ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการลาวได้แจ้งต่อฝ่ายไทย และเวียดนาม 2 ประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 360 เมกะวัตต์ กลางลำน้ำโขงทางตอนใต้สุดของประเทศ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมกล่าวว่า มีความสุ่มเสี่ยงจะทำให้ปลาในลำน้ำโขงลดน้อยลง และเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในตอนล่างของแม่น้ำนานาชาติสายสำคัญนี้
นายวีละพัน วีละวง รัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ได้รายงานผู้แทนฝ่ายไทยกับเวียดนามได้ทราบระหว่างการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 13 ในอินโดนีเซีย สัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
“พวกเราได้แจ้งแก่ผู้แทนประเทศใกล้เคียงทั้งสองว่า ด้วยความประสงค์ของ สปป.ลาวที่จะพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำตกดอนสะโฮง หลังจากที่ได้มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว พวกเราได้มอบให้วิศวกรที่มีอิสระตรวจสอบรายละเอียดของโครงการ และได้ผลสรุปว่าโครงการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อแม่น้ำตอนล่าง” สำนักข่าวของทางการรายงานการสัมภาษณ์ รมช.พลังงาน
“สปป.ลาวได้สืบต่อศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง และได้มีมาตรการดำเนินการดำเนินการเพื่อตอบสนองความห่วงใยของประเทศใกล้เคียง พวกเราศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น จึงมีความต้องการอยากจะให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เข้าใจ และสนับสนุนโครงการนี้” สำนักข่าวของทางการกล่าว
ในเดือน มี.ค.2549 รัฐบาลลาว ได้เซ็นบันทึกช่วยความจำฉบับหนึ่งกับกลุ่มเมกะเฟิร์สต์ (MegaFirst Corporation Berhad) ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมและก่อสร้างจากมาเลเซีย เพื่อศึกษาความเป็นได้ของโครงการดอนสะโฮง ที่จะสร้างกั้นฮูสะโฮง ซึ่งเป็นทางน้ำไหลขนาดใหญ่หนึ่งในใน 3-4 แห่งในระบบนิเวศที่เป็นเกาะแก่งในแม่น้ำโขงในท้องที่เมือง (อำเภอ) โขง แขวงจำปาสัก ในจุดที่อยู่ห่างจากเขตแดนติดกัมพูชาราว 2 กิโลเมตร
ต่อมา ในเดือน มิ.ย.2551 เมกะเฟิร์สต์ฯ ได้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาเพื่อดำเนินการโครงการโดยถือหุ้นใหญ่ 70% บริษัทมาเลเซียอีกแห่งหนึ่งร่วมถือ 30% ที่เหลือ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งจำหน่ายให้ไทย กับกัมพูชา
นอกจากได้เสนอแผนการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว รัฐมนตรีของลาวยังรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนไซยะบูลี ซึ่งกำลังจะเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกในแขวงไซยะบูลี ทางตอนเหนือของลาว กับโครงการผลิตไฟฟ้าแห่งอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย
ระยะที่ผ่านมา เวียดนามกับกัมพูชาซึ่งอยู่ตอนใต้สุดที่แม่น้ำโขงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ได้เป็นตัวตั้งตัวตีคัดค้านการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 1,285 เมกะวัตต์ มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นโครงการสัมปทานของกลุ่ม ช.การช่าง บริษัทเอกชนไทย ขณะที่ฝ่ายไทยวางตัวเป็นกลาง
.
.
ลาวได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างในเดือน พ.ย.2555 หลังจากได้แก้ไขแบบแปลน เพิ่มทางน้ำไหล และจัดสร้างทางน้ำเพื่อให้ปลายว่ายทวนขึ้นเหนือได้สะดวก เพื่อผ่อนคลายความวิตกกังวลของกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อม
ตามรายงานของบริษัทไซยะบุลี พาวเวอร์ จำกัด หรือ XPCL (Xayablouly Power Co Ltd) ซึ่งบริษัทเอกชนของไทยถือหุ้นใหญ่ จนถึงปัจจุบันได้มีการลงทุนในโครงการแล้วกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 17% ของทั้งแผนการ มีการจ้างแรงงานราว 8,000 คน ทั้งชาวลาว ชาวไทย และอีกเกือบ 20 เชื้อชาติ เขื่อนจะมีส่วนสำคัญในการช่วยขจัดความยากจนของประชาชนในแขวงที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรน้ำแห่งนี้ ขปล.กล่าว
ในปี 2555 การผลิตไฟฟ้าของลาวมีกำลังติดตั้งรวมกันเพิ่มขึ้นเป็น 3,200 เมกะวัตต์ 75% ของทั้งหมดส่งจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย กับการไฟฟ้าเวียดนาม ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างเขื่อนกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินรวม 9 แห่ง มีกำลังติดตั้งรวมกัน 4,000 เมกะวัตต์ อีกจำนวน 20 โครงการ รวม 5,800 เมกะวัตต์ กำลังอยู่ในระยะสุดท้ายของการเตรียมการก่อสร้าง สำนักข่าวของทางการกล่าว
ภายในปี 2563 คาดว่าการผลิตไฟฟ้าของลาวจะมีกำลังติดตั้งรวมกันทั้งหมดประมาณ 12,500 เมกะวัตต์ 85% ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกไปยังไทย เวียดนาม และกัมพูชา
“ยังมีอีกหลายเขื่อนที่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระหว่างประเทศ เพื่อรับประกันมิให้ผลกระทบเสียหายสำคัญต่อภายใน และข้ามผ่านประเทศในระยะยาว เพื่อจะก่อสร้างโครงการตามลำแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว” ขปล.กล่าว.