xs
xsm
sm
md
lg

จ่อประกาศยี่ห้อนมผงปนเปื้อน 8 ส.ค.ด้าน “ดูเม็กซ์” เรียกคืนสินค้าได้ 50 ตันจากพันตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.สั่งผู้ผลิตนมผงเช็กเวย์โปรตีนนำเข้ามีล็อตปนเปื้อนหรือไม่ ดีเดย์ 8 ส.ค.ต้องรายงานผล เผย “ดูเม็กซ์” ส่งผลิตภัณฑ์นมผง 5 รุ่น ล็อตปนเปื้อนออกขายมากถึง 1,062 ตัน แต่เรียกคืนได้ 50 ตัน ประสาน สสจ.ทุกจังหวัดตรวจสอบแหล่งจำหน่าย หากพบให้เก็บทันที ลั่นจากนี้ผู้นำเข้าเวย์โปรตีนต้องมีใบตรวจวิเคราะห์จากต่างประเทศ ด้าน ส.ผู้ผลิตอาหารเด็กฯ ยันระบบการผลิตนมผงปลอดเชื้อ ได้มาตรฐาน

วันนี้ (6 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการประชุมชี้แจงมาตรการรองรับการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินัมในอาหาร โดยมีผู้ประกอบการกว่า 30 ราย อาทิ บ.ดูเม็กซ์ จำกัด ประเทศไทย บ.ซีพี-เมจิ จำกัด บ.ดัชมิลล์ จำกัด (มหาชน) บ.มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด บ.สโนว์ แบรนด์ สยาม จำกัด บ.แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส (ประเทศไทย) จำกัด บ.ฟอนเทอร์รา ประเทศไทย จำกัด บ.เนสท์เล่ ประเทศไทย จำกัด เป็นต้น รวมถึงสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก และสถานทูตนิวซีแลนด์ เข้าร่วมประชุม

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย.กล่าวภายหลังการประชุมว่า หลังจากทางการนิวซีแลนด์ประกาศเตือนเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า พบแบคทีเรียปนเปื้อนในเวย์โปรตีนเข้มข้น หรือหางนมเข้มข้น ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตนมทารก และเครื่องดื่มสำหรับผู้ออกกำลังกายเพาะกล้ามเนื้อ ซึ่งมีการส่งออกไปยัง 6 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย อย.จึงประสานกับ บ.ฟอนเทอร์รา ประเทศไทย ซึ่งมีรายชื่อในฐานข้อมูล อย.ว่าเป็นผู้นำเข้าเวย์โปรตีนให้หยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แต่จากลงพื้นที่ตรวจโรงงานบริษัทดังกล่าวพบว่า บ.ฟอนเทอร์รา ประเทศไทย ไม่ได้นำเข้าเวย์โปรตีนมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยผู้ผลิตนมแต่ละรายเป็นผู้นำเข้ามาเองจากหลากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา อย.จึงเชิญผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก นม และเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ เพื่อให้ทั้งหมดตรวจสอบว่า มีบริษัทใดบ้างที่นำเข้าเวย์โปรตีนล็อตที่มีปัญหาจากนิวซีแลนด์ โดยให้ส่งผลการตรวจสอบกลับมายัง อย.ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ รวมถึงจะได้ทราบว่า บริษัทแต่ละแห่งนำเข้าเวย์โปรตีนจากที่ใดบ้าง

สำหรับการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ 5 รุ่นของ บ.ดูเม็กซ์ พบว่า มีการจำหน่ายล็อตที่มีปัญหาไปทั้งหมด 1,062 ตัน ซึ่งขณะนี้สามารถเรียกคืนได้เพียง 50 ตันเท่านั้น ซึ่งมาตรการต่อจากนี้ อย.จะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศดำเนินการตรวจสอบแหล่งจำหน่าย หากมีผลิตภัณฑ์ที่มีปัยหาตามที่ประกาศก็ให้เก็บออกจากชั้นวางทันที” เลขาธิการ อย.กล่าว

นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า มาตรการหลังจากนี้ หากบริษัทใดนำเข้าเวย์โปรตีนจากนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะบริษัท ฟอนเทอร์รา จะต้องส่งหลักฐานการวิเคราะห์ให้ อย.ทราบทุกล็อต ถ้าไม่มีก็จะไม่อนุญาตให้นำเข้า แต่หากนำเข้าเวย์โปรตีนจากประเทศอื่นก็ขอให้ส่งหลักฐานด้วยว่าเวย์โปรตีนนั้น ได้มีการนำเข้ามาอีกต่อหนึ่งจากประเทศใด ถ้าไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาก็สามารถนำเข้าได้ตามปกติ ทั้งนี้ จากการที่ อย.ได้หารือกับสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า โรคโบทูลิซึมเป็นโรคที่ต้องมีการรายงาน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีผู้ป่วยโรคนี้จากผลิตภัณฑ์นมมาก่อน

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า การนำเข้าเวย์โปรตีนจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.เวย์โปรตีนเข้มข้น และ 2.เวย์โปรตีนที่มีการนำไปผสมให้เป็นแบบกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป้นการนำเข้าแบบกึ่งสำเร็จ

นพ.ประพัฒน์ โสภณาทรณ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก กล่าวว่า ผู้ประกอบการเกือบทุกรายเป็นสมาชิกของสมาคมฯ โดยบริษัทรายใหญ่มีทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ บ.แอ๊บบอร์ต ลาบอแรตอรีส บ.เนสท์เล่ ประเทศไทย บ.สโนว์ แบรนด์ สยาม บ.ดูเม็กซ์ ประเทศไทย บ.มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน ประเทศไทย บ.แฟซิฟิก เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บ.ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งนอกจาก บ.ดูเม็กซ์ แล้ว ผู้ประกอบการรายอื่นยังไม่มีข้อมูลว่าได้ใช้เวย์โปรตีนล็อตที่มีการปนเปื้อนเป็นวัตถุดิบในการผลิตนมผง แต่พร้อมที่จะกลับไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง และจะส่งข้อมูลยืนยันให้ อย.ภายในวันที่ 8 ส.ค.นี้

ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะนอกจากผลิตภัณฑ์ 5 รุ่นของ บ.ดูเม็กซ์ ที่ประกาศว่าใช้วัตถุดิบล็อตที่มีการปนเปื้อนนั้น ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งหมดยังคงปลอดภัย ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายจะกลับไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สมาคมฯ หรือบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่พร้อมตอบคำถามทั้งหมด” นพ.ประพัฒน์ กล่าว

นพ.ประพัฒน์ กล่าวอีกว่า สมาชิกทุกรายมีการตรวจสอบความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากลในการส่งออก อย่างที่ บ.ดูเม็กซ์ ออกมาเรียกคืนผลิตภัณฑ์ก็เป็นการตรวจสอบตัวเองแล้วพบการปนเปื้อน ซึ่งการปนเปื้อนของนมผงคาดว่าอาจเกิดจากภาชนะชนิดหนึ่งที่ใช้ถ่ายเทนมผงในการบรรจุ โดยเชื้อดังกล่าวสามารถพบได้ทั่วไปตามพื้นดิน แม่น้ำ สามารถโตได้ดีในที่ปิด เช่น กระป๋อง เนื่องจากอากาศไม่สามารถถ่ายเทเข้ามาได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงระบบการผลิตนมผงมีกรรมวิธีปลอดเชื้อหรือไม่ นพ.ประพัฒน์ กล่าวว่า กระบวนการผลิตทั้งระบบมีความปลอดภัย ได้มาตรฐานทั้งระดับประเทศและสากล มีการฆ่าเชื้อทั้งภาชนะบรรจุ และวัตถุดิบในการผลิตนมผงทั้งหมด ที่สำคัญผู้ประกอบการทุกรายมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เองอย่างเข้มงวด และมีการสุ่มตรวจจากหน่วยงานภาครัฐเสมอ

กทม.รุดตรวจร้ายขายนมผงหวั่นมีสารปนเปื้อน พร้อมกำชับให้ผู้ประกอบการจัดพนักงานให้ความรู้แก้ผู้บริโภคและสั่ง 50 เขตลงพื้นที่ตรวจ

วันเดียวกัน นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพนมผงที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส พระราม 9 และท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์นมผงที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียมโบทูลินัม จึงได้มีการตรวจสถานปรพกอบการที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมผง

นางผุสดี กล่าวว่า ตนได้กำชับให้ทางห้างสรรพสินค้าจัดพนักการยืนประจำจุดขาย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ตลอด และจะได้ให้ความรู้กับประชาชนว่าที่เห็นอยู่เป็นคนละล็อตกับตัวที่เรียกคืน ทั้งนี้ได้สั่งการไปยัง 50 เขตแล้วว่าให้การลงพื้นที่ตรวจห้างสรรพสินค้าอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งประสานงานไปยังสถานประกอบการต่างๆ ขณะนี้เท่าที่ตนทราบยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด


ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. ตรวจนมผงที่ห้างสรรพสินค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น