ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เลี้ยงปลาแซลมอน? ลาวดูจะเป็นแหล่งท้ายๆ ที่มีผู้คนคิดเข้าไปเลี้ยงปลาที่โดยธรรมชาติอาศัยและเติบโตในน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นจัด เนื้ออร่อย และมีราคาแพงชนิดนี้ แต่บริษัทจากประเทศฮังการีแห่งหนึ่งไม่ได้คิดเช่นนั้นและได้เซ็นบันทึกการร่วมลงทุนกับฝ่ายลาวสัปดาห์ที่แล้ว
ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเลี้ยงปลาที่อาศัยในเขตอบอุ่นขึ้นไปจนถึงเขตหนาวของโลกในดินแดนลาว การเพาะเลี้ยงในแขวงภาคใต้เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วยังไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์แต่การเลี้ยงครั้งใหม่นี้กำลังจะมีขึ้นในภาคเหนือซึ่งอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โครงการศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาแซลมอนในแขวงอุดมไซเป็นส่วนหนึ่งในแผนการลงทุนด้านเกษตร ซึ่งรวมทั้งโครงการเลี้ยงไก่กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่สื่อของทางการกล่าวว่าฝ่ายฮังการีประสงค์จะให้ลาวเป็นฐานการผลิตการเกษตรขนาดใหญ่มาตรฐานสากลเพื่อส่งออกผลผลิตไปยังตลาดจีน และตลาดอาเซียน
การเซ็นความตกลงการลงทุนใน 4 โครงการจัดขึ้นในนครเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ระหว่างบริษัทสหมิตรพัฒนาซึ่งเป็นของนักลงทุนลาวกับบริษัทมาสเตอร์กู๊ด (Master Good Ltd) จากฮังการีและสมาคมสัตว์น้ำการประมงและชลประทานแห่งฮังการี หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่รายงาน
รองนายกรัฐมนตรีนายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองเจ้าครองนครเวียงจันทน์ เจ้าแขวงอุดมไซ แขวงหลวงพระบางกับบรรดารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐและแขกรับเชิญทั้งลาวและชาวต่างชาติเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก หนังสือพิมพ์รายวันของทางการเมืองหลวงกล่าว
สองฝ่ายได้เซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับการร่วมมือด้านการประมง ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์ปีก กับการเลี้ยงไก่ที่ทันสมัย เกี่ยวกับการตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ความร่วมมือเกี่ยวกับการประมงและการเลี้ยงปลาแซลมอน
บริษัทของฝ่ายลาวเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งกับบริษัทก่อสร้างอีก 2 แห่งและบริษัทลงทุนรวม 4 บริษัท ทั้งหมดรวมกลุ่มกันด้วยการผลักดันของพรรคและรัฐบาลลาวเวียงจันทน์ใหม่กล่าว
กำลังจะมีการก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารทันสมัยได้มาตรฐานสากลขึ้นในแขวงอุดมไซกับแขวงหลวงพระบางพร้อมโรงงานแปรรูปผลผลิตซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในชั้นต้นราว 18 ล้านยูโร (ราว 776 ล้านบาท) ผลผลิตจากโครงการนี้จะส่งออกไปยังจีนและประเทศใกล้เคียงรวมทั้งเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ด้วย
.
.
โครงการหลวงของไทยประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์บนดอยอินทนนท์มานานกว่า 20 ปีแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงแซลมอน ขณะที่ในเวียดนามเลี้ยงแซลมอนกับสเตอร์เจียนเพื่อผลิตไข่คาร์เวียร์ได้สำเร็จในจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศ
สื่อในพม่ารายงานในปลายปี 2555 ว่า กลุ่มบริษัทจากเวียดนามกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในโครงการลงทุนเลี้ยงแซลมอนกับสเตอร์เจียนในภาคเหนือพม่าอีกแห่งหนึ่ง
แต่เมื่อปี 2552 บริษัทเอกชนจาก จ.เลิมโด่ง เวียดนามได้รับอนุญาตให้ทดลองเลี้ยงแซลมอนกับสเตอร์เจียนในเขตเมืองปากซองแขวงจำปาสักทางภาคใต้ของลาวที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์จำเพาะทำให้มีอุณหภูมิหนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเขา
ครั้งนั้นใช้ลูกแซลมอนจากฟินแลนด์ 2,500 ตัวและลูกสเตอร์เจียนอีก 1,500 ตัวจากรัสเซีย เวียงจันทน์ใหม่รายงานในเดือน ก.พ.2553 ว่าการทดลองเพาะเลี้ยงไม่ประสบผลสำเร็จ ปลาทั้ง 2 ชนิดตายไปจำนวนมากจำนวนที่เหลือเติบโตไม่เต็มที่และมีขนาดเล็ก
เจ้าหน้าที่ของลาวกล่าวว่าแซลมอนต้องการน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นจัดว่าสเตอร์เจียน ปลาส่วนใหญ่ตายไปเพราะปัญหานี้ ทั้ง 2 ชนิดเลี้ยงยากและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีประสบการณ์สูงเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามยืนยันว่าพื้นที่เมืองปากซองเหมาะสำหรับเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนมากกว่าแซลมอนเนื่องจากสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า.