xs
xsm
sm
md
lg

ผิดคาด! เฟดคง “มาตรการ QE” ต่อไป แจงอยากให้แน่ใจ ศก.ฟื้นตัวยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะแถลงข่าวในวันพุธ (18ก.ย.) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี)
เอเจนซีส์ – ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำนักเศรษฐศาสตร์ประหลาดใจไปตามๆ กัน โดยประกาศภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) คงมาตรการ QE ซ้ำลดการคาดการณ์อัตราเติบโตทั้งปีนี้และปีหน้า ระบุต้องการรอดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการลดการใช้จ่ายของรัฐบาล ทำให้หลายคนคาดว่า เฟดอาจรอให้หมดวาระของ “เบอร์นันกี” ก่อนจึงค่อยขยับลดมาตรการอัดฉีด นอกจากนั้นเอฟโอเอ็มซียังเชื่อว่า แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นจะเริ่มต้นต่อเมื่อถึงปี 2015 เท่านั้น
เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงเมื่อวันพุธ (18) ว่า เอฟโอเอ็มซี ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นการประชุม 2 วันในวันอังคาร-พุธ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลร้ายแรงมาก จากการประลองกำลังทางการเมืองในวอชิงตันเกี่ยวกับร่างงบประมาณฉบับใหม่และเพดานการก่อหนี้ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการที่เฟดยังไม่ขยับลดระดับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE) ตามที่ตลาดพากันคาดหมายและรู้สึกหวั่นวิตกอยู่ก่อนหน้านี้ กลายเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ตลาดหุ้นในสหรัฐฯไต่ขึ้น โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ในตอนปิดวันพุธต่างทะยานราว 1% ขึ้นทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ และ แล้วยังตามมามีอานิสงส์ต่อตลาดหุ้นในเอเชียในการซื้อขายวันพฤหัสบดี(19 ก.ย.)
สำหรับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี ซึ่งย่อมต้องขยับในทิศทางตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นอยู่แล้ว ได้ตกจาก 2.87% อยู่ที่ 2.71% ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ทำสถิติต่ำสุดเมื่อเทียบยูโรนับจากเดือนกุมภาพันธ์ โดยอยู่ที่ 1.3511 ดอลลาร์จาก 1.3340 ดอลลาร์ และดอลลาร์เทียบเยนก็มาอยู่ที่ 98.13 เยน จาก 99.33 เยน
ในการแถลงข่าววันพุธ เบอร์นันกี เสริมว่า มาตรการ QE ข้อสำคัญ ซึ่งได้แก่การรับซื้อพันธบัตรในระดับเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยเป้าหมายที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำนั้น ทางเอฟโอเอ็มซีอาจเริ่มลดมูลค่าการรับซื้อลงในช่วง 3 เดือนข้างหน้า แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯต้องเข้มแข็งขึ้นเท่านั้น
“เราไม่ได้กำหนดเวลาตายตัว" เบอร์นันกีกล่าว พร้อมสำทับว่า กระทั่งเมื่อมีการลดมาตรการ QE กันจริงๆ ขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไปก็จะยังคงอิงกับความคืบหน้าของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ในส่วนคำแถลงของเอฟโอเอ็มซีเองในคราวนี้ ได้มีการระบุประเมินภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯว่า ยังคงเติบโตในระดับพอประมาณ และดูเหมือนสามารถต้านทานผลลบจากมาตรการตัดลดงบประมาณแบบเหมารวมตลอดจนการขึ้นภาษีของรัฐบาลได้ กระนั้น สาเหตุสำคัญที่ชะลอการลด QE เพราะต้องการแน่ใจว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
“เอฟโอเอ็มซีตระหนักว่าความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ได้ลดลงนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ทว่า หากการคุมเข้มทางการคลังที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ยังคงอยู่ต่อไป อาจทำให้ความคืบหน้าของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเกิดการชะลอลงได้”
ด้วยเหตุนี้เอฟโอเอ็มซีจึงลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกันในปีนี้ลง 0.3% มาอยู่ที่ 2.0-2.3% และสำหรับปีหน้าก็ให้ไว้ที่ 2.9-3.1% รวมทั้งย้ำว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เฟดฟันด์เรต จากระดับเกือบๆ เป็น 0% ในปัจจุบันนั้น น่าจะเริ่มต้นได้ในปี 2015
ทางด้าน เอียน เชปเพิร์ดสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแพนธีออน แมคโครอิโคโนมิกส์ ชี้ว่า การที่เศรษฐกิจยังเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ 2% เหมือนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะความวุ่นวายของนโยบายการคลังในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ ทำให้เฟดสามารถรอต่อไปโดยไม่ยอมเสี่ยงใดๆ
เบอร์นันกีเคยบอกไว้ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนว่า เอฟโอเอ็มซีอาจลดการซื้อพันธบัตรปลายปีนี้ และคาดว่าจะยกเลิกทั้งหมดกลางปีหน้า ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ฟันธงว่า การประชุมครั้งนี้ที่สิ้นสุดเมื่อวันพุธ จะมีการปรับลดการรับซื้อลง 5,000-25,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน
จากแนวโน้มที่จะมีการลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบตามมาตรการ QE เช่นนี้ ได้ดันอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดพุ่งขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านระยะ 30 ปีในรอบ 4 เดือนมานี้ทะยานขึ้นจาก 3.32% เป็น 4.48% ผลลัพธ์คือ การฟื้นตัวในตลาดที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กำลังอยู่ในภาวะอ่อนกำลังลง
อีกปัจจัยที่เฟดระบุว่าจะจับตาอย่างใกล้ชิดในเวลาตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน ได้แก่อัตราว่างงาน ซึ่งปรากฏว่าได้ลดจาก 8.1% เมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ 7.3% ในเดือนที่ผ่านมา ใกล้เคียงระดับ 7% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เบอร์นันกีหมายตาสำหรับการยุติ QE ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ประธานเฟดกล่าวว่า อัตราว่างงาน 7% ไม่ใช่ “ตัวเลขมหัศจรรย์” ที่กำหนดให้เฟดยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงินโดยอัตโนมัติ
นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดว่า เฟดอาจรอให้วาระการดำรงตำแหน่งของเบอร์นันกีสิ้นสุดลงในเดือนมกราคมปีหน้า จึงจะเริ่มลด QE ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการผลักภาระการตัดสินใจให้ประธานเฟดคนใหม่ โดยที่มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะเป็น เจเน็ต เยลเลน รองประธานเฟด ที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุเมื่อวันพุธว่า เป็นตัวเก็งที่มาแรงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น