.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปัจจุบัน มีคนงานหญิงชาวเขมรกำลังทำงานบ้านอยู่ในมาเลเซียถึง 30,000 คน กับอีกกว่า 10,000 คน กำลังทำงานรับจ้างในแขนงอื่นๆ ทั้งหมดเป็นคนงานที่เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำนักข่าวกัมพูชารายงานโดยอ้างตัวเลขอย่างเป็นทางการจากบริษัทจัดส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ยังไม่รวมคนงานที่ลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ที่คาดว่าจะมีจำนวนมากไม่แพ้กัน
ชาวกัมพูชายังคงออกจากประเทศไปหางานทำในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการลงทุนของต่างชาติในประเทศนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม จำนวนมากลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีชายแดนติดกัน
ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานในกรุงพนมเปญเมื่อปีที่แล้ว มีคนงานาวเขมรไปขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศไทยราว 80,000 คน แต่ฝ่ายไทยเชื่อว่า ยังมีอีกจำนวนเท่าๆ กันที่ลักลอบทำงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งแรงงานข้ามแดนประเภทไปเช้าเย็นกลับ หรือแรงงานที่เข้าไปแสวงหางานทำระยะสั้นๆ ตามฤดูกาล
นายวงโซ้ต (Vong Saut) รัฐมนตรีแรงงานกัมพูชาได้พบหารือกับดาโต๊ะเสรีสุบรามาเนียม (Datuk Seri S Subramaniam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซียในวันศุกร์ 11 พ.ค.นี้ ในกรุงพนมเปญ เพื่อร่วมกันหาทางดูแลคนงานชาวเขมรในประเทศนั้น ทั้งกลุ่มที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย
สองฝ่ายมีกำหนดจะลงนามในบันทึกช่วยความจำฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวในมาเลเซีย สำนักข่าวกัมพูชากล่าว
ปัจจุบัน ในกัมพูชามีบริษัทจัดหางานต่างประเทศราว 30 แห่ง และทางการได้เข้มงวดกวดขันให้เป็นไปตามกฎระเบียบต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ชักชวนให้ชาวเขมรหางานทำในประเทศแทนการออกไปทำงานในต่างแดน ที่มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องพรากจากครอบครัว
กัมพูชากำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีแรงงานกลุ่มอาเซียน ในวันเดียวกัน นายโซ้ตได้พบหารือกับรัฐมนตรีแรงงานสิงคโปร์ กับรัฐมนตรีแรงงานเวียดนามด้วย สำนักข่าวของรัฐบาลกล่าว.