.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สงครามและการยึดครองกัมพูชาสิ้นสุดลงตั้งแต่ 23 ปีก่อน แต่การค้นหาทหารเวียดนามที่เสียชีวิต หรือสูญหายในประเทศนี้ยังดำเนินต่อไป และยากลำบากยิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมา ได้พบและนำ “วีรชน” เหล่านี้กลับบ้านเกิดแล้วเกือบ 15,000 ศพ สองฝ่ายตั้งเป้าจะค้นหาอีกราว 800 ศพในฤดูแล้งปี 2555-2556 นี้
ได้มีการพูดถึงตัวเลขเหล่านี้ระหว่างการเยือนกัมพูชา ของนายพลโออาวุโสเหวียนแถ่งกุง (Nguyễn Thành Cung) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม และมีการเจรจาเรื่องนี้ในกรุงพนมเปญ ในวันอังคาร 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา
พล.ท.กุง ซึ่งเป็นกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และหัวหน้าคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการค้นหาและนำทหารเวียดนามกลับบ้าน กำลังตระเวนเยือนสองประเทศเพื่อนบ้านลาว และกัมพูชา เพื่อภารกิจการค้นหาฯ ทหารอีกนับหมื่น ที่ยังไม่ได้กลับจากสองประเทศนี้ตั้งแต่ครั้งสงคราม
พล.ท.กุง ได้นำคณะพบเจรจากับฝ่ายกัมพูชานำโดย พล.อ.พล สะเรือน (Pol Sareuon) ผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการระดับชาติในการร่วมมือค้นหาทหารเวียดนาม หนังสือพิมพ์กวนโด่ยเญินซเวิน (Quân đội Nhân dân) หรือ “กองทัพประชาชน” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมเวียดนาม รายงานในเว็บไซต์ภาษาเวียดนามวันเดียวกัน
“ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลเวียดนาม รัฐบาล และประชาชนกัมพูชา ในช่วงฤดูแล้ง 2554-2555 ที่ผ่านมา สองฝ่ายได้ร่วมมือกันค้นหา และสามารถส่ง (อัฐิ) ทหารอาสาสมัคร และผู้เชี่ยวชาญเวียดนามกลับประเทศได้ทั้งหมด 585 ราย ทำให้จำนวนทหารอาสา และผู้เชี่ยวชาญเวียดนามที่เสียสละชีพในกัมพูชาที่ได้ส่งมอบ เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 15,000 ราย” หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นปาก และเสียงของกองทัพปกระชาชนเวียดนาม รายอ้างคำพูดของ พล.อ.พล สะเรือน
สื่อของกองทัพฉบับนี้ยังรายงานด้วยว่า ในฤดูแล้ง 2554-2555 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เวียดนามจำนวน 11 หน่วย ได้ออกปฏิบัติงานค้นหาในหลายจังหวัดของกัมพูชา และ ผบ.กองทัพกัมพูชาได้เสนอให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และขยายหน่วยปฏิบัติการให้ครอบคลุมพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่เวลายิ่งผ่านไปเนิ่นนาน การค้นหาอัฐิ และซากเศษเหลือของวีรชนเหล่านั้น ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น
ภายหลังการพบเจรจาในวันอังคารดังกล่าว สองฝ่ายได้เซ็นบันทึกช่วยความจำฉบับหนึ่ง เพื่อร่วมกันค้นหา และนำทหารเวียดนามอีกราว 800 คน กลับประเทศในช่วงฤดูแล้ง 2555-2556 นี้ กวนโด่ยเญินซเวิน กล่าว
.
.
สองฝ่ายยังเห็นพ้องกัน จะร่วมกันโฆษณาเผยแพร่กิจกรรมการค้นหานี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทหารเวียดนาม จากประชาชนกัมพูชาในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย
พล.ต.เลข่าเฟียว (Lê Khà Phiêu) ผู้ชี้นำงานการเมืองของกองทัพเวียดนามในกัมพูชา ได้เปิดเผยระหว่างการถอนทหารเวียดนามชุดสุดท้ายออกจากกัมพูชาในเดือน ก.ย.2532 ว่า มีทหารเวียดนามเสียชีวิตกว่า 50,000 คน ในนั้นราว 30,000 คน ล้มตายด้วยโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาลาเรีย ที่เหลือเสียชีวิตในการสู้รบ
อีกหลายปีต่อมา นายทหารผู้นี้ได้กลายเป็น “พล.ท.เลข่าเฟียว” รัฐมนตรีกลาโหม และ เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (2540-2544) ตามลำดับ
ในปลายปี 2521 เวียดนามส่งทหารนับแสนคนข้ามพรมแดนเข้ากัมพูชาเพื่อขับไล่รัฐบาลเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ท เอียงสารี และเคียวสมพร ซึ่งเป็น “คอมมิวนิสต์สายจีน” จากนั้นได้จัดตั้งเขมรแดงอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นครองอำนาจแทน และอยู่ในอำนาจต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ว่า “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” ที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นในปีโน้นจะกลายราชอาณาจักรกัมพูชาไปแล้วก็ตาม
ตามข้อมูลของตะวันตกในช่วง 10 ปีแห่งการยึดครอง (2522-2532) มีทหารเวียดนามประจำการในกัมพูชาระหว่าง 100,000-200,000 คน เพื่อค้ำจุนบัลลังก์รัฐบาลใหม่กลุ่มเฮงสัมริน-เจียซิม-ฮุนเซน และช่วยกัมพูชาฟื้นฟูความเสียหายจากสงครามกับการทำลายล้างของระบอบเก่า
ยังไม่ทราบตัวเลขแน่ชัดว่า มีทหารเวียดนามที่ยังไม่ได้กลับจากกัมพูชาอีกจำนวนเท่าไรในขณะนี้.