เอพี/เอเจนซีส์ – งานวิจัยฉบับใหม่ชี้ว่าการที่สตรีบริโภคสารบีพีเอในระดับสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งหรือมีบุตรยาก ทั้งนี้บีพีเอเป็นสารเคมีที่พบมากในพลาสติก และวัสดุเคลือบผิวภายในกระป๋องบรรจุอาหาร
ดร.ลินดา เกียไดซ์ นักชีวเคมีชาวแคลิฟอร์เนีย ผู้เป็นนายกสมาคมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์อเมริกัน (เอเอสอาร์เอ็ม) ชี้ว่า ถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันอย่างแน่ชัด แต่ก็ทำให้เห็น “ความเป็นไปได้ทางชีวภาพ” มากขึ้นว่า สารบีพีเออาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์และสุขภาพในด้านอื่นๆ ทั้งนี้งานวิจัยฉบับนี้ได้รับการนำเสนอในการประชุมประจำปีของสมาคมที่เมืองบอสตัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ต.ค.) ภายหลังที่เมื่อเดือนที่แล้ว เอเอสอาร์เอ็มและสูตินรีแพทย์กลุ่มอื่นๆ ได้กระตุ้นให้ใส่ใจสารเคมีสภาวะแวดล้อมต่างๆ และอันตรายร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับสตรีมีครรภ์ให้มากขึ้น
สารบีพีเอ ซึ่งย่อมาจากบิสฟีนอล-เอ (Bisphenol-A) และสารเคมีสภาวะแวดล้อมบางประเภท อาจส่งผลกระทบคล้ายกับฮอร์โมนในระดับไม่รุนแรง และผลการทดลองเผยว่าเกือบทุกคนมีบีพีเออยู่ในปัสสาวะ แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีนี้จะมีการห้ามใช้สารเคมีชนิดนี้ในขวดนมทารก และขวดเครื่องดื่มที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ก็ตาม โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ระบุว่าบีพีเอเป็นสารที่ปลอดภัยพอจะใช้ได้ในบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารประเภทอื่นๆ
ดร.รูธ ลาธี นักต่อมไร้ท่อวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนึ่งในคณะผู้ทำวิจัยฉบับนี้กล่าวว่า การแท้งลูกโดยส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไข่ (เซลล์สืบพันธ์ฝ่ายหญิง) หรือโครโมโซมมีปัญหา และจากการวิจัยที่ใช้หนูทดลองพบว่า บีพีเออาจไปเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาเหล่านี้
ด้วยทุนวิจัยของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เธอและนักวิจัยอื่นๆ ได้ทำการศึกษาผู้หญิง 115 คนที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก และมีประวัติว่าเคยประสบปัญหาการมีบุตรยาก หรือเคยแท้งบุตรมาก่อน โดยในจำนวนนั้น มี 68 คนที่เคยแท้งบุตร ขณะที่ 47 คนคลอดบุตรอย่างปลอดภัย
คณะนักวิจัยกลุ่มนี้ได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดในช่วงที่ตรวจพบว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ตั้งครรภ์ และแบ่งพวกเธอออกเป็น 4 กลุ่มตามระดับของสารบีพีเอในเลือด ปรากฏว่าผู้หญิงซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีค่าบีพีเอสูงสุดมีความเสี่ยงที่จะแท้งสูงกว่ากลุ่มที่มีค่าในระดับต่ำสุดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าพวกเธอมีอายุเท่าๆ กันและมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากงานวิจัยนี้ทำการทดลองกับคนจำนวนไม่มาก จึงส่งผลให้ค่าของความเสี่ยงแตกต่างกันมาก ตั้งแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยไปจนถึงเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า
“เป็นไปได้ว่าผู้หญิงที่มีระดับสารบีพีเอในเลือดสูง นั้นอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่ทำให้แท้งด้วย” และสารบีพีเออาจทำให้ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นสูงขึ้นไปอีก ลาธีชี้
เธอเตือนว่า แม้งานวิจัยนี้จะยังไม่ถึงกับเป็นสัญญาณเตือนภัย แต่ก็ทำให้ยากที่จะยอมรับว่าบีพีเอเป็นสารที่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์
ทั้งนี้ เธอได้แนะนำว่า วิธีที่จะลดโอกาสในการสัมผัสสารบีพีเอได้ก็คือ หลีกเลี่ยงการประกอบอาหาร หรืออุ่นอาหารโดยไม่แกะออกจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพราะความร้อนจะทำให้สารเคมีรั่วไหลออกมา และอย่าวางขวดเครื่องดื่มพลาสติกไว้ในที่ที่แดดส่อง จำกัดการบริโภคอาหารกระป๋อง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบเสร็จจากเครื่องคิดเงิน ซึ่งมักถูกเคลือบด้วยเรซินที่มีสารบีพีเอ