xs
xsm
sm
md
lg

ทั่วโลกโล่งอกรัฐสภามะกันหย่าศึก ยุติ‘ชัตดาวน์’-รอดวิกฤตเบี้ยวหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ทั่วโลกโล่งใจ หลังรัฐสภาสหรัฐฯตกลงสงบศึก ช่วยให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตจากการผิดนัดชำระหนี้แม้เพียงชั่วคราวก็ตาม ประธานธนาคารโลกระบุคองเกรสช่วยให้เศรษฐกิจโลกหลบเลี่ยงจากหายนะ ขณะนายใหญ่ไอเอ็มเอฟแสดงความยินดี แต่ติงว่าเศรษฐกิจอเมริกาจำเป็นต้องมีสถานะการคลังที่มั่นคงในระยะยาว

ขณะที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงเส้นตายตอนเที่ยงคืนวันพุธ (16 ต.ค.) วุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ควบคุมโดยพรรคเดโมแครต ก็ได้ผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานการก่อหนี้ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งอัดฉีดงบประมาณชั่วคราวที่ทำให้หน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งที่ปิดไปตั้งแต่วันที่ 1 ที่ผ่านมา เปิดทำการอีกครั้งในวันพฤหัสฯ (17) ด้วยคะแนน 81-18 จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ก็โหวตให้ด้วยคะแนน 285-144

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามรับรองมาตรการใช้จ่ายดังกล่าวทันที และแถลงว่า ความสำเร็จนี้ทำให้รัฐบาลสามารถเริ่มขจัดความไม่แน่นอนและความยากลำบากออกจากธุรกิจอเมริกันและประชาชนชาวอเมริกัน
ร่างกฎหมายขยายเพดานการก่อหนี้ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งอัดฉีดงบประมาณชั่วคราวที่ทำให้หน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งผ่านความเห็นชอบจากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
ภายใต้ข้อตกลงล่าสุดของคองเกรสคราวนี้ ซึ่งยังมีลักษณะเป็นการประนีประนอมกันเพียงชั่วคราวนั้น จะทำให้กระทรวงคลังกู้ยืมได้ตามปกติจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ปีหน้า และมีการออกงบประมาณพิเศษชั่วคราวให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายไปถึงวันที่ 15 มกราคม ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของสภาสูงและสภาล่างซึ่งมีตัวแทนจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันเข้าร่วม เพื่อหารือและแนวทางลดการขาดดุลงบประมาณระยะยาวภายในวันที่ 13 ธันวาคม โดยมาตรการดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภา

ข้อตกลงนี้ยังระบุว่าผู้ที่ขอรับการอุดหนุนภายใต้กฎหมายปฏิรูประบบสาธารสุขปี 2010 หรือที่เรียกกันว่า “โอบามาแคร์” จะต้องผ่านกระบวนการตรวจพิสูจน์รายได้

เมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขที่ฝ่ายรีพับลิกัน โดยเฉพาะของกลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้ว “ทีปาร์ตี้” เคยยื่นออกมา ซึ่งมีทั้งการชะลอการบังคับใช้ หรือการตัดงบประมาณที่ให้แก่ “โอบามาแคร์” หรือการยกเลิกการจัดเก็บภาษีอุปกรณ์การแพทย์ที่จะเป็นมาตรการหนึ่งในการหารายได้เอามาให้แก่ “โอบามาแคร์” แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าข้อตกลงสุดท้ายนี้ทางฝ่ายโอบามาและเดโมแครตเพียงแค่ยอมอ่อนข้อเล็กๆ น้อยๆ เต็มทีเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้คราวนี้จึงถือเป็นความสำเร็จทางการเมืองครั้งสำคัญสำหรับโอบามา ที่ยืนกรานไม่ยอมเจรจาแก้ไขกฎหมายปฏิรูประบบสาธารณสุข กระทั่งรีพับลิกันต้องยอมจำนนในที่สุด หลังจากโพลหลายสำนักบ่งชี้ตรงกันว่า คะแนนนิยมที่มีต่อพรรคดิ่งฮวบจากวิกฤตการเมืองครั้งนี้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯขานรับการฝ่าทางตันวิกฤตงบประมาณและปิดหน่วยงานรัฐอย่างคึกคัก
ก่อนหน้านี้การงัดข้อเกี่ยวกับเพดานหนี้ในวอชิงตัน จนถึงขนาดสหรัฐฯอาจต้องผิดนัดชำระหนี้นั้น ได้สร้างความปั่นป่วนให้แก่ตลาดทั่วโลก รวมทั้งคุกคามภาพลักษณ์แหล่งลงทุนที่ปลอดภัยและศูนย์กลางการเงินของสหรัฐฯ ในสายตารัฐบาลและนักลงทุนทั่วโลกที่ถือครองตราสารหนี้ของอเมริกาเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ แม้ส่วนใหญ่ไม่คิดว่า อเมริกาจะผิดนัดชำระหนี้ แต่นักลงทุนบางคนเลือกขายพันธบัตรคลังสหรัฐฯ เพราะกังวลว่า อาจมีการชะลอการไถ่ถอน รวมทั้งงดซื้อหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนอินทรี

“โลกหายใจทั่วท้อง หลังอเมริกาหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หวุดหวิด” หนังสือพิมพ์ไทม์ ออฟ อินเดียฉบับวันพฤหัสบดี พาดหัวข่าว

ทางด้าน คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยินดีกับข้อตกลงของคองเกรส แต่สำทับว่า เศรษฐกิจอเมริกาต้องมีสถานะการคลังที่มั่นคงในระยะยาว ทว่า ข้อตกลงล่าสุดยังเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น จึงเท่ากับว่า ชาวอเมริกันอาจเผชิญศึกงบประมาณและการปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลอีกรอบตอนต้นปีหน้า

ลาการ์ดแถลงว่า อเมริกาจำเป็นต้องลดความไม่แน่นอนที่รุมล้อมการดำเนินนโยบายการคลังด้วยการขยายเพดานการก่อหนี้ในแนวทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
หน่วยงานรัฐบาลกลาง รวมถึงพิพิธภัณฑ์และอุทยานแห่งชาติต่างๆของสหรัฐฯ ทยอยกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง
ขณะที่ จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก ระบุว่า เศรษฐกิจโลกรอดพ้นจากแนวโน้มหายนะจากการตัดสินใจของคองเกรสในการผ่านมาตรการเพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ

ส่วน หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของวอชิงตันจากการถือครองพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ออกคำแถลงแสดงความยินดีที่วิกฤตการเมืองอเมริกันคลี่คลายลง

สำหรับตลาดหุ้นสำคัญในเอเชียต่างดีดขึ้นขานรับข่าวดีจากวอชิงตัน โดยเฉพาะโตเกียวที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นถึง 1.1%

กระนั้น ข้อตกลงของคองเกรสอาจบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะยาว กระตุ้นให้เจ้าหนี้เรียกร้องดอกเบี้ยสูงขึ้น

มาร์ติน เฮนเนกกี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเฮนลีย์ กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินในฮ่องกงขานรับว่า จีนและธนาคารกลางอีกหลายประเทศอาจต้องการโยกย้ายสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินอื่นๆ ทว่า ความที่ประเทศเหล่านั้นถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์จำนวนมหาศาล จึงไม่สามารถเทขายได้โดยไม่ฉุดให้ราคาตกซึ่งจะวกกลับมากระทบต่อสถานะการคลังของตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น