เอเอฟพี – แม้การโต้เถียงกรณีวิกฤตซีเรียระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมีแนวโน้มครอบงำการประชุมสุดยอดกลุ่มจี20 ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของแดนหมีขาววันพฤหัสบดี (5 ก.ย.) และวันศุกร์ (6) นี้ แต่ประเด็นที่คาดว่า จะร้อนแรงพอกันหรือดุเดือดยิ่งกว่าคือความขัดแย้งระหว่าง “บริกส์” กลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายยักษ์ใหญ่กับอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องที่ฝ่ายหลังเตรียมยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน
เคซีเนีย ยูเดวา เจ้าหน้าที่รัสเซียที่ดูแลการประชุมซุมมิต จี20 กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือภาวะการเติบโตชะลอตัวในประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั้งหมด ซึ่งที่ประชุมจำเป็นต้องหารือเกี่ยวกับแหล่งที่มาสำหรับการเติบโตระยะยาว
ประเทศในกลุ่มบริกส์ ซึ่งได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กังวลอย่างมากเกี่ยวกับแผนการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่เคยช่วยให้เศรษฐกิจของตนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เงินที่เฟดอัดฉีดที่นักลงทุนพากันผ่องถ่ายต่อไปยังตลาดเกิดใหม่ขณะนี้กำลังทำท่าจะเหือดแห้งลงเมื่อเฟดหันมาเข้มงวดนโยบายการเงิน และส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งฉุดให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนตัวลง
คริส วีเฟอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งมาโคร แอดไวเซอรี บริษัทที่ปรึกษาในมอสโก ชี้ว่าขณะนี้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ฝ่ายหนึ่ง กับธนาคารกลางยุโรป (อียู) และเฟดอีกฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับวิธีชะลอมาตรการกระตุ้นของอเมริกาเพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายในวงกว้าง
วีเฟอร์เสริมว่า ในการประชุมซัมมิตจี20 คราวนี้ มาตรการคิวอีน่าจะเป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงมากกว่าประเด็นซีเรีย เนื่องจากการที่สหรัฐฯ อาจนำการโจมตีทางทหารต่อซีเรียได้ทุกขณะนั้น กำลังส่งผลให้พวกนักลงทุนเร่งถอนเงินทุนออกจากพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
ในบรรดาประเทศบริกส์ทั้ง 5 นั้น รัสเซียโดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยตั้งความหวังว่าจะใช้เวทีซัมมิตจี20 อวดภาวะเศรษฐกิจที่มีพลวัตและเป็นมิตรต่อการลงทุน แต่แม้มอสโกสามารถอวดอ้างสถานะการเป็นหนึ่งในชาติที่มีหนี้สาธารณะต่ำสุดในหมู่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำด้วยกัน แต่อัตราเติบโตที่ชะลอตัวกำลังทำให้ปูตินล้มเหลวในการดึงดูดการลงทุน, ลดการพึ่งพิงการส่งออกน้ำมัน. และต่อสู้กับภาวะเงินทุนไหลออก
การเติบโตในรัสเซียในไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.2% เท่านั้น และนักวิเคราะห์บางคนเตือนว่า แดนหมีขาวอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วังเครมลินก็ได้ลดตัวเลขคาดหมายการเติบโตตลอดปีนี้จาก 2.4% อยู่ที่ 1.8%
ทว่า ประเทศบริกส์ที่กำลังประสบปัญหาเร่งด่วนที่สุด ย่อมจะเป็นอินเดีย ซึ่งค่าเงินรูปีอ่อนลงราว 20% เมื่อเทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตเพียง 4.4% ในไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับจากปี 2009
สำหรับบราซิลที่เมื่อต้นปีมีการประท้วงค่าครองชีพสูงรุนแรงทั่วประเทศนั้น กำลังเผชิญปัญหาค่าเงินตกต่ำสุดเมื่อเทียบดอลลาร์นับจากเดือนธันวาคม 2008
เช่นเดียวกัน จีนที่แม้ยังคงมีอัตราเติบโตน่าอิจฉาในสายตาตะวันตก แต่ไตรมาสที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 7.5% จาก 7.7% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้
ความกังวลเกี่ยวกับประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในขณะนี้ ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาพเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งความสนใจของเศรษฐกิจโลกไปจดจ่ออยู่ที่วิกฤตของเขตยูโรโซน โดยที่ปัจจุบันยูโรโซนกลับเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นและดูเหมือนหลุดพ้นจากภาวะถดถอยแล้ว แม้อัตราความเร็วในการเจริญเติบโตของแต่ละชาติสมาชิกอาจแตกต่างกันอยู่มากก็ตาม
สำหรับประเด็นทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีการหารือในที่ประชุมสุดยอดจี20 คราวนี้ ยังมีดังเช่น ข้อเสนอขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ในการออกกฎใหม่เพื่อปราบปรามการเลี่ยงภาษีของบริษัทขนาดใหญ่และช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งคาดว่าเหล่าผู้นำจะอนุมัติข้อเสนอนี้ แม้ยังต้องหารือกันในรายละเอียดเพิ่มเติมก็ตาม