เอเอฟพี – ตลาดจับตาประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กลางสัปดาห์นี้ เชื่อ “เฟด” อาจลดมาตรการ QE อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อรอดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หรืออาจชะลอการตัดสินใจไปเป็นการประชุมอีกสองนัดที่เหลือของปีนี้
สี่เดือนหลังจากเบน เบอร์นันกี ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปรยว่าเฟดอาจเริ่มชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ เมื่อนำมาบวกรวมกับการที่ตัวเขาเองจะอำลาตำแหน่งในปลายเดือนมกราคมปีหน้า จึงทำให้ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่า เขาจะจัดการเรื่องนี้ในขณะนี้เลย มากกว่าจะปล่อยให้เยิ่นเย้ออีกหลายเดือนจนกว่านายใหญ่เฟดคนต่อไปจะลงตัวกับตำแหน่งใหม่
แนวโน้มที่เฟดจะลดการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยการซื้อพันธบัตรเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นแดนอินทรีตกลงจากสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดพุ่งขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรคลังระยะ 10 ปีทะยานขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 4 เดือนจาก 1.6% เป็น 3.0%
การคาดการณ์เช่นนี้ยังส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากพวกชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ สร้างความสับสนอลหม่านให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งในอินโดนีเซีย อินเดีย และตุรกี ที่เผชิญปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนรูดดิ่ง
และแม้มีเสียงเตือนจากทั่วโลกไม่ให้เฟดผลีผลามลด QE แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า ขณะนี้เหลือคำถามเพียงข้อเดียวคือ เฟดจะลงมือเมื่อใดและรวดเร็วเพียงใด
เบอร์นันกีพยายามสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ โดยในวันที่ 22 พฤษภาคม เขาแจงกับรัฐสภาอเมริกันว่า เฟดอาจเริ่มลดการซื้อพันธบัตร “ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ครั้งต่อๆ ไป” หากเห็นว่า เศรษฐกิจยังคงปรับตัวต่อเนื่องและมั่นใจว่า การฟื้นตัวยั่งยืน
สามสัปดาห์ต่อมา เบอร์นันกีลงรายละเอียดว่า จะเริ่มลด QE "ปลายปีนี้” และยกเลิกทั้งหมดกลางปีหน้า
แต่พอถึงเดือนกรกฎาคม เขาดูระมัดระวังมากขึ้นและแสดงความเป็นห่วงว่า แผนการลดการใช้จ่ายแบบเหมารวมของรัฐบาลอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวจนถึงสิ้นปี โดยรายงานการประชุมเอฟโอเอ็มซีปลายเดือนนั้นระบุว่า สมาชิกหลายคนต้องการเดินหน้าลด QE ขณะที่คนอื่นๆ อยากให้รอดูสถานการณ์ก่อน
ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมสนับสนุนจุดยืนของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือแม้ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2 ได้รับการยกระดับปรับสูงขึ้นเป็น 2.5% และอัตราว่างงานก็กระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 7.3% จาก 8.1% ในเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่ตัวเลขการปลดพนักงานทั้งภาครัฐและเอกชนบ่งชี้แนวโน้มที่ดีขึ้น ทว่า การสร้างงานใหม่ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมก็ลดลงอย่างมาก และอัตราว่างงานที่ดีขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่คนจำนวนมากตัดสินใจล่าถอยออกจากตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นยังดูเหมือนบั่นทอนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และข้อมูลยอดค้าปลีกในวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ก.ย.) บ่งชี้ว่า หากไม่นับการซื้อรถใหม่แล้ว ผู้บริโภคอเมริกันยังคงระแวดระวังการใช้จ่ายอย่างมาก
มาร์ก แซนดี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ชี้ว่า แม้ภาคธุรกิจไม่ได้ปลดคนแต่ก็ไม่ได้ว่าจ้างพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นมากนัก อีกทั้งระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และมาตรการ QE ของเฟดส่งผลต่อกระบวนการนี้น้อยลงเรื่อยๆ
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ขานรับว่า ไม่มีข่าวร้ายทางเศรษฐกิจมากมายจนกระทั่งเบอร์นันกีต้องระงับแผนการ กระนั้น เอฟโอเอ็มซีอาจลดการซื้อพันธบัตรเพียง 5,000-20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน และรอดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจลดเพิ่มเติม หรืออาจรอตัดสินใจในการประชุมเอฟโอเอ็มซีหนึ่งในสองครั้งที่เหลืออยู่ของปีนี้คือ ในเดือนตุลาคมและธันวาคม
นักวิเคราะห์ของไอเอสเอส โกลบัล อินไซต์ เชื่อว่า เอฟโอเอ็มซีอาจประกาศลด QE ในเดือนธันวาคม เนื่องจากตลาดงานขณะนี้ยังไร้ความแน่นอน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากวิกฤตซีเรีย และการต่อสู้เกี่ยวกับญัตติทางการคลังในรัฐสภา