เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลง แต่ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากต่างแดนยังเชื่อมั่นในอนาคตสดใสระยะยาวของไทยที่ถูกยกให้เป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ภายหลังที่หลังนโยบาย “รถคันแรก” ขับเคลื่อนยอดขายปีที่แล้วพุ่งกระฉูด ประกอบกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคจากการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนจาก “สองล้อ” มาขับขี่รถ “สี่ล้อ” แทน
รายงานของเอเอฟพีอ้างองค์การผู้ผลิตรถยนต์ระหว่างประเทศ ที่มีฐานในฝรั่งเศสระบุว่า ปีที่ผ่านมาไทยผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ถึง 70% เป็น 2.48 ล้านคัน ผิดแผกจากอัตราขยายตัวในจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้นได้เป็นตัวเลขเพียงหลักเดียว
ทั้งนี้ปัจจัยหลักก็คือ การลงทุนก้อนใหญ่ของค่ายรถญี่ปุ่นตลอดจนถึงฟอร์ดแห่งอเมริกา ที่ส่งให้ไทยกลายเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งอันดับรองลงมาหลายช่วงตัว
ปีที่แล้วไทยส่งออกรถราว 1 ล้านคัน นอกจากนั้นยอดขายในประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าต่ำกว่าปี 2012 ที่ได้แรงกระตุ้นใหญ่จากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลก็ตาม
เอเอฟพีบอกว่า การเติบโตของไทยสะท้อนแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคจากการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนจากมอเตอร์ไซค์มาใช้รถยนต์แทน
แม้มีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน แต่ผู้ผลิตรถยังคงมองแนวโน้มระยะยาวในแง่ดี จึงทุ่มทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สร้างโรงงานผลิตใหม่สุดไฮเทคเพื่อพิสูจน์ความเชื่อมั่นนี้
ยูลิ ไกเซอร์ ประธานบริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ ออโตโมทีฟ โฟกัส กรุ๊ป ไทยแลนด์ ชี้ว่า แม้มีความอึมครึมและอาจมีปัญหาต่างๆ แต่อุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมแล้วขับเคลื่อนโดยผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้กำลังต้องการเปลี่ยนจากรถสองล้อเป็นรถสี่ล้อ
“ผมไม่เห็นวี่แววว่า ความต้องการนี้จะยุติลง แต่กลับเห็นว่า เอเชียอาคเนย์เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตเข้มแข็งที่สุดของโลก”
ขณะที่ศึกช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเข้มข้นขึ้น ค่ายรถรายใหญ่ที่หลายแห่งมาจากญี่ปุ่น ต่างอัดฉีดเงินสดเข้าสู่โรงงานใหม่จากการตัดสินใจว่าจะสามารถทำยอดขายมากขึ้นจากพวกผู้บริโภคที่กำลังเติบโตของไทย และฉกฉวยข้อได้เปรียบจากการที่แดนสยามมีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางตลาดส่งออกของเอเชียอาคเนย์
ณ โรงงานแห่งหนึ่งของฮอนด้านอกกรุงเทพฯ การประกอบรถยนต์ใหม่ใช้เวลาเพียง 3 วัน ทุกวันมีรถป้ายแดงออกจากสายการผลิต 1,100 คัน
ค่ายรถแดนปลาดิบแห่งนี้หมายมั่นผลิตรถปีละ 420,000 คันในไทยภายในปี 2015 ซึ่งโรงงานแห่งใหม่มูลค่า 644 ล้านดอลลาร์ที่ตั้งอยู่นอกกรุงเทพฯ จะเริ่มเดินเครื่องผลิต
สถานการณ์ในขณะนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากในปี 2001 เมื่อน้ำท่วมใหญ่สร้างความเสียหายนานหลายสัปดาห์จนกลัวกันว่า ผู้ผลิตรถจะทิ้งเมืองไทย
“เราได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ เราคงล้มละลายไปแล้ว แต่จากบริษัทที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เรากลับมาอีกครั้งในฐานะบริษัทที่โตเร็วที่สุด ปัจจุบัน ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในเอเชียของฮอนด้า และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปใน 3-5 ปีนับจากนี้” นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าว
สำหรับโตโยต้านั้น โรงงานประกอบมูลค่า 340 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นโรงงานลำดับที่ 5 ในไทย เริ่มเดินเครื่องในเดือนสิงหาคม อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มกำลังผลิตรถตั้งแต่รถเก๋งจนถึงรถตู้ในไทยให้ได้ปีละ 770,000 คัน
ค่ายรถอันดับ 1 จากญี่ปุ่นที่ว่าจ้างพนักงานในเมืองไทยถึง 13,500 คน และทำยอดขายกว่า 500,000 คันในปีที่แล้ว ตัดสินใจแน่วแน่ในการปักหลักแข่งขันในตลาดนี้
นายเคียวอิจิ ทานาดะ ประธานโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศรักษาส่วนแบ่งตลาดที่ 35-40% พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า ผู้บริโภคไทยจะยังคงซื้อรถใหม่กันปีละ 1.2 ล้านคัน
ขณะเดียวกัน นิสสันเตรียมเปิดโรงงานแห่งที่ 2 ในไทยที่ใช้เงินลงทุน 360 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า ซึ่งจะทำการผลิตรถปีละ 150,000 คัน
การบูมของตลาดรถยนต์ในไทยส่วนหนึ่งนั้นมาจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นยอดขายหลังน้ำท่วม ด้วยการลดภาษีสำหรับผู้ซื้อรถคันแรกราว 1.25 ล้านคันๆ ละไม่เกิน 100,000 บาท
“ปีทอง” ซึ่งหมายถึงปีที่แล้ว ตามมาด้วยสถิติยอดขายสูงสุดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทว่า หลังจากนั้นยอดขายก็เริ่มซบลงเนื่องจากความกังวลกับหนี้ครัวเรือนและการที่แบงก์คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้คำสั่งซื้อภายใต้นโยบายรถคันแรกจำนวนมากถูกยกเลิก
กระนั้น นักวิเคราะห์ยังมองตลาดรถยนต์ไทยว่ามีอนาคตสดใส ด้วยอัตราเติบโตปีละ 10% ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตรถ แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ใช้ถนนของไทยที่เผชิญปัญหาการจราจรติดขัดแสนสาหัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว