รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่อาวุโสจีนชี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จำเป็นต้องพิจารณากำหนดเวลาและวิธีการในการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อบรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
คำเตือนจากรัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง จู กวงเย่า และรองผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน อี้ กัง เมื่อวันอังคาร (27) มีขึ้นขณะที่บรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ตั้งแต่บราซิลจนถึงอินโดนีเซีย กำลังเผชิญภาวะเงินทุนไหลออก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของอเมริกาขยับขึ้นนำหน้าการคาดการณ์ที่ว่า เฟดกำลังจะยกเลิกหนึ่งในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั่นก็คือโครงการรับซื้อพันธบัตร ซึ่งได้เคยเป็นตัวผลักดันให้มีสภาพคล่องไหลทะลักออกสู่ตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
จู กล่าวระหว่างบรรยายสรุปก่อนการประชุมสุดยอดของกลุ่ม 20 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20) ที่รัสเซีย วันที่ 5-6 เดือนหน้าว่า จีนยินดีที่เศรษฐกิจอเมริกาส่งสัญญาณแง่บวกบางอย่างและกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้พิมพ์ธนบัตรรายใหญ่ ต้องพิจารณาผลกระทบจากนโยบายการเงินของตนเอง โดยเฉพาะโอกาสและจังหวะในการถอนตัวจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขีด”
ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดการเงินทั่วโลกพากันกังวลว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เอฟโอเอ็มซี) ครั้งต่อไปในวันที่ 17-18 เดือนหน้า เฟดอาจตัดสินใจให้เริ่มลดปริมาณการรับซื้อพันธบัตรรายเดือนลง
จูสำทับว่า แม้เผชิญสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากทั้งในและนอกประเทศ แต่จีนจะคงนโยบายเศรษฐกิจที่ใช้อยู่ขณะนี้ต่อไป และจะไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยคาดหมายว่าแดนมังกรยังคงอยู่บนเส้นทางในการบรรลุเป้าหมายการเติบโต 7.5% ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ในปีนี้
แต่ทั้งนี้ปักกิ่งจะหันไปผลักดันการปรับโครงสร้างแทน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดการกับภาวะกำลังการผลิตล้นเกิน
ทางด้าน อี้เสริมว่า ห้วข้อหารือสำคัญในการประชุมผู้นำจี20 สัปดาห์หน้าจะอยู่ที่วิธีลดผลกระทบภายนอกจากการที่ประเทศพัฒนาแล้วได้เริ่มยกเลิกหรือค่อยๆ ยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทั้งหลาย ซึ่งส่งผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เกิดความผันผวนต่อการไหลเวียนของเงินทุนในหมู่ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเพิ่มความกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนของชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
รองผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนยังกล่าวอีกว่า กองทุนป้องกันวิกฤตสกุลเงินมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ที่ประเทศในกลุ่มบริกส์ อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กำลังหารือกันอยู่นั้น จะก่อตั้งขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยที่จีนจะสมทบ “เงินทุนก้อนใหญ่” แต่คงไม่เกิน 50% ของมูลค่ากองทุน