xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนซึม-เฟดเลิกQEปีหน้า เบอร์นันกีเชื่อศก.USฟื้นตัวมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นโกยวปรับลด ผลกระทบจากถ้อยแถลงของเฟดเมื่อค่ำคืนวันพุธ(19)
เอเจนซีส์ - “เบอร์นันกี” มั่นใจเศรษฐกิจอเมริกาฟื้นตัวเข้มแข็งและยั่งยืนขึ้น แย้ม “เฟด” อาจชะลอแผนกระตุ้นปลายปีนี้และยกเลิกกลางปีหน้า การแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯเช่นนี้ ยิ่งตอกย้ำความกังวลของนักลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับข่าวภาคการผลิตจีนก็ยังคงชะลอตัว จึงฉุดให้ตลาดหุ้นตกตามๆ กันตั้งแต่สหรัฐฯมาถึงฟากเอเชีย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เป็นเวลาสองวัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกคำแถลงในวันพุธ (19 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุมมีมติคงแผนการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไป เนื่องจากอัตราว่างงานยังสูง และอัตราเติบโตก็ถูกบั่นทอนจากมาตรการลดงบประมาณรายจ่ายแบบเหมารวมของรัฐบาล

คำแถลงแจกแจงว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตในระดับ “พอประมาณ” และความเสี่ยงขาลงก็ผ่อนคลายลง ทว่า มาตรการคุมเข้มทางการคลังของรัฐบาลยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของจีดีพี

ด้วยเหตุนี้ เฟดจึงปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตในปีนี้เล็กน้อย โดยลงมาอยู่ที่ 2.3-2.6% แต่ปรับเพิ่มสูงขึ้นสำหรับปีหน้าเป็น 3-3.5% รวมทั้งคาดหมายว่า อัตราว่างงานจะลดต่ำลงได้อย่างรวดเร็วกว่าที่เคยคาดไว้เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว โดยจะอยู่ที่ 7.2% ตอนสิ้นปีนี้ จาก 7.6% ในปัจจุบัน และเหลือ 6.5% กลางปี 2014 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อนั้นคาดว่า จะขยับขึ้นสู่เป้าหมาย 2% ในอนาคต

ทางด้าน เบน เบอร์นันกี ประธานเฟด ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าวว่า เฟดจะเริ่มลดขนาดโครงการรับซื้อพันธบัตรเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้ และยกเลิกไปเมื่อถึงกลางปีหน้า ทั้งนี้การรับซื้อพันธบัตรนี้ เป็น 1 ในมาตรการทางการเงินที่เรียกกันว่า “การผ่อนคลายเชิงปริมาณ” (Quantitative Easing หรือ QE) ซึ่งมุ่งหมายจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มสภาพคล่องอย่างขนานใหญ่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมากจนยากที่จะขยับลงได้อีกเช่นนี้

อย่างไรก็ดี เบอร์นันกีบอกว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์ เฟดจะหยุดการลดหรือกระทั่งเพิ่มมูลค่ามาตรการ QE ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำลง และส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 เป็นต้นมา

ในคำแถลงที่ออกหลังการประชุม FOMC คราวนี้ เฟดยังย้ำว่า จะไม่ชี้นำให้ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย “เฟด ฟันด์ เรต” จนกว่าอัตราว่างงานจะลดเหลือ 6.5% เป็นอย่างน้อย

การออกมาแถลงของเบอร์นันกีในครั้งนี้ เป็นการยืนยันสิ่งที่ตลาดกำลังวิตกกังวล นั่นคือเฟดมีความมั่นใจมากขึ้นว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวด้วยความยั่งยืนและเข้มแข็งพอที่จะเริ่มชะลอมาตรการ QE แล้ว ดังนั้น จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดให้ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ของหุ้นสหรัฐฯปิดลดลงเกือบ 1.4% ในวันพุธ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ก็พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 15 เดือน โดยอยู่ที่ 2.36%

ต่อมาในวันพฤหัสบดี (20) ตลาดหุ้นฟากเอเชียส่วนใหญ่ยังหล่นลงมากกว่า 1% จากถ้อยแถลงของเบอร์นันกีนี้ ตลอดจนจากปัจจัยเรื่องข้อมูลตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมของจีนที่ตอกย้ำแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนมังกร

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นประจำเดือนมิถุนายนของจีนที่จัดทำโดยเอชเอสบีซี ลดลงอยู่ที่ระดับ 48.3 จาก 49.2 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เป็นระดับต่ำที่สุดนับจากเดือนกันยายน 2012 อยู่แล้ว และเป็นการเน้นย้ำความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจชะลอลงมากกว่าที่คาดหมายกัน รวมทั้งเพิ่มความกดดันต่อธนาคารกลางแดนมังกรให้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ปี 2012 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี และตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาสำหรับปีนี้บ่งชี้ว่า จีนอาจไปไม่ถึงเป้าหมายการเติบโตที่ 7.5% แม้อาจพลาดไปไม่มากนักก็ตาม

กระนั้น หวัง จิน นักวิเคราะห์ของกั๋วไท่ จิว์นอัน ซีเคียวริตี้ส์ในเซี่ยงไฮ้ มองว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวต่ำกว่า 7% ในปีนี้มีน้อยมาก เนื่องจากมาตรการที่ทางการใช้อยู่ยังคงมีประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ โอกาสที่แบงก์ชาติจะออกมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ ก็มีน้อยมากเช่นกัน เนื่องจากผู้นำใหม่มีจุดยืนในการยอมปล่อยให้การเติบโตชะลอตัวเป็นช่วงสั้นๆ เพื่อแลกกับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะส่งผลระยะยาว

นักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลจีนเผยว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง จะยอมให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ถึง 7% หากต่ำกว่านั้นจึงจะคิดอ่านหามาตรการกระตุ้นการเติบโต

สื่อของปักกิ่งรายงานเมื่อวันอังคาร (18) โดยอ้างอิงคำพูดของหลี่ว่า เศรษฐกิจโดยรวมยังคงเข้มแข็ง และจังหวะการฟื้นตัวอยู่ในช่วงที่เหมาะสม ถัดมาอีกวัน หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล นิวส์ของธนาคารกลางจีน ระบุว่า โอกาสลดดอกเบี้ยระยะสั้นมีน้อยมาก เนื่องจากเกรงกันว่า จะกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เงินทุนไหลออก
กำลังโหลดความคิดเห็น