู่ในอันตราย”

ลาวซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรสำคัญอื่นๆ กำลังมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างตนเองให้กลายเป็น “แบตเตอรี” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขายไฟฟ้าพลังน้ำให้แก่พวกประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ลาวมีเขื่อนทั้งสิ้นกว่า 70 แห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรืออยู่ในระหว่างการวางแผน หรือไม่ก็อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา เขื่อนเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวเป็นการสร้างขวางแม่น้ำโขงหรือลำน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง

รายงานโดย วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว (Radio Free Asia's Lao Service) โดยที่ บุนจัน ม่วงคำ (Bounchanh Mouangkham) เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และ โจชัว ลิปส์ (Joshua Lipes) เป็นผู้เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น