กูรูมองค่าเงินบาทแข็งและผันผวนกระทบส่งออกมาก แต่ไม่กระทบตลาดหุ้นไทย ชี้แบงก์ชาติอาจพิจารณามาตรการจากเบาไปหาหนัก แต่หากแข็งค่าถึงระดับ 25 บาทจะเสียหายมาก ด้าน บลจ.กรุงศรีเล็งปรับพอร์ตเลี่ยงบริษัทที่มีกำไรเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ของค่าเงินบาทในขณะนี้ว่า มองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 28-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่เอกชนและรัฐบาลพอรับได้ แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกมาก ซึ่งทางแบงก์ชาติสามารถดูแลได้เพียงช่วงระยะสั้น ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ไม่สามารถดูแลได้ในระยะยาว ซึ่งคาดว่าแบงก์ชาติน่าจะใช้มาตรการจากเบาไปหนัก โดยการลดดอกเบี้ยก็เป็นมาตรการหนึ่งหากมีการปรับลด ทั้งนี้จากมุมมองของ บลจ.กรุงศรีคาดว่าหากมีการปรับดอกเบี้ยก็จะลดประมาณ 0.25% แต่ก็จะมีผลต่อตลาดตราสารหนี้มากกว่าตลาดหุ้น ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปถึงระดับ 25 บาทจะมีปัญหามาก
ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังไม่ถึงจุดเปลี่ยนจากแนวโน้มแข็งมาเป็นอ่อนค่าลง จะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยเริ่มมีปัญหาและขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าทางการและผู้ประกอบการคงไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเพราะจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจมาก ดังจะเห็นได้ว่าขณะนี้ภาครัฐได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยกันบริหารเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากนัก แต่ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาจากมาตรการต่างๆ ที่มีข่าวว่าจะออกมามากกว่า
“ในส่วนของ บลจ.กรุงศรีนั้น ก็จะเลือกลงทุนในบริษัทของไทยที่มีกำไรเกี่ยวข้องกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน การลงทุนในต่างประเทศก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากตลาดหุ้นไทย” นายประภาสกล่าว
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เงินบาทจะยังคงแข็งค่าต่อจากมาตรการ QE ของญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่ผลจากการที่ทางการจีนเริ่มมีข่าวว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เริ่มมีปัญหา และหากมีปัญหาจริงประเทศเล็กๆ อย่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลงตาม แต่จะต้องรอดูตัวเลขจีนว่าแย่ลงจริงหรือไม่ หากแย่จริงจะเห็นเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง แต่ปัจจุบันเงินบาทยังคงยากที่จะคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงเพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ปัจจัยภายในจะสำคัญแต่ถูกครอบงำโดยปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้มีเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยแล้วถึง 800,000 ล้านบาท นับเป็นปริมาณที่สูงมาก แต่ขณะนี้นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก้าวหน้ามากกว่าทางยุโรป ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น เงินบาทก็จะอ่อนค่าลง และหากเศรษฐกิจจีนที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงและหากชัดเจนมากขึ้นว่าชะลอลงจริงก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังคงคาดการณ์ยากที่สุดและยังคงผันผวน ผู้ส่งออก และผู้ลงทุนควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะขณะนี้หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่ามีทั้งปัจจัยทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงและแข็งค่าขึ้นได้ โดยมาตรการที่ทำให้อ่อนค่าลงได้แก่สหรัฐฯ อาจจะเลิกมาตรการ QE รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณว่าจะไม่ดีต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ปรับลดลง
ส่วนบางปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เช่นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่การส่งออกยังคงเติบโตอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูงกว่าในต่างประเทศทำให้เป็นสิ่งที่ยังคงเป็นตัวดึงดูดเงินจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการแทรกแซงค่าเงินบาทน้อยลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้ ดังนั้นจะต้องพิจารณาควบคู่ให้ดี หากเป็นนักลงทุนในตลาดทุนในประเทศควรดูปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทว่าเกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และหนี้ต่างประเทศมากน้อยเพียงใด ขณะนี้ หากมองไปข้างหน้า ห่วงว่าถ้า QE ของแต่ละประเทศหยุดดอกเบี้ยกลับเป็นขาขึ้น สิ่งนี้จะต้องระวังเพราะจะเป็นผลลบต่อสินทรัพย์และการลงทุน แต่ภาวะดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 6-12 เดือนนับจากนี้ไป แต่น่าจะเป็นปี ค.ศ. 2015-2016